จันทน์หอม ไม้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระโกศจันทน์

จันทน์หอม มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า จันทน์ชะมด และมีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกว่า จันทน์ขาว จันทน์พม่า และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei J. R. Drumm. ex Prain เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ Malvaceae ประเภทไม้ต้นที่มีความสูงได้ถึง 20 เมตร หูใบรูปใบหอกยาว 5-7 เซนติเมตร ร่วงเร็ว ใบเรียงเวียน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานยาว 8-14 เซนติเมตร โคนเว้าตื้นเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยเล็กน้อย เส้นโคนใบข้างละ 1-2 เส้น ก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกแยกแขนงยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงแยกด้านเดียว รูปขอบขนานยาวเท่าๆ กลีบดอก ดอกมีสีขาว 5 กลีบ เป็นรูปใบหอกกลับยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 10 อัน เชื่อมกันเป็นเส้าเกสร ล้อมรอบรังไข่ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 5 อัน ติดระหว่างเกสรเพศผู้และรังไข่คาร์เพล 5 อัน แยกกันมีขน ก้านเกสรเพศเมียโค้งออก ยอดเกสรเรียวเป็นตุ่ม ผลมีปีกเดียวเมื่อแห้งแล้วไม่แตก มีลักษณะเป็นทรงรียาว 1-1.5 เซนติเมตร ปีกยาว 2.5-3 เซนติเมตร ปลายปีกมน

ไม้ชนิดนี้พบที่อินเดียและพม่า ส่วนในไทยนั้นพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี และภาคใต้ที่จังหวัดพระนครศรีธรรมราช ขึ้นตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งที่เป็นหินปูนที่ความสูง 100-650 เมตร แก่นมีน้ำมันหอมระเหย ใช้สร้างพระโกศใช้ในงานพระราชพิธี (เอกสารอ้างอิง : Phengklai, C. (2001). Sterculiaceae. In Flora of Thailand Vol. 7(3): 590.)

ลำต้นของไม้จันทน์หอม

Herbarium News ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 ให้ข้อมูลว่า ไม้จันทน์หอม จะนำมาจัดสร้างพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ดอกไม้จันทน์ และเชื้อเพลง (ฟืน) ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีที่สืบต่อกันมา ซึ่งไม้จันทน์หอมเนื้อไม้มีสีน้ำตาลเข้ม เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด แข็ง เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองตามธรรมชาติจะมีกลิ่นหอม ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง และแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดชิ้นไม้ใช้ปรุงเครื่องหอมและเครื่องสำอาง เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไขแก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลีย

ในการจัดเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีการคัดเลือกไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายตามธรรมชาติ (ตายพราย) มาจากป่าในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งไม้จันทน์หอมคุณภาพดี ในอดีตเคยมีการนำไม้จันทน์หอมมาใช้งานพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อคราวงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมถึงงานพระราชทานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ดร.พงษ์ศักดิ์ พลเสนา หัวหน้าสำนักงานหอพรรณไม้

ดร.พงษ์ศักดิ์ พลเสนา หัวหน้าสำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ที่มีใช้กันมาอย่างยาวนานในราชวงศ์ชั้นสูง จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งไม้จันทน์หอมเป็นไม้ที่พบอยู่ในอุษาคเนย์เท่านั้น ซึ่งในไทยเองก็มีการศึกษาพฤกษศาสตร์ของไม้ชนิดนี้มานาน ซึ่งภายในหอพรรณไม้จะมีการเก็บตัวอย่างของพรรณไม้หลากหลายสายพันธุ์ในที่ต่างๆ รวมทั้งจันทน์หอมเพื่อมาเก็บเป็นข้อมูลไว้ภายในสำนักงานหอพรรณไม้ด้วย

