วิทยาลัยสารพัดช่างตราดคว้ารางวัลระดับโลก

@ แกะสลักหิมะ ที่เมืองฮาร์บิน ประเทศจีน

งาน 11th International Collegiate Snow Sculpture Contest (2019) ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 11 ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 4-7 มกราคม ที่ผ่านมานี้ วิทยาลัยสารพัดช่างตราด สามารถคว้า 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ Top Grade Awards ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของการแข่งขันรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม Best Creative Awards

และรางวัลศิลปะ Artist Award ในชื่อผลงาน “ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง” (RescueMisson Rivets Thamluang caves in Chiangrai Thailand) เป็นการคว้ารางวัลของสถานศึกษาและนักศึกษาอาชีวศึกษาของไทยติดต่อกันมาเป็นสมัยที่ 10 สร้างความภูมิใจให้กับกรมอาชีวศึกษาหน่วยงานที่ดูแลและพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา การศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานทำมากขึ้น

ดร.ประดิษฐ์ ฮกทา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างตราด กล่าวถึงที่มาของการแข่งขันแกะสลักหิมะว่า ส่วนสำคัญเป็นผลพวงจากการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสั้น หรือ Eto E (Education to Employment : Vocational Boot Camp : E to E) ที่จัดหลักสูตรระยะสั้น 75 ชั่วโมงเรียนเสริมข้ามสาขาวิชาเพื่อให้นักศึกษาที่ต้องการพัฒนาความรู้ที่หลากหลายและสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการหางานทำหรือต้องการเพิ่มรายได้

นักศึกษาที่เข้าแข่งขันครั้งนี้อยู่ชั้น ปวช. 3 คน ปวส. 1 คน ได้เรียนหลักสูตร Eto E วิชาแกะสลัก และได้วิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแกะสลักหิมะโดยตรงมาเป็นผู้สอน ฝึกทักษะเตรียมความพร้อมและเป็นโค้ชคณะนักเรียนไปแข่งขันในครั้งนี้ด้วย เพราะเรายังไม่ได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นและยังไม่มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาสอน

ดร.ประดิษฐ์ (กลาง) อาจารย์เกริกไกร (ขวาสุด) อาจารย์รุ่งนภา (ซ้ายสุด) ทีมนักศึกษาที่เข้าแข่งขัน

“สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ส่งนักศึกษาไปแข่งขัน 3 ทีม คือ วิทยาลัยสารพัดช่างตราด วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทยสามารถรักษาแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 10 ในครั้งนี้มีทีมเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 55 ทีมจาก 5 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ คือ ไทย รัสเซีย เดนมาร์ก อังกฤษ จีน และฮ่องกง ไต้หวัน รางวัลที่ได้รับถึง 3 รางวัลเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของวิทยาลัยสารพัดช่างตราด คณะครูและนักศึกษาที่ตั้งใจฝึกซ้อมและเตรียมตัวมาอย่างเต็มความสามารถ” ดร.ประดิษฐ์ กล่าว

เตรียมตัวหนัก 3 เดือนเต็ม เพื่อเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ

อาจารย์รุ่งนภา อุดมชลปราการ หรือ “ครูแก้ว” ครูสาขาการโรงแรม ทำหน้าที่เป็น “โค้ชทีมแข่งขัน” เล่าถึงคณะที่ไปแข่งขันว่า ประกอบด้วย อาจารย์ผู้ควบคุม อาจารย์จิรพงศ์ ร่มเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ อาจารย์เกริกไกร นนทลักษณ์ หัวหน้าแผนกการโรงแรม นายชญากร กุลธวัชชุลิตา คอนดัคเตอร์

และทีมนักศึกษาที่เข้าแข่งขัน 4 คน คือ นายธวัชชัย สนธิพิณ หรือ “โจ๊ก” หัวหน้าทีมนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 3 (ปวช.3) นายชโยทิต สุขสวัสดิ์ “เพียว” ปวช.2 นางสาวน้ำฝน จันทร์จรูญ “น้ำ” ปวช.3 และ นางสาวพรรณนิภา นามวิชัย นักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 (ปวส.1) และมี ดร.วิชชาพรรรณ กิ่งวัชระพงษ์ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างตราดเดินทางไปเชียร์และให้กำลังใจด้วย

