“พระเมรุมาศ” งดงาม ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ

“พระเมรุมาศ” ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวงนั้น เป็นผลงานของ “กรมศิลปากร” ที่ทุ่มเทหัวใจถ่ายทอดความจงรักภักดี ถวายงานก่อสร้างพระเมรุมาศเพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย อย่างงดงาม ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติพระบรมราชอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

แผนผัง “พระเมรุมาศ”

ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลการออกแบบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อธิบายหลักการทำงานว่า ภูมิสถาปนิกจะทำหน้าที่ออกแบบพระเมรุมาศให้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามหลวง จะตั้งตรงไหนก็ได้แล้วแต่ตัวสถาปนิกจะวางแบบแปลน แต่ครั้งนี้ ตั้งใจออกแบบพระเมรุมาศอยู่ตรงแกนกลางให้สัมพันธ์กับ “วัดพระแก้ว วัดมหาธาตุฯ” ซึ่งเป็นโบราณสถาน ในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของกรุงเทพมหานคร

ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร

การเลือกตำแหน่งที่ตั้งของพระจิตกาธาน สำหรับถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ ใช้จุดตัดของเส้นทิศเหนือ-ใต้ ที่ลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ และเส้นทิศตะวันออก-ตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุฯ ซึ่งจุดตัดนี้เป็นที่ตั้งของบุษบกองค์ประธาน หากมองพระเมรุมาศฯ จากกึ่งกลางของทางเข้าด้านทิศเหนือ จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ (เจดีย์ทอง) ของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธานพอดี

การออกแบบภูมิทัศน์พระเมรุมาศในครั้งนี้ ดร. พรธรรม ยึดคติความเชื่อ หลักโบราณราชประเพณี สำหรับเขตราชวัติ ซึ่งเป็นแนวรั้วกำหนดขอบเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย

  1. พระที่นั่งทรงธรรม เป็นพระที่นั่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ประทับทรงธรรมในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุพระบรมศพ และเป็นที่สำหรับคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
  2. พลับพลายก เป็นโถงใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ
  3. ศาลาลูกขุน เป็นสิ่งปลูกสร้างลักษณะโถงทรงไทยชั้นเดียว ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธีสำหรับงานพระบรมศพ
  4. ทับเกษตร เป็นอาคารโถง หลังคาจั่ว ประดับตกแต่งลวดลายไทย สร้างอยู่ตรงมุมทั้งสี่ของมณฑลพิธี ใช้เป็นที่พักสำหรับข้าราชการที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ และร่วมพระราชพิธีสำหรับงานพระบรมศพ
  5. ทิม เป็นที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง เจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ประกอบพิธี สร้างติดแนวรั้วราชวัติทั้ง 4 ทิศ

สรวงสรรค์ในพระเมรุมาศ 

พระเมรุ เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ที่อยู่ใจกลางจักรวาล ประกอบด้วยมหาสมุทรทั้ง 4 อยู่รอบเขาพระสุเมรุ ได้แก่  อุตรกุรุทวีป (ทิศเหนือ) บุพวิเทหะ (ทิศตะวันออก) ชมพูทวีปคือโลกมนุษย์ (ทิศใต้) และอมรโคยาน (ทิศตะวันตก)

ในอดีต ดร. พรธรรม เคยออกแบบ พื้นที่รอบฐานพระเมรุมาศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในลักษณะป่าหิมพานต์ โดยประดับตกแต่งสวนด้วยไม้ดอกที่สวยงาม เขามอจำลอง  ประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า ฯลฯ

แต่ครั้งนี้ ดร. พรธรรม ออกแบบให้เป็น “สระอโนดาต” ซึ่งเป็นสระน้ำในป่าหิมพานต์ อยู่รอบฐานพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยเรื่องเกี่ยวกับน้ำเป็นพิเศษ โครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับน้ำทั้งสิ้น ดร. พรธรรม จึงเลือกใช้ “น้ำ” เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบฐานพระเมรุมาศในครั้งนี้

ดร. พรธรรม เล่าว่า พื้นสระอโนดาตประดับด้วยหินกรวดสีน้ำเงินเขียวขัดมัน ผสมกับหินเกล็ดแก้ว มีระบบน้ำล้นทำให้เกิดระลอกคลื่นน้ำที่สวยงาม ภายในสระอโนดาตประดับตกแต่งด้วยเขามอ สัตว์หิมพานต์ และไม้ดัดกระบวนไทยหลายรูปแบบ เช่น ไม้ตลกราก ไม้ฉาก ไม้หกเหียน ไม้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไม้ดัดกระบวนไทยโบราณที่หายากจากวัดคลองเตยใน และเสริมแต่งด้วยพรรณไม้น้ำที่มีดอกสีเหลือง เช่น ลานไพลิน ว่านน้ำ ฯลฯ พร้อมติดตั้งเครื่องพ่นละอองหมอกน้ำบริเวณสระอโนดาต เสริมบรรยากาศประหนึ่งว่า พระเมรุมาศลอยอยู่เหนือมวลเมฆ

ดร. พรธรรม ออกแบบก่อสร้างสระน้ำ 4 แห่ง รอบลานพระเมรุมาศสำหรับปลูกบัวไทยหลายชนิด เนื่องจาก ดอกบัว สื่อความหมายทางปัญญาและความบริสุทธิ์ทางพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ พื้นคอนกรีตบล็อกที่ปูรอบฐานพระเมรุมาศ ถูกออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ โดยผสมเกล็ดแก้ว ยามต้องแสงไฟจะสะท้อนแสงระยิบระยับรอบองค์พระเมรุมาศ เสมือนมีดาวกะพริบแสงพราวอยู่บนสรวงสวรรค์

แผนผังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

สวนของพ่อ “กษัตริย์เกษตร”

พื้นที่ด้านนอก รั้วราชวัติด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของพระเมรุมาศ “น้ำ” ถูกใช้เป็นสื่อ สะท้อนพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้อยู่ดีกินดี เช่น ฝายน้ำล้น การขุดบ่อแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนานำกังหันมาใช้ในบริเวณบ่อน้ำ จำนวน 2 ตัว

นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดหาพันธุ์หญ้าแฝกมาปลูกในพื้นที่ และปลูกพันธุ์พืชในโครงการพระราชดำริ เช่น ต้นยางนา (ไบโอดีเซล) มะม่วงมหาชนก และออกแบบเชิงสัญลักษณ์ ให้เห็นคันนาเลข ๙ ทำจากดินชนิดพิเศษสีทอง สื่อความหมายว่า พระเมรุมาศที่สร้างขึ้น ถวายให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9

ภาพ 3 มิติ ภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ

ด้านกรมการข้าว รับหน้าที่จัดหาพันธุ์ข้าวประกอบด้วย พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในระยะแตกกอ พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ในระยะกล้า และพันธุ์ข้าวปทุมธานี 80 ในระยะออกรวง มาปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ บริเวณคันนาเลข ๙บริเวณทางเข้ามณฑลพิธี ด้านทิศเหนือ เพื่อแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้ประชาชนไทยได้เรียนรู้

นิทรรศการ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์”

ภายหลังเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิง ทางสำนักพระราชวังจะเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมในเขตมณฑลพิธี โดยกรมศิลปากรรับหน้าที่จัดการนิทรรศการ ภายใต้ชื่อ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” ซึ่งจัดขึ้นภายในอาคารพระที่นั่งทรงธรรม แบ่งเป็น 5 โซน ได้แก่

  1. เมื่อเสด็จอวตาร
  2. รัชกาลที่ร่มเย็น
  3. เพ็ญพระราชธรรม
  4. นำพระราชไมตรี
  5. พระจักรีนิวัตฟ้า

บริเวณพระที่นั่งทรงธรรมจะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ส่วนศาลาลูกขุน นำเสนอนิทรรศการเรื่องการจัดสร้างพระเมรุมาศ การปั้นเทวดาและสัตว์ป่าหิมพานต์ การซ่อมราชรถ การจัดสร้างพระโกศจันทน์และพระโกศพระบรมอัฐิ และศาลาทับเกษตร จัดแสดงพระเมรุมาศจำลองให้คนตาบอดได้สัมผัส

นิทรรศการ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” กำหนดเวลาให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการ ตั้งแต่ วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 เวลา 07.00-21.00 น. โดยแบ่งผู้เข้าชม เป็น 4 กลุ่มคือ ประชาชนทั่วไป ผู้พิการ นักท่องเที่ยวและพระสงฆ์ จะมีอาสาสมัครนำชมนิทรรศการ พร้อมทั้งจัดมหรสพบรรเลงเพลงปี่พาทย์ที่ใช้ในพระราชพิธี ให้ประชาชนได้มีโอกาสรับชมรับฟังตลอด 1 เดือนเต็ม สำหรับการเข้าชมนิทรรศการ กำหนดจุดคัดกรองผู้เข้าชมนิทรรศการ 3 จุด ได้แก่ แม่พระธรณีบีบมวยผม หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และท่าช้าง จากนั้นจะมีจุดพักคอยเข้าชมพระเมรุมาศและนิทรรศการบริเวณด้านในสนามหลวง ทิศเหนือ

ดร. พรธรรม ธรรมวิมล กับทีมนักวิชาการ ที่ปรึกษาด้านการเกษตร