ปลาผีเสื้อแอฟริกัน

หนึ่งในปลาน้ำจืดรูปร่างแปลกประหลาดที่ผมชื่นชอบมานานนับสิบปี มันเป็นปลานักล่าขนาดเล็ก โตเต็มที่มีความยาวเพียง 12 ซ.ม. โครงสร้างของมันราวกับจะรวมเอาจุดเด่นของปลาและสัตว์อื่นๆ มารวมเข้าไว้ในร่างเดียว กล่าวคือ มีลำตัวแบนข้างมาก ส่วนหัวใหญ่ ปากกว้างเฉียงลงอย่างปลาอะโรวาน่า ครีบอกแผ่กางขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับลำตัวเหมือนปีกผีเสื้อ มีลวดลายเทาน้ำตาลสลับจุดดำเหมือนสัตว์เลื้อยคลานนักพรางตัว มีเส้นครีบทั้งครีบท้องครีบทวารและครีบหางเป็นริ้วยาวเหมือนปลาสิงโตในทะเล

ในยามปรกติมันจะลอยตัวนิ่งใต้ผิวน้ำท่ามกลางกอพืช แต่ในทันทีที่มันต้องการจะเคลื่อนไหวมันก็อาจกระโจนเผ่นผิวขึ้นเหนือน้ำได้ในพริบตาราวกับจะโบยบิน นักมีนวิทยาศึกษาพฤติกรรมแปลกประหลาดของปลาชนิดนี้อย่างสนใจ และตั้งชื่อพวกมันเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pantodon buchholzi ฉายานามว่า African Butterflyfish หรือ “ปลาผีเสื้อแอฟริกัน”

ปลาผีเสื้อแอฟริกัน แน่นอนว่าต้องมีแหล่งอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ที่ที่มันชอบอยู่จะเป็นลำธารหรือหนองน้ำที่นิ่งสงบ ไหลเอื่อย มีพืชน้ำชูก้านใบหรือลอยระเป็นกลุ่มเป็นแพ ในธรรมชาติอันวิเวกวังเวง พวกมันแฝงตัวกลมกลืนกับกอพืชน้ำโดยลอยตัวนิ่ง พยุงร่างกายของมันด้วยอวัยวะพิเศษคือ กระเพาะลม ที่มีขนาดใหญ่และครีบอกแผ่กางดังปีกผีเสื้อ ทันทีที่มีความเคลื่อนไหวของเหยื่อเช่นแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ประสาทสัมผัสอันเฉียบไวก็ตอบสนองอย่างฉับพลันพร้อมการทำงานของกล้ามเนื้อฐานครีบอกอันแข็งแกร่งทรงพลังพุ่งกระโจนเข้างับเหยื่อเคราะห์ร้ายภายในพริบตา

ปลาผีเสื้อแอฟริกัน ไม่ใช่ปลามีสีสันสวยงาม หากแต่เป็นความแปลกตาด้วยลายดำๆ ด่างๆ เหมือนเดาสุ่มบนพื้นสีเทาอมเงิน ยิ่งถ้ามองด้านบนของตัวปลา สีของหลังจะแบ่งออกเป็นสองซีกซ้ายขวาตรงแน่ว มีสีเข้มข้างหนึ่งและสีอ่อนอีกข้างหนึ่งอย่างน่าอัศจรรย์ แต่หากมองในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้ปลาผีเสื้อแอฟริกันจะเป็นปลานักล่า แต่ก็เป็นปลาขนาดเล็กที่ย่อมต้องเป็นเหยื่อนักล่าอื่นที่มีขนาดใหญ่โตกว่าหากถูกมองเห็นโดยง่าย ธรรมชาติจึงออกแบบร่างกายและลวดลายที่ดูผิวเผินคล้ายซากใบไม้ลอยน้ำ เมื่อมองจากมุมของนักล่าบนฟ้าอย่างนก ลายเส้นแบ่งกลางสันหลังก็อาจดูคล้ายเส้นแบ่งกลางของใบไม้แก่เก่าเปื่อยไม่น่าสนใจ นับเป็นวิวัฒนาการที่ยอดเยี่ยมมากๆ ของพระเจ้าผู้สรรค์สร้างทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้

