Durian Road @ Trat ถนนทุเรียนตราด

จังหวัดตราด พื้นที่ตำบลห้วงน้ำขาว และตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด ทุเรียนจะออกก่อนที่อื่นๆ ด้วยสภาพพื้นที่ที่โอบกอดด้วยทะเลทั้งสองด้าน และดินเป็นดินทรายทำให้เนื้อแห้ง รสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด เห็นว่าเส้นทางถนนทางหลวงชนบท ตร. 4008 หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ระยะทาง 6 กิโลเมตร ที่ตัดผ่านสวนทุเรียนจากบ้านแหลมศอกไปท่าเรือแหลมศอก-เกาะกูด แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก มีศักยภาพพัฒนาเป็นเส้นทางผลไม้ แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องสวนทุเรียนคุณภาพ โดยพัฒนาเป็น “Durian  Road @ Trat” ที่สามารถมาสัมผัสได้ตั้งแต่ฤดูกาลผลไม้ปี 2565 นี้

คุณประดิษฐ์ ดีทองอ่อน (ซ้าย) และ คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว

ดีสะหงาดเกษตรตราดทำจริง

คุณชยุทกฤดิ ยึดหลักทำงานว่า “ดีสะหงาดเกษตรตราดทำจริง” เล่าถึงไอเดียบรรเจิด พัฒนา “Durian Road @ Trat” หรือ “ถนนทุเรียนตราด” ว่าจากกระแสทุเรียนที่มาแรงมากในขณะนี้ เกษตรกรที่ปลูกเพิ่มขึ้นจำนวนมากทำให้คาดว่าผลผลิตจังหวัดตราดปีนี้ประมาณ 90,000 ตัน และตลาดจีนให้ความนิยมมาก ทำให้ราคาต้นฤดูเพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะที่ตำบลอ่าวใหญ่ ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมืองตราด ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ราคาผลผลิตระยะออกดอกสูงถึง 220 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากเป็นทุเรียนที่ออกก่อนพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันออก ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ติดทะเล พื้นดินเป็นดินทราย และการดูแลของเกษตรกรที่เป็นภูมิปัญญา จุดเด่นดังกล่าวถือเป็นศักยภาพของพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปเกาะกูดและเป็นแหล่งเรียนรู้สวนทุเรียนสำหรับผู้ที่สนใจและเกษตรกรทั่วไป

ถนนทุเรียน

จึงร่วมมือกับ คุณประดิษฐ์ ดีทองอ่อน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทตราด พัฒนาเส้นทาง “Durian Road @ Trat” ระยะทาง 6 กิโลเมตร ตามถนนหมายเลข 4008 ที่ตัดผ่านสวนทุเรียนไปท่าเทียบเรือแหลมศอก-เกาะกูด เป็นเส้นทางที่สวยงาม มีสวนเงาะ มังคุดแทรกกับสวนทุเรียน บางช่วงอยู่ติดทะเลมองเห็นทิวเขาชายแดนฝั่งกัมพูชา ชมไฮไลต์ “สวนทุเรียนริมเล” ที่สวยงามแปลกตา ตลอดเส้นทางมีป้ายถนนทุเรียน จุดชมวิว จุดชมสวน เชิญชวนให้แวะพักชัดเจน

คุณสมทรง และ คุณเพ็ญจันทร์ ประจวบเขต
คุณสำรวม เสือโสภา

สร้างสตอรี่ ปลูกจิตสำนึก จังหวัดตราดทุเรียนออกก่อน อ่อนไม่มี

คุณชยุทกฤดิ เล่าถึงเป้าหมายของการพัฒนาเส้นทางถนนทุเรียนตราด ที่บ้านแหลมศอก ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด ว่าจุดสำคัญคือการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน เกษตรกรที่นี่มักจะถูกกล่าวหาตัดทุเรียนอ่อนเพื่อให้ได้ราคาสูงมาตลอดทุกปี จึงคิดแก้ปัญหาโดยดึงเกษตรกรมาเป็นเครือข่ายและสร้างแกนนำเครือข่ายที่เป็นภูมิปัญญาเชี่ยวชาญเรื่องทุเรียนมาช่วยกัน สร้างจิตสำนึกไม่ตัดทุเรียนอ่อน สร้างการรับรู้การทำสวนทุเรียนที่ออกก่อนที่อื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจได้เห็นวิถีชีวิตของชาวสวนทุเรียน ตำบลอ่าวใหญ่ที่ดูแลเอาใจใส่ทำให้ทุเรียนออกก่อนและมีคุณภาพ โดยมีสวนทุเรียนแกนนำเครือข่าย 5-6 สวน เป็นแหล่งเรียนรู้ ต้นแบบขยายผลไปทั้งจังหวัดตราดอีก 6 อำเภอ เพื่อสร้างทุเรียนตราดให้มีคุณภาพมาตรฐานสากลที่ต่างประเทศยอมรับ

คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด (ซ้าย) และ คุณชยุทฤดิ นนทแก้ว

“Durian Road @ Trat” เป็นการสร้างสตอรี่ เพื่อปลูกจิตสำนึก ตอกย้ำว่า จังหวัดตราดทุเรียนออกก่อน อ่อนไม่มี โดยหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยกันดูแล การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย การดูแลตัดแต่งทรงพุ่ม การแต่งช่อดอก-ปัดดอก ทุกสวนมีมาตรฐาน GAP การทำบัญชี เกษตรกรต้องร่วมมือกัน มีแกนนำ 4-5 รายที่เป็นภูมิปัญญาด้านทุเรียนช่วยเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ได้จัดทำอีเว้นต์ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเปิดถนนสายทุเรียนเมื่อเดือนกันยายน และการปั่น…ปัดดอก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากปัดดอกไปแล้ว 100 วันทุเรียนจะแก่ตัดได้ประมาณมีนาคม 2565

แปรงปัดดอก
ปัดดอก

จากสภาพภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน จังหวัดตราดมีแผนกำหนดโซนการตัดทุเรียนเพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน แบ่งเป็น 3 โซน คือ โซน 1 ตำบลอ่าวใหญ่ ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมืองตราด เริ่มตัดวันที่ 5 มีนาคม 2565 โซน 2 ตำบลแพลมกลัด ตำบลตะกาง อำเภอเมืองตราด ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ เริ่มวันที่ 10 มีนาคม และโซน 3 ทั่วๆ ไป เริ่มวันที่ 20 มีนาคม รวมทั้งการตั้งด่านตรวจเข้มการตัดมีดแรก การแก้ปัญหาต้องใช้ทั้งปลูกจิตสำนึก มีวินัยและกฎหมายควบคุมประยุกต์ใช้

ทุเรียนออกก่อน

“ความตั้งใจไม่ขายทุเรียนอ่อน ถ้าร่วมมือกัน ระหว่างเกษตรกรเจ้าของสวน ล้งที่รับซื้อ เจ้าหน้าที่กำกับการส่งออก ปัญหาทุเรียนอ่อนจังหวัดตราดจะเกิดขึ้นไม่ได้ จังหวัดตราดพยายามรณรงค์อย่างจริงจัง หวังว่าปีนี้ จังหวัดตราดไม่ตัดทุเรียนอ่อน” คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวเสริมในกิจกรรมปั่น ปัดดอก

ปั่นสร้างจิตสำนึก ไม่ตัดทุเรียนอ่อน

เกษตรกรภูมิปัญญา เรียนรู้จากประสบการณ์ 30-40 ปี

คุณสมทรง ประจวบเขต “พี่ติ๊ด” วัย 55 ปี เล่าว่า ทำสวนทุเรียนที่ตำบลอ่าวใหญ่ กับ คุณเพ็ญจันทร์ ประจวบเขต “เจี๊ยบ” ภรรยา มา 30 ปี ปลูกทุเรียน 800 ต้น ให้ผลแล้วประมาณ 400 กว่าต้น พันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมีพันธุ์กระดุมที่ภรรยาได้รับการถ่ายทอดความรู้จากสวน คุณแม่สำรวม เสือโสภา “ป้าโต” ที่ทำทุเรียนกระดุมส่งออกเป็นคนแรกๆ ของตำบลอ่าวใหญ่ การทำสวนทุเรียนปัจจุบันยากกว่าเมื่อก่อนเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลง มีศัตรูพืชมากขึ้น ต้องรู้ใจทุเรียนว่าช่วงไหนต้องการน้ำ ปุ๋ย หรือมีโรคอะไร ต้องทำอย่างไรให้ทุเรียนมีคุณภาพ แม้มีคนงานช่วยก็ต้องเฝ้าดูแลใกล้ชิด แบบไม่ให้ไร้เงาเจ้าของทีเดียว เริ่มตั้งแต่ออกดอก การแต่งดอก ดอกบาน การปัดดอก การดูแลระหว่างผลแก่ และการตัดผลแก่ จึงจะได้ทุเรียนที่มีคุณภาพไม่มีอ่อน ผลผลิตที่มีคุณภาพ 50% มาจากสภาพธรรมชาติ สวนติดทะเล มีลมพัดเข้ามาจากฝั่งกัมพูชา สภาพดินทราย แต่อีก 50% อยู่ที่ฝีมือเจ้าของสวนดูแลเอาใจใส่

