ประโยชน์ของ “ตาล” มีมากกว่าความอร่อย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีแนวคิดดำเนินการวิจัยและบริการวิชาการในพื้นที่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนเกษตรกร ตามปณิธานในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย คือ “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้พัฒนาผลงานวิจัยและงานบริการวิชาการให้ครอบคลุมห่วงโซ่เศรษฐกิจของสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด เช่น “ตาลโตนด” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูปและการตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัย จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปตาลโตนด ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพสินค้าของเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ต้นตาลโตนดเมืองเพชร

เพชรบุรี แหล่งภูมิปัญญา “ตาลโตนด”

ดร.ศิริวรรณ แดงฉ่ำ และคณะ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ดำเนินวิจัยเรื่อง “การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นตาลโตนด” พบว่า ต้นตาลเป็นพืชที่เป็นวิถีชีวิตและเป็นเอกลักษณ์ ของจังหวัดเพชรบุรี ต้นตาลมีคุณค่าตั้งแต่รากจนถึงยอด ชาวเพชรบุรีจึงเรียนรู้และสืบทอดการใช้ประโยชน์จากตาลโตนดจนเกิดเป็นภูมิปัญญาที่ซึมซับวิถีชีวิตของคนรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง

ทีมนักวิจัยได้รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นตาลโตนดของจังหวัดเพชรบุรี โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับตาลโตนด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เกษตรกรผู้ปลูกตาลโตนด แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตาลโตนด กลุ่มอนุรักษ์และสืบสานตาลโตนด อำเภอบ้านลาด และอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ตาล และเศษเหลือจากตาลโตนด อำเภอบ้านลาด และอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

พบว่า เกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี มีภูมิปัญญาด้านตาลโตนดที่หลากหลาย เช่น 1. ภูมิปัญญาการปลูกตาล 2. ภูมิปัญญาการพาดพะองแบบโบราณ และแบบสมัยใหม่ 3. ภูมิปัญญาการทำพิธีแรกตาล 4. ภูมิปัญญาการนวดงวงตาล การปาดตาล และการรองตาลโตนด โดยใช้ภูมิปัญญาการนวดงวงตาล มีการใช้เครื่องมือนวดที่แตกต่างตามเพศของช่อดอกคือ การนวดช่อเพศผู้ใช้ไม้คาบแบนหรือไม้คาบตัวผู้ และการนวดช่อดอกเพศเมียใช้ไม้คาบกลมหรือไม้คาบตัวเมีย รวมทั้งวิธีการนวดที่แตกต่างกันด้วย 5. ภูมิปัญญาการโยงทะลายตาลอ่อน 6. ภูมิปัญญาการเพาะจาวตาล 7. ภูมิปัญญาด้านการแปรรูปผลผลิตจากส่วนต่างๆ ของตาลโตนด ได้แก่ น้ำตาลพร้อมดื่ม น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก กระแช่ ขนมเปียกน้ำตาลใส น้ำตาลผง การเฉาะตาลอ่อน ขนมลูกตาลลอยแก้ว การยีเนื้อตาลสุก ขนมตาล จาวตาลเชื่อม 8. ภูมิปัญญาการประดิษฐ์ของเล่นและเครื่องใช้จากตาลโตนด ได้แก่ การทำตุ๊กตาประดิษฐ์จากเมล็ดตาล การประดิษฐ์ของเล่นเครื่องใช้จากใบตาล และผลิตภัณฑ์จากไม้ตาล และ 9. ภูมิปัญญาการทำต้นตาลประดิษฐ์ของกลุ่มต้นตาลประดิษฐ์ บ้านถ้ำรงค์

ต้นตาลโตนด

เพศและการงอกของตาล

ดร.บุญสนอง ช่วยแก้ว นักวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ศึกษาข้อมูลเรื่องเพศและการงอกของตาล ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และจากการสัมภาษณ์ คุณถนอม ภู่เงิน เกษตรกรเจ้าของสวนตาลตำบลถ้ำรงค์ รวมทั้งเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอตาลในสภาพปลอดเชื้อ ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ต้นตาลโตนด ในสวนตาลตำบลถ้ำรงค์ เริ่มออกดอกเมื่ออายุ 9 ปี 4 เดือน เป็นต้นตาลเพศผู้

สวนตาลลุงถนอม เพชรบุรี

เมื่อตาลอายุ 15 ปี 3 เดือน ออกดอกร้อยละ 58 ของตาลทั้งหมด เป็นต้นเพศผู้ร้อยละ 53 ต้นเพศเมียร้อยละ 47 ของต้นที่ออกดอก ซึ่งไม่แตกต่างกันในระหว่างเพศ เหมือนที่มีรายงานการศึกษาที่อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ส่วนตาลในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีอายุแตกต่างกันมาก มีตั้งแต่ต้นที่เพิ่งปลูกและต้นที่อายุหลายปี มีตาลออกดอกร้อยละ 45 ของตาลทั้งหมด เป็นเพศผู้ร้อยละ 58 และเป็นเพศเมียร้อยละ 42 ของต้นที่ออกดอก