ความงดงามอย่างธรรมชาติของปลาผีเสื้อแอฟริกันได้รับความสนใจจากนักเลี้ยงปลาสวยงามทั่วทุกมุมโลก ผมรู้จักปลาชนิดนี้จากหนังสือสารานุกรมปลาสวยงาม ที่ชื่อว่า “แอตลาส” มานานราวยี่สิบปีก่อน หลังจากเห็นภาพในหนังสือก็มีโอกาสได้เลี้ยงจริงๆ อีกหลายปีต่อมา ในสมัยนั้นยังนับว่าเป็นปลาราคาค่อนข้างสูง แม้ไม่สูงมากอย่างปลาอะโรวาน่าหรือปลาแฟนซีคาร์พงามๆ แต่ก็อยู่ในระดับหลายร้อยบาทต่อตัว ซึ่งเป็นราคาไม่สะดวกนักสำหรับเด็กๆ แต่ก็ยังกัดฟันซื้อมาจนได้หนึ่งตัว

ผมเคยอ่านบทความว่าด้วยเรื่องของปลาผีเสื้อแอฟริกัน ส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เลี้ยงไม่ยาก แต่ฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปลำบาก ซึ่งผมพบว่า ไม่จริงเลย ในธรรมชาติปลาผีเสื้อแอฟริกันกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เคลื่อนไหวได้เป็นอาหาร ประสาทสัมผัสของมันยอดเยี่ยม ผมทดลองเลี้ยงให้ปลาเชื่องและนิ่ง จากนั้นก็ปาอาหารเม็ดลงไปในน้ำ กะระยะห่างจากปากของปลาผีเสื้อสักนิ้วสองนิ้ว จังหวะที่เม็ดอาหารสัมผัสผิวน้ำปลาก็กระโจนเข้างับในทันที เร็วอย่างน่าอัศจรรย์ ผมทดลองการให้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น โปรยอาหารช้าๆ หรือโปรยห่างจากตัวปลามากๆ ปรากฏว่ามันไม่สน มันอาจมีปฏิกิริยาเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับพุ่งเข้าหาอาหารแบบวิธีแรก

จนในที่สุดผมจึงสรุปเอาเองว่า ด้วยวิธีปาอาหารลงใกล้ปากปลา เป็นการเร้าให้สัญชาตญาณนักล่าที่อาศัยความเร็วทำงาน ร่างกายของมันเคลื่อนไหวแบบไม่ต้องฉุกคิด ผมลองแม้กระทั่งใช้ปลายนิ้วแตะผิวน้ำซึ่งมันก็ตอบสนองด้วยการพุ่งเข้างับตามที่คาดไว้ และเมื่อรู้ว่าสิ่งที่งับไม่ใช่อาหารมันก็รีบผละออกไปอย่างหวาดระแวงทันที

การจำลองธรรมชาติที่ปลาอยู่อาศัยเป็นความจำเป็นเมื่อนำมาเลี้ยงในตู้กระจก ปลาผีเสื้อแอฟริกันมีขนาดเล็ก ไม่ชอบว่ายน้ำไปมา ฉะนั้น การเลี้ยงในตู้ขนาดเล็กจึงไม่มีปัญหา แต่ก็ไม่ควรคับแคบเกินไปนัก เพราะปลาจะรู้สึกเครียด ระบบกรองอาจเป็นกรองพื้นฐานอย่างแผ่นกรองใต้กรวดหรือกรองฟองน้ำเล็กๆ ธรรมดาๆ หลีกเลี่ยงระบบกรองที่ใช้ปั๊มน้ำ สร้างกระแสน้ำแรงๆ ในตู้ควรตกแต่งด้วยขอนไม้และพืชพรรณไม้น้ำที่ไม่ต้องการแสงสว่างจัด เช่น ต้นอะเมซอน ต้นอนูเบียส เฟิร์นรากดำ ฯลฯ หรืออาจมีพืชลอยน้ำจำพวกดอกจอก มาลอยระลดความเครียดให้ปลาในการเลี้ยงช่วงแรกๆ