“กลางเดือนธันวาคมเป็นช่วงทุเรียนออกดอก เคล็ดลับคือต้องปัดดอกช่วยผสมเกสรตัวผู้-เมียที่อยู่ในดอกเดียวกันช่วยให้ผสมเกสรดีขึ้น ปีนี้ทุเรียนออกถึง 4-5 รุ่น ต้องเวียนปัดดอกไปแต่ละรุ่น การปัดต้องปัดดอกเม็ดกลมๆ ที่เริ่มบานและบานแค่คืนเดียว จะทยอยปัดให้ทั่วทั้งพวงไม่ให้เกิน 7 คืน ที่ต้องปัดกลางคืนเพราะละอองเกสรตัวผู้จะฟุ้งกระจายดี วิธีปัดจะใช้ไม้กวาดขนอ่อน ทำด้วยหญ้าคอมมิวนิสต์หรือขนกระต่าย ปัดเป็นรูปเครื่องหมายบวก ขวาไปซ้าย บนลงล่าง ให้เกสรตัวผู้กระจายฟุ้งผสมเกสรตัวเมียได้ทั่ว ผลทุเรียนจะสมบูรณ์ พูสวย 5 พูเต็ม ลูกใหญ่ขนาด 5-6 กิโลกรัม ตลาดต่างประเทศต้องการ ถ้าไม่ปัดดอกปล่อยให้แมลงผสมตามธรรมชาติจะติดพูน้อยและทรงลูกไม่สวยอาจจะงอ ราคาจะถูกลงเกือบครึ่ง และข้อดีของการปัดดอกทำให้รู้กำหนดวันเก็บเกี่ยวชัดเจน กระดุมเมื่อปัดดอกแล้ว 85-90 วัน หมอนทอง 100 วัน ปีนี้ทุเรียนตัดได้ต้นเดือนมีนาคม 2565 ปีนี้กระดุมมีพ่อค้ามาวางมัดจำเหมาดอกแล้วราคากิโลกรัมละ 220 บาท ตำบลอ่าวใหญ่ทุเรียนออกก่อน ขายได้ราคาสูง เพราะทุเรียนยังมีปริมาณน้อย ขณะที่ตลาดจีนต้องการ” คุณสมทรงและคุณเจี๊ยบ เผยเคล็ดลับ

“ลุงอิ๊ด” คุณบรรจง บุญวาที

 สวนทุเรียนริมเล ลุงอิ๊ด

“ลุงอิ๊ด” คุณบรรจง บุญวาที บ้านอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด วัย 68 ปี ประสบการณ์ทำสวนทุเรียนมาร่วม 40 ปี มีแปลงทุเรียนทั้งในตำบลห้วงน้ำขาวและตำบลอ่าวใหญ่ ที่เป็นทุเรียนแปลงใหญ่ออกก่อนเช่นกัน เล่าว่า หลังจากทำทุเรียนแปลงที่ราบประสบความสำเร็จ 4-5 แปลง มีทุเรียน 2,000 ต้น ให้ผลแล้ว 3 แปลง และอีก 2 แปลงกำลังจะให้ผล 1-2 ปีนี้ ต้องการทำทุเรียนแปลงใหม่ “ทุเรียนริมเล” โดยใช้พื้นที่นากุ้งเดิม 30 ไร่ ปลูกหมอนทองไปแล้ว 600 ต้น คาดว่าประมาณ 5-6 ปีจะให้ผล ท่ามกลางสายตาคัดค้าน “ทุเรียนน้ำเค็ม” กูรูทุเรียนอย่าง “ลุงอิ๊ด” มั่นใจถึงความเป็นไปได้

