พฤกษาประวัติศาสตร์ น้อม…รอบพระเมรุมาศ ถวายพระองค์

กาพย์ยานี 11

     พระเอยพระยอดฟ้า                 ร่มเกล้าประชาพระอาทร

ไร่นาป่าสิงขร                              มิย่อหย่อนพระเยี่ยมเยือน

     ระยะรัชสมัย                          นานเพียงใดปีวันเดือน

ทรงห่วงปวงชนเสมือน                  ปิตุเรศประเทศเย็น

     โรคาพยาธิร้าย                        แพทย์หลวงหมายคลายลำเค็ญ

ราชกิจพิสิฐเห็น                           ดับเข็ญสร้างสุขสว่างผล

     รอยบาทพระยาตรย่ำ               ทุกก้าวนำสุขปวงชน

คุณค่าความเป็นคน                      พระจอมกมลเอื้ออำนวย

     ราษฎร์พ้นอนธกาล                 พระราชทานสุขรื่นรวย

แหล่งหล้าฟ้าดินสวย                    ชาติงามด้วยเดโชชาญ

     วิริยะพระภูวนาถ                     ประชาราษฎร์ร่มสมภาร

อริราชประลาตลาญ                     พระปรีชาญาณเลิศพรรณณราย

     บุญญาบารมีอะคร้าว               ทุกแดนด้าวลือขจาย

ทวยราษฎร์ภักดีถวาย                   ทอดชีพใต้บาทบงสุ์

 

ส่วนหนึ่ง จากบทเห่เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลสมัย รัชมงคลภิเษก ทรงดำรงสิริราชสมบัติ เป็นเวลา 42 ปี 23 วัน ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ประพันธ์โดย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ รองอธิบดีกรมศิลปากร (ขณะนั้น) เป็นบทที่ 2 ในหนังสือ ทวิสมโภชน์ วโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา-มหารัชมงคลสมัย ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2533

จากวันนั้น บ่ายพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ถึงวันนี้ แม้ว่าไม่มีพระองค์ประทับหรือเสด็จพระราชดำเนิน เสด็จด้าวแดนดังก่อน แต่จากบทกลอนกาพย์ยานีที่ว่า “ไร่นาป่าสิงขร มิย่อหย่อนพระเยี่ยมเยือน” ก็มีผลพวงจากที่ “รอยบาทพระยาตรย่ำ ทุกก้าวนำสุขปวงชน” ก็สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ มวลพสกนิกรไม่อยากให้มีวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ไม่ว่าจะเป็นวันไหน ที่จะต้องเหลือเพียงพระบรมอัฐิ หรือพระบรมราชสรีรางคารภายในพระเมรุมาศ แต่ก็มิอาจฝืนกำหนดตามพระราชประเพณี วันสุดท้ายที่เหล่าพสกนิกรได้ส่งเสด็จถวายอาลัยพระองค์สู่สวรรคาลัย ด้วยภาพสุดท้ายผ่านสายตาที่ทุกคนอยากให้เป็นแค่ความฝัน ไม่ใช่ความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหนือพระแท่น ณ พระเมรุมาศ

พระเมรุมาศ คือสถาปัตยกรรมชั่วคราว เฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมือง เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ มีลักษณะเป็น “กุฎาคาร หรือ เรือนยอด” คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่า สวรรคต ภายในพระเมรุมาศ มี “พระเมรุทอง” ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอน บางส่วนจะนำไปถวายวัดเพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

การก่อสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ท้องสนามหลวง นอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้าง งานศิลปกรรมอย่างละเอียดวิจิตรแล้ว ก็ยังมีต้นไม้ดอกและไม้สำหรับการประดับโดยรอบพื้นที่ของพระเมรุมาศ ซึ่งดอกไม้ที่จะนำมาตกแต่งพระเมรุมาศ จะเน้นพรรณไม้ดอกในโทน 3 สี สีเหลือง เป็นสีประจำพระชนมวาร สีขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์ ความดีงาม และสีเขียว หมายถึงความเป็นธรรมชาติ ภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือและทิศใต้ สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 นำพืชพันธุ์และเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัติ นำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัติวางพรรณไม้ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณ และพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ

งานภูมิสถาปัตยกรรมแปลงนาข้าวประกอบพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง มีการปลูกต้นมะม่วงมหาชนก และหญ้าแฝก ลงในพื้นที่ การจัดแสดงแปลงนาข้าว มีขอบคันนาเป็นเลข ๙ และได้นำต้นไม้ยืนต้นที่เกี่ยวข้องกับในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมทั้งมีต้นยางนา ต้นไม้ใบสีทอง ต้นแก้ว ต้นแก้วแคระ ต้นหน้าวัว ดอกดาวเรือง ข่อยช่อ บอนไซ ต้นไทรเกาหลีแท่ง ต้นเข็มเชียงใหม่ กล้วยไม้ดิน บัวสีเหลือง และสีขาว รวมทั้งต้นหน้าวัวใบเหลือง หรือ “King of Kings” รวมการเตรียมพรรณไม้รอบพระเมรุมาศ กว่า 2 แสนต้น ที่ใช้ประดับ

มีแปลงนาข้าวประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดภูมิสถาปัตย์แปลงนาข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 58,000 กระถาง หน้าพระเมรุมาศ ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2560 และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2560 ทั้งสองฉบับได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดภูมิสถาปัตย์ พอจะสรุปได้ว่า กรมการข้าว ร่วมกับกรมศิลปากร น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ดำเนินการเรื่องแปลงนาข้าวในบริเวณพระเมรุมาศ ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกข้าว 58,000 กระถาง แบ่งเป็น 3 ระยะ ช่วงเป็นต้นกล้าแตกกอ และออกรวง ลดหลั่นไล่ระดับเพื่อความสวยงาม ภายในคันนารูปเลข ๙ ไทย โดยการจัดภูมิสถาปัตยกรรมแปลงนาข้าวประกอบพระเมรุมาศ จะมีข้าวระยะแตกกอ มีจำนวน 3 ต้น ต่อกระถาง เพื่อให้กอดูแน่นขึ้น ขณะที่ข้าวออกรวงความสูงจนถึงระดับยอดข้าว ประมาณ 1-1.20 เมตร ปลูกในพื้นที่หลังสุด ถ้าต้นข้าวอยู่ในระดับต่ำเกินไป คันนารูปเลข๙ จะบดบังลำต้นและรวงข้าว

นาข้าวในบริเวณมณฑลพระเมรุมาศครั้งนี้ ถือเป็นแปลงนานอกสถานที่ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมา โดยมีการเตรียมปลูกสำรองไว้ถึง 3 ชุด พร้อมที่จะเปลี่ยนทันทีหากพบความเสียหาย จากระดับความสูงของต้นข้าว 3 ระยะนี้ จะไล่เรียงลงมาด้านหน้าสุดเป็นข้าวระยะต้นกล้า สำหรับคันนารูปเลข ๙ นั้น ภูมิสถาปนิกได้ให้ผู้ดำเนินการจัดเตรียมฝังระบบท่อน้ำให้สามารถเชื่อมโยงกัน เพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้ไหลลงมาที่แก้มลิงด้านล่าง และยังมีโครงสร้างรองรับฝายน้ำล้น ที่มี 2 ระดับ ซึ่งจะลงมาขังที่แก้มลิง ขณะที่มูลนิธิชัยพัฒนา เข้ามาดูตำแหน่งการติดตั้งกังหันชัยพัฒนาเครื่องเติมอากาศ ส่วน “สวนนงนุช” ก็จัดเตรียมต้นไม้ตกแต่งภูมิทัศน์พระเมรุมาศเพื่อลงต้นไม้ใหญ่อย่างต้นตะโก รวมทั้งไม้พุ่ม ไม้ดอก ตกแต่งเต็มพื้นที่

