บักผีผ่วน หรือ กล้วยเปรี้ยวที่ไม่ขม มีสรรพคุณเป็นยา บำรุงโลหิต แก้ปวดเมื่อย

กล้วยเปรี้ยว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria cordata (Dunal) Alston

ชื่อวงศ์ ANNONACEAE

ชื่ออื่นๆ กล้วยหมูสัง (ตรัง) นมวัว (สุราษฎร์ธานี) นมแมวใหญ่ (ชุมพร) นมควาย (นครศรีธรรมราช) ลาเกาะ (นราธิวาส) บักผีผ่วน (อีสาน) กล้วยพังพอน กล้วยมูสัง

กล้วยเปรี้ยว เมื่อออกดอก ทั้งสีสัน และกลีบดอกสด มีทั้งสีชมพูอ่อน และแดงเข้ม ส่วนเกสรในดอกที่อยู่ชิดแน่นเป็นตุ่มกลมเรียงกลางดอกมีสีเหลือง จากจุดนี้เมื่อแก่ก็เป็นผลกลุ่มจำนวนมากออกมา คล้ายหวีกล้วยเล็กๆ คงจะเป็นลักษณะนี้เอง ทำให้ถูกเรียกว่า กล้วยมูสัง หรือ กล้วยหมูสัง หรือกล้วยพังพอน เพราะภาคใต้ คำว่า “มูสัง หรือ มุดสัง” หมายถึง ชะมด และกล้วยมูสังนี้แหละที่ชะมดชอบกินมากๆ

แต่เรื่องชื่อ “นมช้าง” หนูไม่รู้ที่มาเลย เพราะคนทั่วไปเรียกหนูสารพัดชื่อนม แสดงว่าไม่เกี่ยวกับขนาดนม ตอนแรกหนูคิดว่าปลายใบของหนูจะใหญ่ คล้ายหรือเหมือนนมของช้าง แต่คงจะไม่ใช่ เพราะว่ามีเรียกทั้ง นมวัว นมควาย และนมแมวใหญ่ แต่ความจริงใบของหนูก็เล็กกว่านมของตัวช้างจริงแน่ๆ

กล้วยเปรี้ยว เป็นไม้เถาขนาดใหญ่ เนื้อแข็ง จะว่าเป็นพรรณไม้กึ่งเลื้อยก็ได้ เพราะสามารถพาดไปกับต้นไม้อื่น และเลื้อยไปได้หลายสิบเมตร กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม หนูชอบแสงแดด เพราะใบเดี่ยวหนารูปไข่ ยาวกว่าคืบ เรียงสลับ โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียว

จุดเด่นของกล้วยเปรี้ยว คือ เรื่องดอกที่ออกดอกเดี่ยว หรืออาจจะเป็นกระจุกถึง 3 ดอก ใกล้ๆ ปลายยอดเมื่อบานแล้วมีกลีบดอกตั้ง 6 กลีบซ้อน ชั้นละ 3 กลีบ พอเป็นผล ออกกลุ่มผลย่อย 25-35 ผล มีเมล็ดสีเข้มข้างใน คนอีสานชอบกิน บอกว่ารสชาติ “หวานๆ ส้มๆ” ฟังดูเหมือนอร่อยจัง แต่เรียกหนูว่า “บักผีผ่วน” แหม! ฟังแล้วสยอง

ชื่อกล้วยเปรี้ยว ไม่มีน้ำนม แต่มีสรรพคุณสมุนไพรนะค่ะ นำแก่น หรือเปลือกต้นแช่น้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต หรือถ้านำเปลือกไปต้มก็ดื่มเป็นยาแก้กระษัยเส้น แก้ปวดเมื่อย ส่วนเปลือกต้น ลอกเป็นเส้นยาวแทนเชือกได้ บางคนชอบนำหนูไปเป็นไม้ประดับเพราะดอกสวย ทั้งผลสุกก็รับประทานอร่อย พบหนูได้ตามชายป่า ทั้งป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง แต่คนที่ชอบหนูก็ยอมซื้อ ต้นสูง 1 ฟุต ราคา 150 บาท สูง 1 เมตร ราคา 500 บาท

หากคิดว่าราคาแพงไป ก็เพาะกล้วยเปรี้ยวด้วยเมล็ดดีกว่านะ ขึ้นทุกเมล็ด รับรองแน่ๆ ค่ะ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2559

Update 16/07/2021