สวนทุเรียน-นากุ้ง

มุมสูงยอดทุเรียน วิวริมทะเล ทะลุเขาชายแดน

ลุงอิ๊ดเล่าถึงแรงบันดาลใจ “สวนทุเรียนริมเล” ว่า ช่วง 2-3 ปีก่อน มีนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ มาเที่ยวเกาะกูดและแวะมาเที่ยวชมสวนทุเรียน บางคนเป็นระดับเจ้าสัวของไทย นักท่องเที่ยวต่างประเทศบินตรงจากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาดูสวนทุเรียนโดยเฉพาะ เพราะที่ ตำบลห้วงน้ำขาว อ่าวใหญ่ มีชื่อเสียงทุเรียนออกก่อน แก่จัด รสชาติอร่อย เนื้อแห้ง จึงคิดทำสวนทุเรียนในนากุ้งที่เป็นที่ต่ำจะได้มุมมองสวนทุเรียนจากยอด น่าจะสวยงามแปลกตา ไม่มีที่อื่นและทิวทัศน์ไกลออกไปเห็นทะเลและภูเขาบรรทัด ชายแดนกัมพูชา จุดนี้จะเป็นแลนด์มาร์กที่เป็นจุดชมวิวสวนทุเรียนที่สวยที่สุด และปรับลานกว้างกว่า 10 ไร่ที่เป็นที่สูงเป็นลานจอดรถ

สวนทุเรียน มุมสูง

แหล่งน้ำถึง ยกรอน ยกโคน เสริมปุ๋ย

ลุงอิ๊ดเล่าถึงการบริหารจัดการ ดังนี้ เรามาจาก 1. การถมบ่อกุ้งให้เต็ม ให้สูงกว่านากุ้งข้างๆ ที่ยังมีคนทำอยู่ 2. การทำสระน้ำ แบ่งพื้นขุดสระน้ำไว้ 2 บ่อ บ่อละ 1 ไร่ครึ่ง ใช้ท่อระบายน้ำออกจากสระลงทะเลช่วงน้ำฝนมากไม่ให้น้ำเอ่อท่วมแปลงทุเรียน 3. การทำร่องน้ำด้านติดกับนากุ้ง ด้านทะเลกั้นน้ำเต็มเข้าแปลงทุเรียนและปล่อยน้ำระบายจากนากุ้ง 4. การยกรอนระหว่างแถวทุเรียน การปลูกทุเรียนใช้ระยะ 10×10 เมตร การยกรอนช่วยให้มีช่องระบายน้ำ 5. การยกโคก ใช้หน้าดินที่อุดมสมบูรณ์มาใส่โคนให้สูงขึ้น และ 6. การดูแล บำรุงต้น ต้องใส่ปุ๋ยและดูแลมากกว่าการปลูกบนพื้นที่ราบ

ร่องน้ำกั้นน้ำเค็ม

“มั่นใจเพราะเป็นที่สูง รากทุเรียนส่วนใหญ่หากินหน้าดิน ไม่ได้ลงดินลึกแค่ 1 เมตร ไม่ถึงน้ำเค็ม และน้ำในสระน้ำระดับน้ำสูงกว่าจะดันน้ำเค็มออกไป แหล่งน้ำจืดขนาด 3 ไร่ มีน้ำตลอดปี เพียงแต่ต้องลงทุนสูง ถมดินในบ่อกุ้งหมดไป 10 กว่าล้านบาท และให้ผลอาจจะช้ากว่าที่ราบ คาดว่า 5 ปีจะได้ผล ปลูกไปปีเศษมีตายบ้างต้องปลูกแซมเพราะถมดินเสร็จปลูกเร็วไป มีละอองดินเค็มปะปน จริงๆ ต้องทิ้งไว้เป็นปี รอฝนปีนี้ให้ต้นรัดดี ถ้าหลุมที่ปลูกเหลือ 2 ต้น ใช้ต้นทาบกันได้ทำให้ต้นแข็งแรง” ลุงอิ๊ด เล่าอย่างอารมณ์ดี