การเตรียมต้นข้าวในระยะต่างๆ นี้ กรมการข้าวได้เตรียมระยะข้าวออกรวง ซึ่งปลูกไว้ที่ศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง ปทุมธานี พร้อมลงกระถาง ส่วนข้าวระยะแตกกอ ก็ปลูกประมาณวันที่ 20 สิงหาคม สำหรับข้าวระยะต้นกล้าปลูกต้นเดือนกันยายน การนำมาลงในพื้นที่ก็จะต้องปรับระดับพื้นนาให้เป็นไปตามแบบ และข้าว 3 ระยะ ทุกแปลงก็จะต้องไม่บดบังคันนารูปเลข ๙ เมื่อมองในมุมสูงจะต้องมองเห็นชัดเจน มีสิ่งสำคัญต่อเนื่องเรื่องการจัดนิทรรศการภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ผ่านงานภูมิทัศน์อีกด้วย โดยจะต้องดูแลรักษาแปลงนาข้าวไว้อีก 1 เดือน เพื่อให้ประชาชนเข้าชม ในเบื้องต้นจะเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวพระราชทานชาวนาไทย ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับข้าว อาทิ การทำขวัญข้าว และอาจจะมีการสาธิตเกี่ยวข้าวโดยใช้พื้นที่ตรงนี้เรียนรู้และต่อยอดวัฒนธรรมด้านเกษตรกรรมของไทยด้วย เชื่อว่าในช่วงนั้นเราคงจะได้เห็นรวงข้าวที่ “น้อม” รวงรำลึกสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ได้นำเสนอข่าวการจัดไม้ประดับรอบพระเมรุมาศ โดย “สวนนงนุช” ซึ่งได้รับเกียรติการเข้าประดับพระเมรุมาศ โดยการจัดไม้ดอกไม้ประดับในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งทางสวนนงนุชได้เตรียมดอกดาวเรืองและพรรณไม้อื่นๆ สีเหลือง สีประจำรัชกาลที่ 9 รวมกว่า 2 แสนต้น ในจำนวนนี้เป็นต้นดาวเรืองกว่าแสนต้นเป็นหลัก เพราะสามารถสื่อให้คนไทยและต่างชาติเห็นถึงความจงรักภักดีของคนไทยได้ชัดเจน ส่วนต้นไม้ใหญ่ก็เน้นชนิดเดียวกับที่อยู่ในสำนักพระราชวัง เช่น ต้นตะโก ต้นแก้ว ต้นข่อย

นายกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุช ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจสูงสุดที่ได้ถวายงานครั้งนี้ ซึ่งจะต้องมีความพิเศษและพิถีพิถันที่สุด โดยออกแบบเน้นความสง่างามและสมพระเกียรติสูงสุด ขณะที่ยึดหลักของพระองค์ท่าน คือ แบบเศรษฐกิจพอเพียง ทีมงานที่เข้ามาดำเนินงานจัดประดับพระเมรุมาศ ส่วนใหญ่เป็นทีมงานของสวนนงนุชพัทยาเอง ซึ่งผ่านประสบการณ์ทำงานลักษณะนี้มาแล้ว รวมทั้งทีมงานที่ได้ไปร่วมการจัดประกวดพืชสวนโลกในงานเชลซี ฟลาวเวอร์โชว์ที่ประเทศอังกฤษ จะมีสิ่งที่น่าห่วงอยู่บ้างก็เรื่องของลมฟ้าอากาศ หากมีฝนตก ลมพัดรุนแรงอาจทำความเสียหายได้ จึงมีปลูกสำรองไว้ 2 แห่ง คือ ที่กรุงเทพฯ 1 แสนต้น และที่สวนนงนุช 1 แสนตัน

สวนนงนุชนำต้นไม้ใหญ่เข้าก่อนวันที่ 15 สิงหาคม สำหรับต้นดาวเรืองเริ่มปลูกก่อนงานพระราชพิธี 2 เดือน เพื่อดอกจะบานเหลืองสะพรั่งในช่วงงานพระราชพิธีพอดี และจะเป็นหน่วยงานสุดท้ายที่จะเข้าไปตกแต่งสถานที่ให้เกิดความงดงามที่สุด สำหรับต้นตะโกที่นำมาใช้ในงานพระราชพิธี เนื่องจากต้นตะโกเป็นต้นไม้มงคลพันธุ์ไทยแท้ สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนทานได้ทุกสภาพอากาศ จึงทำให้ต้นตะโกถูกยกขึ้นมาเป็นพรรณไม้หลักที่ใช้ประดับพระเมรุมาศ เพื่อเสริมให้พระเมรุมาศสง่างามมากที่สุด และสื่อถึงแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง สมบัติอันล้ำค่าที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้กับคนไทย

ต้นตะโก มีชื่อเรียกในท้องถิ่นหลากหลาย ได้แก่ ตะโกนา นมงัว มะโก โก ตองโก พญาช้างดำ มะถ่านไฟผี ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Ebony ลักษณะต้นเป็นทรงพุ่ม สูงได้ถึง 15 เมตร ขึ้นตามป่าเขาทั่วไป ลำต้นสีดำ มีเปลือกหนา ออกดอกเป็นช่อตามก้านใบ มีผลกลมติดขนสีน้ำตาลแดง ด้านในมียางมาก รสชาติออกฝาด มีทั้งพันธุ์ตะโกนา และตะโกสวน มีข้อมูลสรรพคุณทางเภสัชวิทยามากมาย ใช้เป็นไม้มงคลประดับพระเมรุมาศ สัญลักษณ์แทนความพอเพียง

มีการจัดงาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2560 พืชกินได้ ไม้ขายดี” เมื่อวันที่ 7-10 กันยายน 2560 ณ ชั้น 3 สกายฮอล์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยจัดฉลอง “30 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน” มีกิจกรรมส่งเสริมความรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ยุค 4.0 เกิดความหวังมั่นคงในอนาคต มุ่งมั่นงานเกษตรยุคปัจจุบัน พร้อมทั้งคนรุ่นเก่าก็มีโอกาสพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ของตนให้ดีขึ้น ในกิจกรรมงานนี้ก็ได้รับเกียรติจาก “สวนนงนุช พัทยา” ร่วมจัดนิทรรศการนำพันธุ์ไม้แปลก พันธุ์ไม้หายาก ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาให้ผู้เข้าชมงานได้ชมอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังได้เชิญไม้ที่ใช้ประดับบริเวณพระเมรุมาศมาแสดงด้วย เช่น ต้นชะแมบทอง และต้น King of Kings หรือหน้าวัวใบเหลือง ซึ่งเป็นที่ชื่นชมและได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมในงานเกษตรมหัศจรรย์ 2560 ครั้งนี้อย่างยิ่ง สมดังที่สวนนงนุชเป็นเจ้าของรางวัล Gold Medal การจัดสวนระดับโลก Chelsea Flower Show ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึง 6 ปีซ้อน ดังนั้น เหล่าพรรณพฤกษาต่างๆ ที่มีโอกาสได้อยู่ใกล้รอบพระเมรุมาศ ก็คงจะสดชื่นภาคภูมิ แม้จะแฝงความโศกเศร้าอาลัยส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยทุกดอกใบ

เหล่ามวลพฤกษารอบพระเมรุมาศ ขอน้อม…อาดูรสีสันสดใส และกลิ่นหอมทั้งดอก ใบ ถวายความอาลัยแด่พระองค์ ตามสู่แดนสรวงเทวาลัยตราบนิรันดร์

 

เพลง รักในดวงใจนิรันดร์

คำร้อง ชนกพร พัวพัฒนกุล

ทำนอง/เรียบเรียง/ขับร้อง อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์

ศิลปินชมรมดนตรีสากล CU.BAND

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แว่ว เสียงราษฎร์ร่ำไห้ ในยามค่ำ          สายฝน พรำ แผ่นดินของเราผอง

เมื่อ อาทิตย์อับแสง ลาน้ำตานอง                   สายลม ต้อง แสงเทียนดับลับชั่วกาล

ศุกร์สัญลักษณ์ บังคมลา มหามงคล       โอ้ค่ำแล้ว ในกลมสิ้นคำหวาน

คืนไร้เดือน ลมหนาว นั้นยาวนาน                   กว่าจะผ่านห้วงเวลา ชะตาชีวิต

เมื่อโสมส่อง เตือนใจ ให้ยั้งอยู่             หักอาลัย ยิ้มสู้ ประกอบกิจ

เพื่อ ความฝันอันสูงสุด จักอุทิศ            หวังตามรอยบาทบพิตรด้วยใจภักดี

ผ่าน ยามเย็น เห็น แสงเดือน ที่เคลื่อนคล้อย     เราสู้ คอยอดทนให้ชนประจักษ์

ทำความดีด้วย ดวงใจกับความรัก          เพื่อทรงพักไกลกังวล ที่บนฟ้า

เจ้าแก้วตาขวัญใจ อย่าไห้หวน             จงช่วยชวนกัน ฝัน ถึงวันหน้า

ใกล้รุ่งแล้ว ประเทศไทยในน้ำตา          พระราชาสถิต ในดวงใจนิรันดร์

รัก นี้จะอยู่ในดวงใจนิรันดร์

 

บทเพลงถ่ายทอดอารมณ์ซาบซึ้ง ถวายความอาลัย โดยอัญเชิญชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ 28 บทเพลงมาร้อยเรียงด้วย “รัก ในดวงใจนิรันดร์” หากใครได้ยินแล้ว มีน้ำอุ่นๆ เอ่อล้นดวงตาออกมา ก็ไม่มีอะไรที่น่าจะสงสัย เพราะหัวใจของเราจะล่องลอยตามอารมณ์ท่วงทำนองด้วยความจงรักภักดี

กราบถวายบังคมส่งเสด็จด้วยพฤกษาหลากหลายรายล้อม “น้อม” พริ้วไหวรอบพระเมรุมาศ ดังทำนองของบทเพลง “รัก…ในดวงใจนิรันดร์” ด้วยรักภักดีอาลัยที่จะสถิตใน…ดวงใจนิรันดร…ตราบเท่าที่ลมหายใจมิสูญสิ้น