เสน่ห์ของ “เสนียด” ที่ไม่มี “จัญไร”

เสนียด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia adhatoda L.

ชื่ออังกฤษ Adhatoda, Malabar Nut Tree.

ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

ชื่ออื่นๆ ปัดเสนียด เสนียดโมรา (กลาง) บัวฮาขาว (เหนือ) เจริมเผือกขาว เจริมโหลง (ไทยใหญ่) กุลาขาว กระเหนียด (ใต้) หูรา (นครพนม) หูหา (เลย) เจี่ยกู่เฉ่า (จีนกลาง)

ข้ารู้สึกสับสนกับตัวข้าเอง ที่ถูก ‘โลกลืม’ และโดนผลักไสให้ไปอยู่ฝ่าย ‘อธรรม’ เพราะเพียงชื่อถูกตัดตอนเรียกสั้นๆ ให้ความหมายในความรู้สึกเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังเท้า ทำให้ใครๆ ก็รังเกียจแม้แต่จะเอ่ยชื่อข้า แต่ยิ่งเกลียดก็ยิ่งพูดถึง เพราะมักจะขึ้นต้นว่า… ‘ไม่อยากให้เป็นเสนียด…’ ต่อด้วยอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เฮ้อ…! คิดแล้วอยากฟังเพลงของ กุ้ง ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ จังเลย แล้วจะรู้สึกว่าเกลียดอะไร

แน่นอนว่าชื่อข้าเป็นสิ่งไม่น่าสัมผัสสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่หารู้ไม่ว่าชื่อเดิมของข้านั้น มี ‘เสน่ห์’ มากกับความเป็นอยู่ของคนยุคข้าแต่ก่อนมา เพราะชื่อเต็มๆ ของข้าคือ “ปัดเสนียด” แม้แต่พ่อหมอยาไทยใหญ่ก็ยังเรียกข้าว่า ‘ดอกเมตตา’ เลย มายุคนี้แหละที่นำมาใช้อย่างไม่น่าฟัง

แต่ลองคิดดูง่ายๆ นะ เรื่องจริงๆ ชื่อข้าไปอยู่บนหัวคนซะมากแล้ว และนำไปใช้เพื่อปัดสางเหาบนหัวได้ด้วย ก็ ‘หวีเสนียด’ นั่นไง หวีซี่ละเอียดทั้งสองข้าง สาวๆ วัยก่อนแตกเนื้อสาว มักจะถูกสางเส้นผมด้วยหวีเสนียด เห็นมั้ยหละ ข้านี่แหละ ‘ปัดเสนียด’ ได้จริงๆ หากเด็กสาวๆ มีเหาบนหัวก็หมดเสน่ห์

อ้อ…! พอพูดถึงคำว่า ‘เสน่ห์’ ก็รู้สึกผ่อนคลาย ข้าจึงไปค้นศัพท์ภาษาอังกฤษ เขาเขียนว่า Charm แล้วพบวลีตอนหนึ่งว่า The natural weakness of minds easily seduced and swayed by love

ความอ่อนไหวของจิตใจมนุษย์พ่ายเสน่ห์และน่าหลงใหลในรัก (Portrait of a Beauty 2008)

ชื่อข้าฟังแล้วไม่มีเสน่ห์ แต่ตัวข้าเองนั้น โบราณรู้จักและใช้เป็นต้นไม้มงคลปลูกหน้าบ้านเพื่อ ‘ปัดเสนียด’ เหมือนชื่อ เป็นภาพลักษณ์ที่ลึกลับ ใช้ปัดเป่าความอัปมงคล แล้วรับความเมตตาจากคนและเทวดารวมทั้งพระเณร ก็ใช้เพื่อประพรมน้ำมนต์ ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป โบราณสร้างบ้านจึงนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน

แล้วยังใช้พุ่มยอดใบมัดไว้บนหัวเสายกบ้าน แม้กระทั่งสร้างเตาไฟจากดินเหนียวก็ยังใช้วางปูพื้นก่อนก่อดินทับขับไล่ภูตผี แต่ทำมั้ยคนรุ่นหลังต่อๆ มา ‘ปัด’ ชื่อนำหน้า ‘ปัด’ ของข้าเหลือแต่ชื่อ “เสนียด” กลายเป็นชื่ออัปมงคลซะนี่ ข้าจึงหายไปจากหน้าบ้านคนจนมีฉายาว่า ‘สมุนไพรดีที่ถูกขังลืม’

ข้าเป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง 4 เมตร หรือมากกว่า แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ยอดกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย เป็นประเภทใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะใบรีรูปไข่ หรือรูปหอกปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ขนาดใบกว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ก้านใบ 2 เซนติเมตร พื้นใบสีเขียว มีขนอ่อนๆ ทั้ง 2 ด้าน

ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกรวมแท่งเป็นก้านยาวเกือบ 10 เซนติเมตร มีใบประดับสีเขียวหุ้มดอก เรียงซ้อนชั้นเดียว กลีบดอกแยกเป็นกลีบบนและกลีบล่าง มีเกสรเพศผู้และเพศเมียในดอก เมื่อออกผลจะเป็นฝักยาว 2 เซนติเมตร มีขน ภายในมีเมล็ด 4 เมล็ด เมื่อผลแห้งจะแตกออกเพาะขยายพันธุ์ได้ หรือปักชำ และปลูกกลางแจ้งที่มีความชุ่มชื้นปานกลาง พบในธรรมชาติตามป่าเต็งรัง

ถิ่นกำเนิดเดิมของข้าอยู่ทางเอเชียใต้ ตามแนวเทือกเขาหิมาลัย แล้วกระจายพันธุ์ถึงอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียเรียกข้าว่า วะสะกะ (vasaka) เขาใช้ทำเป็นตัวยาในตำราอายุรเวท เป็นสมุนไพรรู้จักกันเป็นพันปี ใช้รักษาระบบทางเดินหายใจ ไอ หอบหืด โดยเชื่อว่า ตราบใด ยังมีวะสะกะ ก็ไม่ต้องกลัวทุกข์ทรมานด้วยโรคปอด ต่อมาข้าก็ขยายพันธุ์ไปถึงเนปาล ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ถึงจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทย ข้าชอบอยู่ในป่าเต็งรัง แถบภาคเหนือและภาคอีสาน

ข้ามาจากยุคโบราณก็จริงซึ่งเด่นดังในตำรับสมุนไพรโบราณ แต่ต้องขอบใจนักวิชาการรุ่นใหม่อย่างยิ่ง ที่นำข้าเข้าสู่ยาแผนปัจจุบันสูตรหลายรูปแบบ ทั้งยาน้ำ ยาเม็ด ยาสูดดม ยาจิบในน้ำเชื่อมและยาฉีด

อย่าบอกใครนะว่าข้ามีชื่ออยู่ในชื่อการค้า “BISOLVON” ด้วยนะ เพราะทั้งต้น ราก ใบ มีสารอัลคาลอยด์ vasicine มีตัวยาเป็นอนุพันธ์ ที่เรียกว่า bromhexine สังเคราะห์เลียนแบบสารธรรมชาติ ลดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทั้งขับเสมหะและขยายหลอดลม

แม้ว่ามีรสขมเฝื่อน แต่สรรพคุณทางยาเกี่ยวกับปอด หืดหอบ หลอดลม วัณโรค รวมทั้งโลหิต กล้ามเนื้อ และโรคกระดูก ก็ใช้ดอกเป็นตัวยาหลักเพื่อการรักษาได้ดี ต้นและรากก็มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุมไม่มีพิษ

ส่วนใบนำมาต้มกับน้ำอาบแก้ลมผิดเดือนของสตรีคลายเครียดหลังอยู่ไฟ แต่มีข้อห้ามรับประทานสำหรับสตรีมีครรภ์ ถ้าหากมีปลูกไว้ประจำบ้าน เนื้อไม้ใช้งานทั่วไป สำหรับด้านจิตใจก็จะได้ใช้ ‘ปัดเสนียด’ ให้หมดจัญไรไปเลย

เสน่ห์มีไว้ชวนให้รัก เป็นได้ทั้งทำเสน่ห์ให้คนอื่นรัก และถูกเสน่ห์เย้ายวนให้รักคนอื่น แต่ ‘เสนียด’ ทุกคนอยากห่างไกล และ ‘จัญไร’ ก็ไม่อยากเห็น

ฉะนั้น ปลูก “ต้นปัดเสนียด” แล้วจะไม่พบทั้งเสนียดและจัญไร…! นะโยม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2564