นายชญากร กุลธวัชชุลิตา
นายชโยทิต สุขสวัสดิ์

การวางแผนและเตรียมตัวก่อนเดินทางไปแข่งขันนั้น ทันทีที่ได้รับหนังสือเชิญจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน และผู้อำนวยการวิทยาลัยเห็นชอบ ได้เริ่มวางแผนร่วมกัน โดย อาจารย์จิรพงศ์ ร่มเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อาจารย์เกริกไกร นนทลักษณ์ และ “ครูแก้ว” อาจารย์รุ่งนภา อุดมชลปราการ เริ่มทำงานคือ 1. หาตัวนักศึกษาที่จะเป็นทีมตัวแทนเข้าแข่งขัน 4 คน 2. การวางแผนฝึกซ้อม 3. การออกแบบชิ้นงานและฝึกซ้อมตามชิ้นงาน การดำเนินการทั้ง 3 ข้อ เป็นส่วนสำคัญซึ่งกันและกัน ต้องใช้การบูรณาการ ทักษะ และการทำงานเป็นทีม

ขั้นตอนการหาตัวแทนเข้าแข่งขัน…เริ่มด้วยการประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้สนใจ โดยใช้วิธีเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาทุกระดับ ทุกคนที่มีความสนใจสมัครเข้ามา แรกรับสมัครไว้จำนวน 100 กว่าคน จากนั้นจะใช้วิธีทดสอบความสามารถทางศิลปะด้วยการวาดรูปแรเงา ให้ดูมีชีวิตมีมิติ เพื่อคัดเลือกคนมีพื้นฐานใจรัก คัดออกเป็นรอบๆ เหลือ 60 คน 10 คน และ 6 คน ในที่สุดมาเหลือ 4 คนสุดท้ายเป็นทีมจะต้องฝึกซ้อมไปแข่งขัน

ขั้นที่ 2 การออกแบบชิ้นงาน…การออกแบบชิ้นงานเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างที่สุด จะต้องออกแบบและส่งไปให้มหาวิทยาลัยที่จัดแข่งขันก่อน กว่าจะได้ชิ้นงาน “ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง” (Rescue Misson Rivets Thamluang caves in Chiangrai Thailand) ต้องคิดตามเกณฑ์การแข่งขัน ตอบโจทย์ให้ได้ คือความคิดสร้างสรรค์ การคิดค้นเรื่องที่จะต้องสื่อสาร

ในที่สุดจึงเลือกออกแบบเรื่องที่ชาวโลกสนใจโด่งดังไปทั่วโลก คือการช่วยเหลือของนักประดาน้ำชาวอังกฤษ 2 คนที่ได้ค้นพบและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตทีมหมูป่าอคาเดมี 13 คนจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน สื่อสารให้เห็นถึงความหวังและสร้างพลังใจให้ทุกคน เริ่มแรกออกแบบถ้ำก่อนใช้ภาพถ้ำจอมพล ที่จังหวัดราชบุรี พระบรมฉายาลักษณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงฉายพระรูปร่วมกันนำมาเป็นแบบเพราะถ้ำมีความสวยงามมากและคิดลายกนกเป็นส่วนยอดถ้ำเพื่อแสดงเอกลักษณ์ของไทย จากนั้นรูปแบบรายละเอียดในถ้ำจะมีนักประดาน้ำ 2 คน และทีมหมูป่า 13 คน

ขั้นที่ 3 การเตรียมความพร้อมและการฝึกแกะสลักตามชิ้นงาน…ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากลำบาก การฝึกซ้อมจะใช้การแกะสลักตามชิ้นงานที่ออกแบบส่งไปก่อนแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน เริ่มจากการปรับหลักสูตร E to E ที่ไม่มีหลักสูตรแกะสลักน้ำแข็ง มีแต่แกะสลักโฟม ผลไม้ และการแกะสลักน้ำแข็งต้องปรับใหม่เป็นการแกะสลักหิมะ