นอกจากนี้ ยังพบความแตกต่างระหว่างจำนวนต้นเพศผู้ และเพศเมียเมล็ดตาลงอกแบบระยะไกล (remote germination) โดยสร้างก้านใบเลี้ยง (coty-tedonary petiole) ที่มีต้นอ่อนและรากแรกเกิด (radice) ออกจากเมล็ดแล้วสร้างยอดอ่อน (plumule) ออกจากกาบใบเลี้ยง (cotyledonary sheath) แล้วเกิดใบแท้ (eophyI) ขึ้นมาทีหลัง โดยมีใบเลี้ยงในเมล็ด (Cotyledon) ดูดซับอาหารจากเอนโดสเปีร์ม (endosperm) มาเลี้ยงต้นอ่อน

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

การศึกษาคุณค่าด้านสมุนไพรของตาล

คุณอารี น้อยสำราญ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ศึกษาการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรตาล ดังต่อไปนี้

1.งวงตาล หรือ ช่อดอกเพศผู้ โดยลักษณะทางพฤกษศาสตร์นั้น ตาลจะออกดอกเป็นซ่อ โดยดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะเป็นงวงยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียจะมีลักษณะคล้ายเป็นทะลาย โดยมีสรรพคุณทางยาคือ นำไปต้มกินแก้ตานขโมยในเด็ก ช่วยขับพยาธิ แก้ร้อนใน ปากเป็นแผล เป็นยาขับปัสสาวะ และตากแห้งต้มกับส่วนผสมอื่นๆ เป็นยาบำรุงกำลัง

ทะลายตาลที่รอการเก็บเกี่ยว

2.รากตาล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ รากตาลนั้นจะออกเป็นกระจุกคล้ายมะพร้าว แต่หยั่งลึกลงไปในดินและไม่แผ่ไปตามผิวดินเหมือนรากมะพร้าว เมื่อปลูกลงบนคันนา รากของตาลโตนดสามารถหยั่งลงไปในดินได้ลึกมากจึงยึดกับดินได้ดี โอกาสที่จะโค่นล้มหรือถอนรากเป็นไปได้ยาก จึงได้ปลูกเพื่อเป็นหลักในการแบ่งเขตของคันนา หรือเพื่อเสริมความเข็งแรงให้กับดินในบริเวณที่ทำการทดน้ำเข้านา

รากตาลมีสรรพคุณทางยาคือ มีรสหวานเย็น นำมาต้มน้ำดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้พิษตานซางในเด็ก บางคนใช้เป็นยาชูกำลัง ช่วยขับเลือด ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ

ใบตาล

3.กาบตาล หรือ ก้านใบ หรือบางคนเรียก ทางตาล มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นส่วนของก้านใบมีหนามแข็งทู่สีดำและคมติดอยู่เป็นแนวยาวคล้ายฟันเลื่อยขนาดไม่สม่ำเสมอกัน สรรพคุณทางยาคือ ก้านใบสดให้นำมาอังไฟหรือย่างแล้วปั่นเอาแต่น้ำ ดื่มแก้ท้องร่วง แก้ปวดเมื่อย หรืออมแก้โรคปากเปื่อย

ใบตาล

4.ใบตาล มีสรรพคุณทางยาคือ แก้ไข้แก้อาการกระสับกระส่าย สำหรับสตรีหลังคลอดบุตร คนโบราณนำใบตาลมาคั่วให้เหลืองแล้วบดเป็นผง ใช้สูบหรือเป่าได้ ช่วยลดความดันโลหิต

5.ลูกตาล หรือ ผลตาลสด มีสรรพคุณทางยาคือ บริโภคผลสด ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้ไขตัวร้อนและละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอเรื้อรัง

6.น้ำตาลโตนด หรือ น้ำตาลหม้อ มีสรรพคุณทางยาคือ นำฟักเขียวต้มกับน้ำตาลหม้อดื่มทำให้หยุดถ่ายและช่วยฟื้นฟูกำลังได้ ใช้เป็นยาทาภายนอก โดยนำไปผสมกับตัวยาอื่นๆ แล้วทาแก้ปากเปื่อย

ทะลายตาลและผลตาล

อาหารเสริมผงกะลาถ่านตาล เพิ่มอัตราแลกเนื้อ

ผศ.น.สพ.ดร.มหิศร ประภาสะโนบล แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ศึกษวิจัยเรื่อง สมรรถภาพการผลิตของไก่กระทง กระต่าย และโคขุน ระยะรุ่นที่ได้รับอาหารเสริมผงกะลาถ่านตาลพบว่า การเสริมผงถ่านกะลาตาลในอาหารไก่กระทงที่ระดับ 1.5 และ 2 เปอร์เซ็นต์ ไก่กระทง มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำหนักเนื้ออก+หนัง ส่วนการใช้ผงถ่านกะลาตาลเสริม 1 เปอร์เซ็นต์ในอาหารโคขุน พบว่า มีแนวโน้ม น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย และอัตราการแลกเนื้อดีที่สุด

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้ทดลองใช้เปลือกตาลอ่อนเป็นแหล่งอาหารหยาบเลี้ยงแพะเนื้อ พบว่า มีต้นทุนในการเพิ่มน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของแพะเนื้อตลอดการทดลอง

ใช้เปลือกตาลอ่อนเป็นแหล่งอาหารหยาบเลี้ยงแพะเนื้อ