ปลาผีเสื้อแอฟริกัน มีความสามารถพุ่งกระโจนงับแมลงที่บินมากลางอากาศได้ ซึ่งนั่นก็แน่นอนว่ามันเป็นนักกระโดดตัวยงที่อาจฆ่าตัวตายโดยพุ่งออกจากตู้ได้หากไม่มีฝาปิดป้องกัน ปลาที่ผมเคยเลี้ยงในตู้ไร้ฝาปิด เมื่อถึงช่วงแมลงเม่าบินว่อนกรูมาจากโพรงต้นไม้เข้าหาแสงจากโคมไฟเหนือตู้ ปลาก็ไล่งับกันสนุกสนานเพลิดเพลิน แล้วก็เพลินจนหล่นตุบลงมากับพื้น ทำเอาใจหายใจคว่ำ รีบประคบประหงมเอากลับลงน้ำ เจ้าปลาน้อยก็ทนทายาดลงน้ำได้ก็ว่ายดิ่งลงไปก้นตู้หาที่ซุก สักพักก็กางครีบลอยตัวขึ้นมาไล่จับแมลงเม่าใหม่ ผมนึกโล่งอกแล้วรีบหาฝามาปิดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปลาผีเสื้อแอฟริกัน เป็นนักล่าที่สันโดษ มีนิสัยรักสงบไม่ค่อยยุ่งวุ่นวายกับปลาอื่น สามารถเลี้ยงรวมกับปลาที่ว่ายต่างระดับเช่นกลางน้ำและก้นตู้ได้อย่างไม่มีปัญหา มีข้อแม้ว่าควรเป็นปลาที่ไม่เล็กนักและมีนิสัยไม่ก้าวร้าวหรือชอบไล่ตอดครีบปลาอื่น ตู้ขนาดเล็กคับแคบอาจทำให้มันออกอาการก้าวร้าวใส่ปลาอื่นที่มีระดับการหากินในแบบเดียวกันบ้าง แม้ว่าไม่รุนแรงนัก แต่ในตู้ที่ใหญ่ขึ้นมาอย่างตู้ 36 นิ้ว ผมสามารถเลี้ยงปลาผีเสื้อแอฟริกันหลายตัว ปะปนกับปลาเสือพ่นน้ำได้สบายมาก ปลาก็อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เพียงแต่ควรให้อาหารให้ทั่วถึงหน่อยเป็นพอ

พูดถึงอาหาร นักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่จะนิยมให้อาหารสดจำพวกลูกปลากัดหรือไรทะเล แต่ผมไม่ชอบให้สิ่งมีชีวิตเป็นอาหารปลาที่เลี้ยงจึงหันมาใช้อาหารสำเร็จรูป ซึ่งปลาก็ยอมกินไม่ยากนักหลังจากปล่อยให้อดอยู่สักช่วงเวลาสั้นๆ สองสามวัน อาหารที่ใช้ควรเป็นอาหารสำเร็จรูปที่ออกแบบสำหรับปลากินเนื้อ ไม่ควรใช้อาหารของปลากินพืชอย่างปลาทอง ปลาคาร์พ แน่นอนครับว่าหากปลาที่ยอมรับอาหารเม็ดได้แล้วจะกินไม่เลือก แต่ก็ไม่ดีต่อร่างกายของมัน ปริมาณการให้ก็ไม่ควรจะมากเกินไป หรืออาจให้เพียงเล็กน้อย แบ่งเป็นสักสองสามมื้อต่อวันก็ได้

ปลาผีเสื้อแอฟริกัน ปลารูปร่างแปลกประหลาด กล่าวได้ว่า มันเป็นอีกหนึ่งฟอสซิลมีชีวิตที่คงรูปร่างพฤติกรรมแบบนี้มานานนับร้อยล้านปี พวกมันเก่าแก่กว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ เป็นตำนานเล่าขานถึงระบบนิเวศในยุคดึกดำบรรพ์ ผมอยากให้คนที่ซื้อปลาชนิดนี้มาเลี้ยง อย่ามองมันเป็นแค่ปลาหน้าแปลก แต่ควรมองให้ลึกถึงความโชกโชนของการฟันฝ่าผ่านพ้นยุคสมัยมานานแสนนาน เปรียบได้กับไดโนเสาร์ตัวน้อยที่สมควรจะถูกเลี้ยงดูอย่างให้เกียรติสมศักดิ์ศรี ได้โปรดอย่าเลี้ยงแค่สะใจที่เห็นมันกระโจนกินปลาเหยื่อ หรือเลี้ยงปล่อยปละเมื่อนึกเบื่อพอเลี้ยงไปได้สักพัก ผมว่าปลาชนิดนี้มีคุณค่ามากกว่าจะเป็นเพียงปลาสวยงามธรรมดาๆ และมั่นใจว่าหลายคนเมื่อได้ลองเลี้ยงปลาชนิดนี้อย่างจริงจังต้องเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้