เผยแพร่ |
---|
การเรียนรู้ที่จะใช้ของที่มีอยู่เดิมนำมาต่อยอดด้วยแนวคิดที่จะสร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นสิ่งใหม่ หรือที่เรียกว่า นวัตกรรม สิ่งเหล่านี้คือ การสร้างจุดกึ่งกลางระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมและแนวคิดสมัยใหม่ ทำให้อดีตช่างตัดเย็บเสื้อผ้าขายส่งย่านประตูน้ำ ที่ธุรกิจล้มเหลวเนื่องจากพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้หวนกลับสู่บ้านเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา ใช้พื้นที่เล็กๆ บริเวณบ้าน สร้างสิ่งใหม่ ด้วยการนำผ้าไหม มาวาดลาดลายบาติก ลายเส้นสีสะท้อนเสน่ห์แบบอีสาน ภายใต้แบรนด์ชื่อ ‘ฅญา’
คุณชนัญญา ดรเขื่อนสม เจ้าของแบรนด์ ‘ฅญา’ บอกว่า หลังจากประสบพิษเศรษฐกิจในปี 2540 ก็กลับบ้านมาเปิดร้านตัดเสื้อเล็กๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่นิยมมาตัดชุดผ้าไหม หวังจะใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง จึงได้มีโอกาสเข้าอบรมการทำผ้าบาติก จนเกิดเป็นแนวคิดการนำผ้าไหมมาวาดลายบาติกขึ้น โดยเน้นการออกแบบลวดลายให้สะท้อนวิถีอีสานอันเป็นเอกลักษณ์ อาทิ ลายดินแห้งแล้งแตกระแหง ลายใบไม้ ดอกไม้ แล้วนำไปเสนอลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็ชื่นชอบ รวมถึงผู้ที่พบเห็นก็เกิดการบอกกล่าวกันปากต่อปาก จึงทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก
เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จึงได้ส่งต่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ไปสู่ชุมชนในพื้นที่ โดยการแบ่งปันงานตามความถนัดของแต่ละบ้าน การจัดสรรงานตามความชำนาญงานฝีมือแต่ละประเภทอย่างเป็นระบบ ใครที่มีความถนัดเย็บจะมีการจ้างงานเย็บเพียงอย่างเดียว ใครถนัดทอผ้าก็ทอผ้า หรือแม้กระทั่งการเขียนลาย ซึ่งมีอัตราการจ้างต่อชิ้นในราคาที่ยุติธรรม
การผลิตสินค้าด้วยความชำนาญในทุกขั้นตอน ที่มุ่งเน้นการไม่ใช้ต้นทุนเป็นตัวเงิน แต่ใช้วัตถุดิบที่มีจากแต่ละท้องที่ เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ที่มั่นคงถาวร ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในด้านต้นทุนการผลิตได้ ถือเป็นการสร้างฐานรากทางอาชีพให้คนในพื้นที่ได้ใช้ภูมิปัญญาและวัตถุดิบที่ตนเองมีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วยความภาคภูมิใจ
ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “ฅญา” เป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้ผ้าไหม 100 % ใส่ลวดลายบาติก และตัดเย็บเป็นสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ หมอนรองคอ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมอนอิง และกระเป๋าคล้องมือ ราคาเริ่มต้นที่ 450-3,000 บาท โดยสินค้าทุกชิ้นเน้นการออกแบบและลงสีให้สะท้อนเอกลักษณ์วิถีชีวิตตามแบบฉบับคนอีสาน
ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นผลงานที่เห็นในปัจจุบันนั้นต้องอาศัยความอดทนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง จนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จที่ปัจจุบัน ‘ฅญา’ กลายเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปขึ้นเครื่อง ที่มียอดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หมอนรองคอสัปดาห์ละ 500 ชิ้น จัดวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี KING POWER ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น และโอกาสข้างหน้าจะมีการขายในระบบ e-commerce ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างมากในขณะนี้
และรางวัลที่การันตีผลงานให้ “ฅญา” ก้าวสู่การเป็นสินค้าโอทอปที่มีวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี KING POWER และจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกบนเครื่องบินของสายการบินไทยที่ถูกใจทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ นั่นคือ การได้รับคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ประจำปี พ.ศ.2559 ซึ่งสนับสนุนโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
‘ฅญา’ เปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนในชุมชนตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าโอทอป ด้วยแนวคิดเชิงนวัตกรรม ต่อยอดจากภูมิปัญญา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นต่อไป