สัตว์เลี้ยงสุดแปลก เลี้ยงง่าย กินน้อย ไม่ส่งเสียง

เจ้าหอยทาก ที่ใครๆ ต่างมองว่าปกติแล้วเป็นศัตรูพืชคอยกัดกินใบไม้ คอยสร้างความรำคาญใจแก่ผู้รักต้นไม้ทุกคน แทบจะมองไม่ออกเลยว่า หอยทากจะถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้อย่างไร แต่กลับกันนั้นในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ มีความนิยมอย่างมากในการเลี้ยงหอยทาก

คุณโชตินันท์ เสียงประเสริฐกิจ หรือ คุณวา

เพราะเลี้ยงง่าย กินง่าย ให้อาหารไม่มาก ใช้พื้นที่น้อย แต่ต้องยอมรับว่าข้อมูลที่มีในประเทศไทย การเลี้ยงหอยทากสายพันธุ์ต่างๆ มีข้อมูลให้ศึกษาน้อยมาก ส่วนมากจะเลี้ยงเพื่ออุตสาหกรรมสกัดเมือกขาย ผู้ที่สนใจในการเลี้ยงหอยทากจึงจำเป็นต้องไปค้นหาข้อมูลจากสื่อต่างประเทศ

 

ตู้เลี้ยงหอยทากสวยงาม

คุณโชตินันท์ เสียงประเสริฐกิจ หรือ คุณวา ผู้เลี้ยงเพาะพันธุ์และนักสะสมหอยทากสายพันธุ์หายากหลายชนิด คุณโชตินันท์ กล่าวว่า เริ่มแรกเลยก็มีมุมมองที่ไม่ดีกับหอยทากมากนัก เพราะใครๆ ก็อาจมองว่าเป็นสัตว์ที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร และเป็นสัตว์ที่แลดูจะไม่สะอาดสักเท่าไหร่

ไข่หอยทาก

จนกระทั่งวันหนึ่งได้เห็นภาพคนถ่ายคู่กับหอยทากยักษ์ลงบนสื่อต่างประเทศ ทำให้คุณโชตินันท์เกิดมุมมองที่ว่า จริงๆ แล้วหอยทากก็นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ด้วย และมีความน่ารักในแบบของมัน ทำให้เปลี่ยนมุมมองของคุณโชตินันท์กับหอยทากไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะลองจับอยู่ดี แต่พอได้ศึกษาข้อมูลจากสื่อต่างประเทศมากขึ้นก็ทำให้กล้าที่จะลองเปิดใจนำหอยทากมาเลี้ยง

ไข่หอยทาก

โดยสายพันธุ์แรกที่เริ่มนำมาเลี้ยงคือ Punica เป็นสายพันธุ์ที่มีประวัติกล่าวอ้างว่า มีการนำเข้ามาตั้งยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อนำมาเป็นอาหารให้กับทหารที่มารบ แต่บางประวัติก็กล่าวว่า หอยทากสายพันธุ์นี้ติดมากับพืชผลการเกษตรทำให้เกิดการขยายพันธุ์ในไทย

การทดลองเลี้ยงเริ่มแรกทั้งลองผิดและลองถูก เพื่อให้เกิดประสบการณ์ จนกระทั่งสามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้เอง เพาะพันธุ์เองได้ และเลี้ยงหอยทากสายพันธุ์หายากให้อยู่รอดได้ ปัจจุบันภายในฟาร์มมีหอยทากทั้งหมด 21 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์หายากในต่างประเทศ เช่น หอยทากไฟ  เป็นต้น

