“กระถางใยกล้วย” โครงงานเล็ก ช่วยสิ่งแวดล้อม ผลงานนักเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาทำ

โครงงานกระถางใยกล้วย เป็นการศึกษาการประดิษฐ์กระถางจากกาบกล้วย ของกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาทำ (ปทุมธรรมโชติ) โรงเรียนระดับประถมศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านวัดราษฎร์ศรัทธาทำ ตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี มี นางปรารถนา ปวงนิยม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

นางปรารถนา ปวงนิยม ผอ.โรงเรียน (ที่ 3 จากขวา) นางสาวพิมพ์พร เต่าน้ำ (ที่ 2 จากขวา) และ นายนฤเดช อริยา (ที่ 3 จากซ้าย) กับบางส่วนของนักเรียน

โครงงานกระถางใยกล้วยมีจุดเริ่มต้นแนวคิดมาจากการแก้ปัญหาถุงเพาะดำที่ใส่ต้นพันธุ์พืชหลายชนิดเพื่อนำมาปลูกในสวนเกษตรตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียน จนทำให้มีจำนวนถุงดำมากมายที่ถูกทิ้งกลายเป็นปัญหาการทำลายและก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงประดิษฐ์กระถางใยกล้วยขึ้นมาแทนเพื่อให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ไม่เป็นมลพิษกับดินและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน และที่สำคัญเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก ประหยัดงบประมาณ

ปลูกไม้ประดับได้

นางสาวพิมพ์พร เต่าน้ำ และ นายนฤเดช อริยา คุณครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ร่วมกันให้ข้อมูลว่า ที่มาของแนวคิดเกิดจากกิจกรรมของโรงเรียนที่มีการปลูกพืชไม้ผลหลายชนิด โดยเฉพาะกล้วยที่จัดรวบรวมสายพันธุ์สำหรับไว้ศึกษา จึงนำมาสู่การถอดบทเรียนด้วยการคิดนำทุกส่วนของกล้วยมาผลิตเป็นของเครื่องใช้แทนการทิ้งให้เสียเปล่า

กระถางใยกล้วยในรูปทรงต่างๆ

ดังนั้น จึงตั้งโจทย์ให้นักเรียนร่วมกันคิดจนนำมาสู่การทำโครงงานกระถางใยกล้วยเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกที่เป็นถุงใส่ต้นพันธุ์หรือต้นกล้าพืช เมื่อเกิดแนวคิดนำไปสู่การปฏิบัติ กระทั่งสำเร็จเป็นกระถางใยกล้วย จึงนำผลงานไปแสดงในงานวิชาการในกลุ่มโครงการพระราชดำริ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสู่สาธารณะที่ทำให้คนทั่วไปรู้จัก

การรวบรวมสายพันธุ์กล้วยของโรงเรียนมีจุดประสงค์เพื่อสำหรับใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนและผู้สนใจ มีกล้วยกว่า 30 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์เนื้อเยื่อและท้องถิ่นหลายแห่งทั่วประเทศนำมาเพาะ-ขยายปลูกไว้ 2 แห่ง คือในบริเวณโรงเรียนเป็นศูนย์รวมสายพันธุ์กล้วย กับอีกส่วนหนึ่งปลูกไว้บริเวณริมคลองเป็นแปลงใหญ่ โดยผลผลิตกล้วยนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการอาหารกลางวันและกิจกรรมอื่นของนักเรียน

นำผลงานไปแสดงในงานทางวิชาการ

สำหรับกระถางใยกล้วยเป็นการคิดต่อยอดมาจากโครงงานกระถางใบไม้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดของโครงงานวิทยาศาสตร์ว่าควรจะแก้ปัญหาจากเศษใบไม้ที่มีจำนวนมากในโรงเรียนได้อย่างไร เมื่อได้คำตอบด้วยการนำเศษใบไม้ไปผลิตเป็นกระถางแล้ว จึงแตกความคิดว่าต้นกล้วยที่มีอายุมากและถูกตัดทำลายก็น่าจะสามารถนำมาผลิตเป็นกระถางได้เช่นเดียวกัน การผลิตกระถางจากต้นกล้วยของนักเรียนและคุณครูที่ดูแลร่วมกันทดลองผิด-ถูก จนสำเร็จเป็นกระดาษใยกล้วยก่อนแล้วจึงพัฒนาปรับปรุงมาเป็นกระถางใยกล้วยในเวลาต่อมา