“ต้นจันทน์หอม เป็นไม้ที่ใช้เวลาเจริญเติบโตค่อนข้างนาน ซึ่งจากที่ผมศึกษามา ไม้ที่โตเองตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลาน่าจะประมาณ 50 ปีขึ้นไปถึงจะออกแก่นได้ เพราะเมื่อมีเนื้อไม้แล้ว จะเป็นเนื้อไม้ที่แกร่งมาก ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพส่วนใหญ่ก็จะมีอายุ 100 ปีขึ้นไปแทบทั้งนั้น โดยเป็นไม้ที่เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ” ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ซึ่งไม้จันทน์หอมที่มีอยู่ในแหล่งป่าดิบชื้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลว่า ในแต่ละพื้นที่นั้นมีไม้ในระยะการเจริญเติบโตเท่าไรบ้าง เมื่อมีงานเกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ ก็จะทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าสามารถไปหาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายได้จากที่ไหน บริเวณใดได้อย่างแม่นยำ

การลงพื้นที่สำรวจ

“หลังๆ มานี่ ไม้จันทน์หอมก็ได้มีการปลูกเพิ่มมากขึ้น โดยได้มีคณะผู้วิจัยเป็นผู้เก็บข้อมูลว่า จะต้องทำการปลูกให้มีระยะห่างเท่าไร ปลูกอย่างไร ไม้จึงจะเจริญเติบโตดี ซึ่งเรื่องนี้เราก็ได้มีการทำวิจัยกัน และอีกส่วนหนึ่งก็ได้มีการขยายพันธุ์ เพราะไม้ชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย ไม่ต้องถึงขั้นนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อย่างที่เขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ช่วงฤดูฝนก็จะมีต้นกล้าที่งอกออกมาตามซอกหิน ตามเขาหินปูน ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ว่ามันขยายพันธุ์ได้ง่าย ก็จะไปเก็บเมล็ดพันธุ์ของไม้จันทน์หอมมา มาเพาะให้งอกและดูแลต้นกล้าให้แข็งแรง มอบให้กับผู้ที่สนใจอยากจะนำไปปลูกในพื้นที่ที่เป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป เช่น วัดหรือพื้นที่ป่า เพื่อเป็นสิ่งทดแทนในพื้นที่ที่ถูกบุกรุก” ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ดร.พงษ์ศักดิ์ บอกอีกด้วยว่า ไม้จันทน์หอมยังถือว่าเป็นไม้ที่ยังไม่ได้รับความนิยม จึงยังไม่ใช่ไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่มีปัญหาในเรื่องของการถูกขโมย เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าจะใช้เกี่ยวกับเรื่องงานศพเท่านั้น จึงยังไม่ได้มีการนำมาใช้ในวงกว้างมากนัก แต่ถ้าในอนาคตข้างหน้ามีการปลูกมากขึ้น ถ้านำมาใช้อย่างอื่นเพื่อเพิ่มมูลค่า อย่างเช่น การแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ตลับแป้ง ข้าวของเครื่องใช้ ก็สามารถทดแทนกับไม้ชนิดอื่นได้ เพราะไม้จันทน์หอมจะมีเนื้อไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่ต่างจากไม้ชนิดอื่นที่ต้องมีเทคนิคในการทำให้หอม

ตัวอย่างจันทน์หอมที่เก็บไว้เป็นตัวอย่าง

ซึ่งไม้จันทน์หอมเมื่อนำออกมาปลูกนอกผืนป่า การเจริญเติบโตจะดีกว่าการอยู่ตามเชิงเขา เพราะได้รับการดูแลดีกว่า โดยเฉพาะอยู่กันอย่างหนาแน่นและได้รับสารอาหารจากในดินที่ดีกว่าอยู่ในผืนป่า โดยเฉพาะเรื่องการรับแสง

สำหรับผู้ที่สนใจอยากได้กล้าไม้จันทน์หอมเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ที่เป็นสาธารณประโยชน์ สามารถติดต่อขอรับได้ที่ สวนพฤกษศาสตร์เขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งก็จะเป็นการช่วยให้ไม้จันทน์หอมมีจำนวนที่มากขึ้น

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ (02) 561-0777 ต่อ 1471 ในเวลาราชการ