โชคดีได้ อาจารย์ชญากร กุลธวัชชุลิตา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะมีประสบการณ์แกะสลักน้ำแข็งมาเป็นสิบปีช่วยฝึกสอน เริ่มจากจัดให้นักศึกษาเรียนปรับพื้นให้เหมือนกัน 2 สัปดาห์ และจากนั้นเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ให้มาเรียนแบบเข้าค่ายที่วิทยาลัยสารพัดช่าง พักค้างอยู่ด้วยกัน ทำอาหาร รับประทานอาหารด้วยกันเพื่อปรับตัวให้เข้ากัน และใช้เวลาฝึกเป็นทีมตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ เพราะเป็นช่วงเวลาฝึกงานของนักศึกษา 3 คนส่วน “เพียว ปวช.2” ต้องเรียนตามปกติด้วยฝึกซ้อมไปด้วย การฝึกลายไทยให้แกะโฟมระยะเวลา 1 เดือนต่อจากนั้นฝึกแกะน้ำแข็ง 2 เดือน

“ขั้นตอนฝึกซ้อมยึดตามโมเดลชิ้นงาน โดยแยกฝึกเป็นส่วนๆ เพื่อไปประกอบในวันแข่งขัน จะมีตารางการฝึกตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ทุกอย่าง แบ่งเป็นส่วนๆ เช่น ยอดลายกนก โครงสร้างของถ้ำ รายละเอียดในถ้ำ นักประดาน้ำ ทีมหมูป่า ที่ยากที่สุดคือส่วนของทีมหมูป่าทั้ง 13 คน โดยเฉพาะใบหน้า ต้องมีมิติ มีชีวิต การแกะสลักใช้สเกลขั้นสูง นักศึกษาเพิ่งมีประสบการณ์จากการฝึกครั้งแรกและไม่ได้เรียนศิลปะมาและโครงสร้างของถ้ำมีความเสี่ยงสูงเพราะมีรายละเอียดข้างใน ทำไม่ดีจะถล่ม แต่พวกเราฝึกทำซ้ำๆ มีการใช้เครื่องมือชนิดต่างๆ ให้ชำนาญ และทำให้รู้ว่าใครถนัดแกะโครงสร้าง หรือรายละเอียด เมื่อถึงวันแข่งขันทีมงานจะมาร์กจุดกันเลยว่าใครจะทำจุดไหน ต้องชื่นชมคอนดัคเตอร์ชญากรที่มีส่วนสำคัญมากๆ” โค้ชครูแก้ว เล่าถึงสถานการณ์การฝึกซ้อม

ความงดงามของความสำเร็จของทีมงานไท่กั๋วๆ

อาจารย์เกริกไกร นนทลักษณ์ เล่าว่า ความสำเร็จของรางวัลที่ได้รับ ส่วนประกอบสำคัญ คือ ความสำเร็จของชิ้นงานที่ออกแบบ การทำงานเป็นทีมของนักศึกษาและการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปร่วมแข่งขัน

คอนเซ็ปต์ของชิ้นงานแกะสลัก “ภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง” นี้ สื่อสาร มิตรภาพ ความร่วมมือ ความสำเร็จและภาพถ้ำมีลายกนกโชว์เอกลักษณ์ของไทยได้ระดมความคิดกันในคณะทำงาน คอนดัคเตอร์ โค้ช อาจารย์ที่ควบคุม แสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือของนักประดาน้ำ 2 คน ที่สามารถช่วยทีมหมูป่า 13 คน ออกจากถ้ำประสบความสำเร็จ เป็นการสื่อสารให้เห็นความสวยงามของโลก มิตรภาพ ความร่วมมือ และความสำเร็จ