พันธุ์กล้วยที่ปลูกไว้ริมคลอง

ความจริงแล้วกระถางใยกล้วยถูกผลิตขึ้นตามความตั้งใจเพื่อนำมาใช้แทนถุงเพาะสีดำ ส่วนผสมและอุปกรณ์จึงใช้แบบพื้นฐานเหมือนเช่นงานประดิษฐ์ ฉะนั้น โครงสร้างกระถางจึงมิได้แข็งแรงเหมือนกระถางต้นไม้ทั่วไป แต่สามารถนำมาเพาะปลูกได้จริง ปลูกต้นไม้ขนาดเล็กได้ หรือเหมาะสำหรับเพาะกล้า โดยนำกระถางใยกล้วยลงปลูกในดินเมื่อต้นไม้เจริญเติบโตกระถางก็จะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพดินและสิ่งแวดล้อม แถมยังเป็นปุ๋ยให้กับพืชด้วย ดังนั้น ผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นจึงเป็นการแก้ปัญหาในโรงเรียน หากต้องการต่อยอดเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ในรูปแบบกระถางสวยงามอาจต้องปรับส่วนผสมและอุปกรณ์เพื่อให้มีความแข็งแรง รวดเร็ว

พันธุ์กล้วยที่ปลูกไว้ในศูนย์รวมพันธุ์กล้วยเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้

ส่วนผสมสำหรับใช้ผลิตกระถางใยกล้วย ได้แก่ 1. กาบกล้วยจำนวน 200 กรัม 2. แป้งมันสำปะหลังจำนวน 70 กรัม 3. น้ำ (ละลายแป้ง) จำนวน 100 มิลลิลิตร 4. น้ำ (ต้มแป้งเปียก) จำนวน 450 มิลลิลิตร

วิธีทำ 1. นำกาบกล้วยมาหั่นแช่น้ำไว้ให้เปื่อย 2. ปั่นกาบกล้วยที่แช่ให้ละเอียด 3. ชั่งส่วนผสมตามที่กำหนด 4. ตากกาบกล้วยที่ปั่น 5. ผสมน้ำกับแป้งมันสำปะหลังแล้วกวนให้เป็นแป้งเปียก 6. นำแป้งเปียกผสมกับกาบกล้วยที่ปั่นละเอียดให้เข้ากัน 7. นำพลาสติกหุ้มกระถางใบนอกและนำส่วนผสมใส่แม่พิมพ์กระถางอัดไว้ นำกระถางใบเล็กที่มีซีเมนต์ก้อนใส่ทับไว้และคลุมถุงพลาสติก 8. เมื่อครบ 1 ชั่วโมงถอดแม่พิมพ์นอกออกและเจาะรูด้านล่างกระถางเพื่อระบายน้ำ และตากให้แห้ง 1 วัน และถอดแม่พิมพ์ด้านในออก ตากแดด 1 วัน 9. ทากาวแป้งเปียกซ้ำ ผสมแป้งมัน 50 กรัม น้ำ 450 มิลลิลิตร ทาซ้ำและตากให้แห้ง

ใส่ต้นพันธุ์เพื่อเตรียมปลูกลงดิน

กระถางใยกล้วยเป็นผลงานของนักเรียนกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อฝึกฝนให้นักเรียนมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ เป็นแนวคิดต้นแบบที่มีความสร้างสรรค์เกิดประโยชน์ สามารถลดปริมาณขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง ปตท. ได้ให้ความสนใจ จึงเข้าร่วมโครงการ Connext ED ซึ่งดูแลโดยบริษัท PTT Global Chemical จำกัด มหาชน (GC)