ลูกหอยทาก

หอยทากไฟ (Fire snail) ถือเป็นหอยทากที่มีความหายากที่สุดในโลก และการเลี้ยงให้รอดชีวิตก็ยากเช่นกัน หอยทากไฟเป็นหอยทากบกพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และเป็นหอยทากที่คาดว่าน่าจะใกล้สูญพันธุ์แล้ว โดยมันถูกค้นพบครั้งแรก เมื่อปี 1938 โดยอาศัยอยู่บนเขาที่ราบสูง ในประเทศมาเลเซีย ไม่มีรายงานว่าพบที่ไหนอื่นอีก เนื่องจากหอยทากไฟสามารถเติบโตได้ในสภาพพื้นที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า หอยทากไฟสามารถอาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเย็นสบายและมีความชื้นสูง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเขตป่าเมฆและป่าที่อยู่สูงพอที่จะก่อตัวเป็นเมฆ (อย่างน้อย 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) หอยทากไฟมีลักษณะลำตัวและเปลือกสีดำสนิท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7 เซนติเมตร และบริเวณส่วนด้านท้องจะมีสีแดงสดแซมขึ้นจนดูคล้ายกับเปลวไฟ จนเป็นที่มาของฉายาหอยทากไฟนั่นเอง

คุณโชตินันท์ เล่าว่า การเลี้ยงหอยทากไฟในประเทศไทยต้องบอกเลยว่าอัตราการรอดต่ำมาก เนื่องจากหอยทากไฟอาศัยอยู่บนเขาสูงที่มีอุณหภูมิ 7-24 องศาเซลเซียส การเลี้ยงจึงต้องจำลองพื้นที่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด

อุปกรณ์ในการเลี้ยงหอยทาก คุณโชตินันท์ใช้เป็นกล่องอเนกประสงค์ที่สามารถพับได้ นำมาเจาะรูด้านบนและติดตะแกรงไนลอนด้านบน เพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดีและป้องกันสัตว์ แมลงอื่นๆ เข้ามาในกล่องเลี้ยง โดยกล่องเลี้ยงจะใช้กล่องที่เป็นสีชา เพราะเนื่องจากหอยทากเป็นสัตว์กลางคืน การที่เลี้ยงในกล่องโปร่งใสมากจนเกินไปอาจส่งผลต่อหอยทากได้

โดยจะใช้ดินสำหรับเลี้ยงหอยทากโดยเฉพาะรองพื้น สาเหตุที่ต้องใช้ดินเฉพาะสำหรับหอยทาก เพราะหอยทากค่อนข้างอ่อนไหวง่ายกับสารเคมี ดังนั้น ดินสำหรับหอยทากจำเป็นต้องปลอดภัยไม่มีปรสิต และควรสังเกตดินรองพื้นอยู่สม่ำเสมอ เพื่อรักษาความชื้นให้พอดี

ลูกหอยทากกินผัก

จากนั้นทำการปล่อยสปริงเทลลงไปในกล่อง เพื่อคอยทำหน้าที่กำจัดเชื้อราและเศษอาหารต่างๆ สปริงเทลไม่ถือเป็นอันตรายต่อหอยทาก แต่ค่อนข้างขยายพันธุ์เร็ว 2-3 สัปดาห์ หากสปริงเทลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สามารถนำดินนี้ออกมาล้างโดยใส่ถุงผ้าและตากแดดให้แห้ง ระหว่างรอดินแห้งก็สามารถใส่ดินใหม่ลงไปได้ ส่วนดินที่ล้างตากแห้งแล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ในกล่องเลี้ยงต้องจัดระบบนิเวศให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด โดยใส่ขอนไม้ มอส เฟิร์น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับพื้นที่เลี้ยง และที่ขาดไม่ได้คือถาดใส่น้ำ พื้นที่เลี้ยงหอยทากจำเป็นต้องให้มีแดดส่องผ่านเข้ามาได้ แต่หากเลี้ยงในพื้นที่ปิดทึบ ก็สามารถใช้ไฟ LED ส่องสว่าง

หอยทากกินน้ำ

อาหาร หอยทากเป็นสัตว์ที่กินอาหารน้อย สามารถให้อาหารวันเว้นวันได้ จะให้อาหารในช่วงค่ำ โดยอาหารของหอยทากจะมีความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ เพราะบางสายพันธุ์ก็ไม่กินพืชผักบางชนิด เช่น ผัก เฟิร์น มอส เห็ด เป็นต้น นำอาหารมาผสมกับผงแคลเซียมกระดองหมึก (ต้องต้มไล่ความเค็มออกก่อนให้หมด)

หากผู้เลี้ยงไม่อยู่บ้าน 3-5 วัน หอยทากก็สามารถอยู่ได้เพียงแค่สเปรย์น้ำลงดินให้ชุ่มเพื่อเพิ่มความชื้น และพื้นที่เลี้ยงมีอากาศที่ถ่ายเทตลอดเวลา ถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดูง่าย กินน้อย และไม่มีเสียงรบกวนอีกด้วย แต่ก็มีข้อควรระวัง เพราะหอยทากเป็นสัตว์ที่แพ้เกลือ ยาฆ่าแมลง และพยาธิ

หอยทากทั้ง 5 สายพันธุ์

การเพาะพันธุ์หอยทาก ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ เพราะแต่ละสายพันธุ์ระยะเวลาของการโตเต็มวัยแตกต่างกัน เช่น หอยทากสายพันธุ์นี้จะโตเต็มวัย เมื่ออายุได้ 5-6 เดือน ผู้เพาะเลี้ยงจะต้องยืดเวลาผสมพันธุ์ออกไปอีก เมื่อหอยทากอายุครบ 9 เดือน จึงจะสามารถผสมพันธุ์ได้ เพราะช่วงโตเต็มวัยหอยทากจะกินอาหารและนำมาเลี้ยงกระดองและตัวของมันเอง

แต่เมื่อหอยทากเกิดการผสมพันธุ์แล้วจะนำสารอาหารทั้งหมดไปบำรุงไข่ที่กำลังจะออก และเมื่อหอยทากผสมพันธุ์แล้วจะหยุดโตทันที

หอยทากพันธุ์หายากที่สุดในโลก (หอยทากไฟ)

เนื่องจากหอยทากเป็นสัตว์ที่มี 2 เพศในตัวเอง ทำให้การผสมพันธุ์คือ การแลกน้ำเชื้อของอีกตัว เมื่อการผสมพันธุ์สิ้นสุดลง อีก 1 เดือน จะทำการออกไข่ ในการผสมพันธุ์ 1 ครั้ง สามารถออกไข่ได้ 2-3 รอบ ในแต่ละตัวจะออกไข่คอกละ 100-200 ใบต่อครั้ง

การเพาะพันธุ์หอยทากให้ได้เลือดนิ่ง มีสีสันตามที่ต้องการแล้ว จำเป็นต้องเพาะพันธุ์ต่อเรื่อยๆ เลือดจะนิ่งเมื่อเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 7 และหอยทากที่มีการพัฒนาสายพันธุ์แล้ว ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับสายพันธุ์เดียวกันได้ เพราะจะเกิดการผสมพันธุ์กันเองและทำให้สายพันธุ์ผิดเพี้ยนไป แต่สามารถเลี้ยงหอยทากรวมกับสายพันธุ์ที่แตกต่างได้

“มือใหม่หรือผู้ที่กำลังสนใจเลี้ยงหอยทากสวยงาม หอยทากแท้จริงแล้วเป็นสัตว์ที่สะอาด กินน้อย เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย ไม่มีเสียงรบกวน แต่อยากให้ศึกษาหาข้อมูลก่อนเลี้ยง ถือเป็นสัตว์เลี้ยงแห่งโลกอนาคตที่จะต้องมาแรงอย่างแน่นอน”

สำหรับท่านใดที่สนใจหอยทากสวยงาม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณโชตินันท์ เสียงประเสริฐกิจ หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก คุณโชตินันท์ เสียงประเสริฐ