ลายที่ออกแบบวาดบนกระดานไม้อัด เพื่อฝึกแกะสลักน้ำแข็ง
รายละเอียดภายในถ้ำ

ภาพถ้ำมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ถ้ำจอมพล จังหวัดราชบุรี เราจึงนำพระบรมฉายาลักษณ์นั้นมาออกแบบเชิงศิลปะใส่ลวดลายกนกแสดงความเป็นไทย ซึ่งคนจีนเห็นสัญลักษณ์รู้เลยว่า “ไทยกัว” หรือประเทศไทย

นายธวัชชัย สนธิพิณ หรือ “โจ๊ก” หัวหน้าทีม กล่าวถึง การทำงานเป็นทีมที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ในครั้งนี้ว่า ในช่วงการฝึกซ้อมต้องมีความเข้าใจกัน พูดคุย ปรึกษากันตลอด เมื่อไปแข่งขันต้องฝึกให้แต่ละคนทำงานที่ตรงกับความถนัด ความสามารถของแต่ละคน ตามโมเดลที่ออกแบบ

การแกะสลักโฟมเป็นภาพมองด้านเดียว อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงคัตเตอร์แต่การแกะสลักน้ำแข็งมีมิติ ประติมากรรมนูนสูง มีรายละเอียดมาก อุปกรณ์ที่ใช้ต่างกันมีเครื่องมือหลายชนิดหลายขนาด เช่น เลื่อย สิ่ว ครั้งนี้เรามีเครื่องมือปอกตาสับปะรดที่เป็นรูปตัววี (V) ที่คิดนำไปใช้เก็บรายละเอียดใช้งานได้ดีไม่เหมือนใคร เอาเข้าจริงเมื่อแกะสลักหิมะมีความแตกต่างจากน้ำแข็ง การลงน้ำหนักมือ เครื่องมือต้องระวังเพราะหิมะมีความบอบบางกว่า

ลายกนก สูง 20 เมตร
ลายกนก

“จริงๆ แล้วความยากมีทุกจุด เริ่มตั้งแต่มีก้อนน้ำแข็งขนาด 3×3 เมตร ตอนขึ้นลายกนกพวกเราเกร็งกันมาก เพราะมีความสูงถึง 20 เมตร ต้องขึ้นก่อนส่วนอื่นๆ ถ้าผิดพลาด หมายถึงทุกอย่างจบกัน ผมและน้ำฝนขึ้นถนัดงานละเอียดและตัวเล็กจะขึ้นไปแกะลายกนกส่วนยอด เมื่อทำได้สำเร็จทีมงานมีกำลังใจ เราแบ่งงานไว้ให้เพียวกับพรรณนิภาทำส่วนโครงสร้างของถ้ำ และมาช่วยกันทำรายละเอียดที่เป็นรูปนักประดาน้ำ ทีมหมูป่าระยะเวลาที่แข่งขัน 3 วันพวกเราทุกคนอยู่ภาคสนามตั้งแต่เช้าถึงกลางคืนวันละ 10-12 ชั่วโมง ขณะที่อากาศหนาวเย็น -26 องศาเซลเซียส แม้ว่าทีมงานเราจะทำกันสุดความสามารถแต่งานยังไม่เสร็จเต็ม 100% ได้ประมาณ 70%” หัวหน้าทีมกล่าว

อาจารย์รุ่งนภา อุดมชัยปราการ “โค้ช” กล่าวถึงประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งนี้ว่า เป็นเพราะการสร้างทีมงานที่มีความมุ่งมั่น ขยันอดทน และมีแรงบันดาลใจที่ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะระหว่างการฝึกซ้อมมีบ้างที่บางคนเสียกำลังใจไม่อยากไปแข่งขัน แต่เราช่วยกันให้กำลังใจ มีการพูดคุยปรึกษากันช่วยกันแก้ปัญหา ทำให้ทีมงานเป็น “เรา” ไม่มีครู ไม่มีนักศึกษา

วันแข่งขัน

และวันแข่งขันพวกเราจะอยู่ด้วยกันตลอด จับมือกันเพื่อให้กำลังใจกัน เมื่อเดินทางไปคิดเพียงได้รางวัลอะไรสักรางวัลมาให้เป็นเกียรติยศจังหวัดตราด เป็นศักดิ์ศรีของวิทยาลัยสารพัดช่างตราด แต่เมื่อประกาศรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม Best Creative Awards ไปแล้วทั้งตื่นเต้นและดีใจ ยังได้รางวัลชนะเลิศ Top Grade Awards