คุณครูบอกว่า สำหรับเด็กนักเรียนถือว่าได้ประสบการณ์ที่นำวัสดุจากธรรมชาติในชุมชนมาใช้ประโยชน์ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำตามแนวทางหลักการทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าตรงตามวัตถุประสงค์ ช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในการเขียนโครงงาน เกิดความตระหนักถึงคุณค่าและลดการใช้ถุงพลาสติก ขณะเดียวกัน สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันหรือถ่ายทอดให้ผู้สนใจไปสร้างรายได้ ทั้งยังทำให้ยุวเกษตรหรือกลุ่มชาวบ้านที่ปลูกกล้วยเป็นอาชีพหลายแห่งสนใจอยากนำแนวคิดนี้ไปผลิตเป็นของใช้เพื่อสร้างรายได้

ช่วยกันตัดต้นกล้วย

นอกจากกาบใยกล้วยสามารถผลิตเป็นกระถางแล้วยังผลิตเป็นสิ่งของเครื่องใช้อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทบอร์ด ผลิตเป็นโต๊ะ เป็นฝ้าพนัง ถ้าคิดจะต่อยอดจากใยกล้วย เพราะกล้วยหาได้ไม่ยาก แล้วราคาไม่แพง ต่อไปใครจะไปคิดว่าคนปลูกกล้วยจะมีรายได้จากขายกล้วยเท่านั้น แต่อาจขายต้นกล้วยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งของเครื่องใช้ได้อีก

กาบกล้วยที่ปั่นนำไปตากแดด

ทางด้านนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวถึงความรู้สึกในการมีส่วนร่วมในผลงานครั้งนี้ โดยมีความเห็นจากบางส่วนของนักเรียน อย่าง เด็กหญิงวรกานต์ เปนะนาม อยู่ประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า โครงงานกระถางใยกล้วยต่อยอดมาจากโครงงานกระถางใบไม้ โดยได้ร่วมกิจกรรมกับพี่ประถมศึกษาปีที่ 6 ประโยชน์ที่ได้จากโครงงานนี้คือ ทำให้ใช้เวลาว่างอย่างมีค่า นำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจ แล้วยังใช้ประโยชน์จากวัสดุภายในโรงเรียนให้มีความคุ้มค่า

นำส่วนผสมทั้งหมดอัดใส่ในพิมพ์

อีกคนคือ เด็กหญิงอรพลิน ป้อมลา อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า เหตุผลที่มาทำกระถางใยกล้วยเพราะคุณครูได้มอบหมายให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยตั้งโจทย์ว่าให้มองปัญหาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนแล้วพบว่ามีทั้งโฟม พลาสติก โดยเฉพาะใบไม้ที่เก็บไปเผาทิ้ง นอกจากนั้น ยังมีถุงดำที่ใส่ต้นกล้าพืชถูกทิ้งมากมาย อันก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน จึงได้ทำโครงงานกระถางใบไม้ขึ้นมาก่อน แล้วต่อยอดเป็นโครงงานกระถางใยกล้วยเพราะมองว่าใยกล้วยแข็งแรงกว่าใบไม้ ประโยชน์ที่ได้จากโครงงานนี้คือช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แล้วยังนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้สนใจนำไปทำเป็นอาชีพสร้างรายได้

แกะออกจากพิมพ์

แม้แนวคิดของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาทำจะเป็นเพียงโครงงานเล็ก แต่สิ่งที่พวกเด็กคิดและทำขึ้นมาเป็นการจุดประกายให้ผู้ใหญ่ได้นำไปต่อยอดสู่อุตสาหกรรมในอนาคต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างประโยชน์โดยตรงให้กับสิ่งแวดล้อมได้ดีเชียว

นำแป้งเปียกผสมกับกาบกล้วยที่ปั่นละเอียดให้เข้ากัน

สอบถามรายละเอียดการผลิตกระถางใยกล้วยได้ที่ โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาทำ (ปทุมธรรมโชติ) โทรศัพท์ (02) 978-3851

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก