ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่แรงดันของเลือดในหลอดเลือด มีค่าสูงเกินปกติ คือ มากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

การวัดความดันที่ถูกต้อง มีความสำคัญ ในการทำให้ได้ค่าที่แท้จริงในการติดตามการรักษาหรือปรับยา จึงแนะนำผู้ป่วย ดังนี้ ไม่ดื่มชาหรือกาแฟ และไม่สูบบุหรี่ ก่อนทำการวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 30 นาที หากมีอาการปวดปัสสาวะ แนะนำให้ไปปัสสาวะก่อน นั่งพักเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาทีก่อนวัดความดัน หลังพิงพนักเพื่อไม่ต้องเกร็งหลัง เท้า 2 ข้างวางราบกับพื้น

ห้ามนั่งไขว่ห้าง ไม่พูดคุยทั้งก่อนหน้าและขณะวัดความดัน วางแขนซ้ายหรือขวาที่จะทำการวัดอยู่บนโต๊ะ โดยให้บริเวณที่จะพัน arm cuff อยู่ระดับเดียวกับระดับหัวใจ และไม่เกร็งแขนหรือกำมือในขณะวัดความดันโลหิต

ทำไมต้องกินยารักษา ในเมื่อไม่มีอาการ

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงในช่วงแรกจะไม่มีอาการ การวินิจฉัยจะทำได้เมื่อมีการวัดความดันโลหิตเท่านั้น มักจะพบอาการแสดงเมื่อมีความดันโลหิตสูงมาก หรือมีอาการแทรกซ้อนในรายที่เป็นมานาน

หรือหากความดันโลหิตสูงมากๆ อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล สำหรับอาการปวดศีรษะที่พบ จะปวดบริเวณท้ายทอย เป็นมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า และดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงบ่ายหรือเย็น

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการจำเพาะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ ที่ไม่ใช่จากภาวะความดันเลือดสูง โรคความดันไม่หายขาด แต่ต้องใช้ยารักษา เพราะหากปล่อยให้ความดันสูงนานๆ จะนำมาซึ่งการเสื่อมสภาพของอวัยวะต่างๆ เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น

1. หลอดเลือดแดง ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง จะทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น และทำให้เส้นเลือดตีบแคบหรือโป่งพอง มีผลทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี

2. หัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะสูบเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างทั่วถึง หัวใจจะโตขึ้น และเกิดภาวะหัวใจวายได้

3. สมอง ภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองหนาและแข็งขึ้น จนเกิดการอุดตันได้ ทำให้สมองขาดเลือด อาจเกิดแค่ชั่วขณะหรือหากเกิดเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นอัมพาตและเนื้อสมองตายได้ หรือความดันที่สูงอาจทำให้เส้นเลือดสมองแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

4. ไต ภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบแคบลง ไตได้รับเลือดไม่เพียงพอ เกิดการทำงานผิดปกติ มีการคั่งของสารพิษเกิดขึ้น และเกิดภาวะไตวายได้

5. ตา ภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตา เกิดเลือดออกที่ตา หรือเกิดขั้วประสาทตาบวมได้

เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นเล็กน้อย อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดที่ใช้งานมานาน ไม่ยืดหยุ่นเหมือนหนุ่มสาว หลอดเลือดอาจแข็งตัว ผนังหนา มีโอกาสตีบหรือเปราะแตกง่าย รูหลอดเลือดที่เล็กลง (อาจเกิดจากตะกอนไขมันที่เข้าไปอุดท่อ) ทำให้หัวใจต้องบีบตัวทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เท่าเดิม จึงเกิดแรงดันเลือดสูง

หากไม่รักษา หัวใจจะปรับตัวทำให้ผนังหนาขึ้น กลายเป็นโรคหัวใจโต ซึ่งไม่มียารักษา และทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่ดี และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย

สภาวะบางอย่าง อาจทำให้ได้ค่าความดันโลหิตผิดไปจากความจริงสูงกว่าสภาวะปกติ เช่น ความปวด ความเครียด วิตกกังวล ตื่นเต้น อารมณ์โกรธ หลับไม่สนิท พักผ่อนไม่เพียงพอ ลืมกินยามื้อเช้าก่อนไปหาหมอ ยาลดความดันเป็นยาที่กินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แนะนำว่า ในวันที่ไปหาหมอ แม้ว่าจะงดน้ำงดอาหารเพื่อเจาะเลือด แต่ควรกินยาลดความดันมื้อเช้ากับน้ำเปล่า หากลืมกินยาไปให้แจ้งแพทย์

เพราะปกติความดันมักจะสูงช่วงเช้า จากการที่ร่างกายเริ่มหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเมื่อตื่นให้ร่างกายพร้อมทำงาน และปกติเวลาเราอยู่บ้านก็จะกินยาความดันมื้อเช้า ความดันจึงควบคุมได้จากระดับยาในเลือดที่คงไว้ แต่เมื่อวันที่ไปหาหมอไม่ได้กินยาความดันไป ผู้ป่วยบางรายความดันอาจสูงขึ้น ทำให้หมอปรับยาเพิ่ม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ยาที่กินอยู่ตอนอยู่บ้านก็สามารถควบคุมความดันได้ดีแล้ว

การปรับพฤติกรรม ช่วยลดความดันหรือควบคุมความดันให้ปกติ ลดการใช้ยาเพิ่มขึ้นในอนาคต ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอทุกๆ วัน

1. ลดน้ำหนัก หากอ้วน ทุกๆ 10 กิโลกรัมของน้ำหนักที่ลดลง ลดความดันตัวบนได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท

2. รับประทานอาหารไขมันต่ำ รับประทานผักให้มากขึ้น รับประทานผลไม้รสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ล สาลี่ เพิ่มการรับประทานปลาแทนเนื้อวัวหรือหมู ช่วยลดความดันตัวบนได้ถึง 8-14 มิลลิเมตรปรอท

3. ลดเค็ม รับประทานเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือคิดเป็นน้ำปลาไม่เกินวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ช่วยลดความดันตัวบนได้ 2-8 มิลิเมตรปรอท ฝึกรับประทานอาหารโดยไม่ใส่เครื่องปรุงเพิ่ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกระป๋อง ของหมักดอง ขนมกรอบแกรบ ผงชูรส รสดี ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว กะปิ ปลาร้า ไข่เค็ม

4. เพิ่มการออกกำลังกาย เช่น เดินไว ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ครั้งละ 20-30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความดันตัวบนได้ 4-9 มิลลิเมตรปรอท

5. ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มเบียร์ไม่เกินวันละ 1 กระป๋อง หรือไวน์ไม่เกินวันละ 1 แก้ว หรือเหล้าไม่เกินวันละ 1 เป๊ก (ถ้าผู้หญิงให้ลดปริมาณลงอีกครึ่งหนึ่ง) ช่วยลดความดันตัวบนได้ 2-4 มิลลิเมตรปรอท

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก อภัยภูเบศร