Top Grade Award

และที่น่าภูมิใจคือ รางวัลศิลปะ Artist Award ให้เพื่อนร่วมการแข่งขันทุกทีมโหวตให้กันเราชนะใจได้มา คาดไม่ถึงเช่นกันเพราะไม่มีใครเรียนแผนกศิลปะ ตอนได้รางวัลได้ยินเสียงประกาศว่า “ไท่กั๋วๆ” จึงออกไปรับรางวัล โชคดีที่นักศึกษาไม่ลืมนำธงชาติไทยที่เตรียมพับใส่กระเป๋าไปแสดงบนเวที ทั้งหมดเป็นความภูมิใจของวิทยาลัยสารพัดช่างตราด…ต้องขอขอบคุณหน่วยงานกรมอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่างตราด หน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนให้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้

ทีมนักศึกษาปลื้ม ยืนยันปีหน้าไปแข่งขันแน่นอน
มั่นใจประสบการณ์ช่วยเพิ่มรายได้

ทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างตราดทั้งหมด นายธวัชชัย สนธิพิณ นายชโยทิต สุขสวัสดิ์ นางสาวน้ำฝน จันทร์จรูญ และ นางสาวพรรนิภา นามวิชัย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกดีใจ ภูมิใจกับรางวัลอันมีเกียรติที่ได้รับ ไม่คาดคิดมาก่อนจะได้รางวัลถึง 3 รางวัล อย่างไรก็ตาม ปีหน้าตั้งใจจะไปแข่งขันอีกแน่นอน คาดว่าน่าจะยากกว่าครั้งนี้เพราะเป็นการรักษาแชมป์ และทุกคนจะเรียนต่อสายอาชีวะ แผนกโรงแรมและทำงานด้านโรงแรมที่ชื่นชอบ และคาดว่าเกียรติบัตรใบรับรองที่ได้รางวัลจากการแข่งขันนี้ถือเป็นประสบการณ์เฉพาะตัว จะทำให้ได้รับการพิจารณาจากผู้ประกอบการเพิ่มรายได้ให้เมื่อประกอบอาชีพด้านโรงแรม พวกเรายืนหยัดถึงการเรียนต่อสายอาชีวะ เรียนแล้วมีงานทำสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วยประสบการณ์และความรู้หลักสูตร E to E

รับรางวัลที่ฮาร์บิน
กับรางวัลที่ได้รับ

เตรียมถอดโมเดลสร้างหลักสูตร E to E

ดร.ประดิษฐ ฮกทา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างตราด กล่าวว่า จากนี้ทีมวิชาการของ นายจิรพงศ์ ร่มเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการจะถอดโมเดลการแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งเป็นหลักสูตร E to E เพิ่มขึ้น และพัฒนาหลักสูตรแบบเข้มข้นขึ้นในระบบทวิภาคีที่เรียนร่วมกับผู้ประกอบการ ยกระดับเป็นระดับพรีเมี่ยม ใช้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอน เพราะไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู

อาจารย์จิรพงศ์ ร่มเงิน

และพัฒนาหลักสูตรมินิอิงลิชโปรแกรม ภาคภาษาอังกฤษสั้นๆ ปัจจุบันมีนักเรียนเรียนต่อระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรียนจบแล้วมีงานทำและสามารถเพิ่มรายได้ถ้าเรียนหลักสูตร E to E ด้วย อนาคตความต้องการแรงงานจังหวัดตราดจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาโรงแรม ต่อไปวิทยาลัยสารพัดช่างตราดเตรียมเปิดสาขาอาหารเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ด้วย เป็นการศึกษาที่ออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่จังหวัดตราด

นี่คืออีกก้าวหนึ่งของอาชีวะสร้างชาติที่มีผลงานให้สัมผัสได้