ฮูปแต้มบนผนังสิม วัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น

ฮูปแต้มบนผนังสิม วัดสระบัวแก้ว บ้านวังคูณ ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เป็นภาพเขียนจิตรกรรมบนฝาผนังที่ปรากฏอยู่ภายนอกสิมทั้ง 4 ด้าน พร้อมทั้งตัวอักษรกำกับไว้เป็นฝีมือการวาดของกลุ่มศิลปินพื้นบ้านจากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม มี จารย์น้อย จารย์กึ จารย์กองมา และจารย์พรหมมา ได้วาดภาพที่ชาวอีสานเรียกว่าฮูปแต้มสีธรรมชาติ ประเภทขมิ้น ครั่ง ชาตรี ดินสอพอง ไขมันสัตว์ เป็นต้น มาคลุกเคล้าผสมกันแล้วบรรจงแต้มบนฝาผนัง สิม หรือโบสถ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าจะได้กุศลยิ่ง

พระครูวิบูลย์สารการ หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดสระบัวแก้ว

แต่เดิมสิมหรืออุโบสถของวัดสระบัวแก้ว เป็นสิมน้ำสร้างด้วยไม้อยู่ในหนองบริเวณด้านใต้ของวัด ต่อมาในสมัยที่หลวงปู่ผุย หรือพระครูวิบูลยพัฒนายุต เป็นเจ้าอาวาสได้คิดสร้างสิมบกขึ้นแทนสิมน้ำที่เริ่มชำรุด ได้ร่วมกับชาวบ้านวังคูณขุดลอกสระนำดินมาถมปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างสิม

ประตูเข้าออกสิม พบภาพปั้นสิงห์อยู่เชิงบันไดทั้งซ้ายขวา

ลักษณะสถาปัตยกรรมโครงสร้างนั้น เป็นสิมแบบก่อผนังด้วยอิฐถือปูน โดยนำแบบมาจากวัดบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นลักษณะสิมทึบ มีประตูทางเข้าออกเพียงด้านเดียว มีช่องหน้าต่างบริเวณผนังด้านข้าง ด้านละสองช่อง บริเวณเชิงบันไดทางเข้าสิม มีรูปปั้นสิงห์ครึ่งตัวหมอบราบอ้าปากอยู่สองข้างบันได การก่อสร้างได้นำวัสดุมาจากธรรมชาติ มีดินโพน แกลบเผา ดินทรายหาด หินปูน หินลูกรัง ขี้เถ้า ยางบง เป็นต้น ได้ก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ. 2474-2477

แต่เมื่อสืบค้นประวัติการก่อสร้างตั้งวัดนั้นได้ดำเนินการก่อตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2460 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 มีเจ้าอาวาสหลายรูปสืบต่อกันมา จนถึงหลวงพ่อพระครูวิบูลย์สารการ ตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอหนองสองห้องเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

เรื่องราวฮูปแต้มที่ปรากฏบนฝาผนังสิมภายนอกเป็นเรื่องพระลัก-พระลาม ฉบับลาว และวิถีการดำรงชีพของผู้คนในยุคนั้น เช่น การทำคลอดด้วยหมอตำแย พิธีฮดสรง (สรงน้ำ) เป็นต้น โดยมีอักษรธรรมเขียนเล่าเรื่องไว้ ที่ได้รับความนิยมเผยแพร่เข้ามาในภาคอีสานของไทย มีหลายตอนที่ปรากฏ เช่น ตอนกำเนิดยักษ์ทศกัณฐ์ หรือท้าวลุมลู่ ตอนกำเนิดนางสีดา นางสีดาลอยแพ กำเนิดทรพี ทรพา สุครีพ พะลีจัน เป็นต้น

ภาพพระสิทธิธัตถะออกบวช มีนางเทพยดากำลังยอตีนมาแล (ยกตีนม้า)

ส่วนภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่บนผนังด้านในสิมนั้น เป็นเรื่องราวพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชจนถึงปรินิพพาน เรื่องราวในพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวถึง นรก สวรรค์ รวมถึงเรื่องราว “สินไซ” หรือ สังข์ศิลป์ชัย อันเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง แม้ตัวอักษรประกอบภาพนั้นส่วนใหญ่เป็นตัวอักษรธรรม ก็ตาม แต่มีอักษรไทยน้อยปะปนอยู่บ้าง บางภาพเป็นอักษรที่น่าจะเขียนขึ้นใหม่ ด้วยภาษาที่รับรู้ได้ในปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพการแต่งกายที่ปรากฏในประเพณี พิธีกรรม ซึ่งอยู่ที่ผนังด้านนอกตรงประตูทางเข้าสิม

พระประธานในสิม

อย่างไรก็ดี เรื่องราวรายละเอียดของภาพจิตรกรรมบนฝาผนังได้นำมาเล่าขานขยายความเพิ่มรายละเอียดสืบต่อกันมา เป็นต้นว่า นิทานเรื่องกำเนิดทศกัณฐ์ ท้าวลุมลู่ หรือท้าวสะดุ้นกุ้น เล่ากันว่า

ภาพพุทธประวัติในลักษณะต่างๆ

มีชาวนาคนหนึ่ง ชื่อตากวนนา มีภรรยาที่ท้องแก่ใกล้คลอด อยู่ต่อมาไม่นาน นางก็ให้กำเนิดบุตรชาย ที่รูปร่างไม่ค่อยสมประกอบ แขน 2 ข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน อ้วนกลมดังกับถังน้ำ เตี้ยม่อต้อ พ่อแม่จึงตั้งชื่อว่าท้าวลุมลู่ หรือสะดุ้นกุ้น ถึงจะมีรูปร่างอย่างไรพ่อแม่ก็รัก ด้วยความเมตตากรุณาและสงสาร เลี้ยงดูมาจนเจริญวัย แม้ว่าร่างกายจะไม่สมบูรณ์แต่ก็เป็นคนเฉลียวฉลาด

เมื่อถึงฤดูทำนา ตากวนนาได้นำควายออกไปไถนาฮุด หรือไถดะ เป็นการเริ่มลงไถเป็นครั้งแรก ในขณะที่ตากวนนากำลังไถนา มีพระอินทร์ขี่ม้ามาจากสวรรค์ลงมาที่ท้องนาแล้วพูดกับตากวนนา ว่า

“ข้าจะขอถามปัญหาเจ้า 3 ข้อ ดังนี้ ข้อแรก วันนี้เจ้าไถนาได้กี่รอย ข้อที่สอง ควายเจ้าเดินได้กี่ก้าว ข้อที่สาม ก้อนขี้ไถได้กี่ก้อน”

ชาวนาไม่สามารถตอบคำถามได้ พระอินทร์จึงบอกว่า “วันหลังข้าจะมาถามเจ้าอีก ถ้าตอบไม่ได้เจ้าเดือดร้อนแน่”

วันใดที่ตากวนนานับถอยไถ พระอินทร์ก็จะไม่ลงมาถาม วันใดที่ลืมนับรอยไถ พระอินทร์ก็จะมาถามเป็นเช่นนี้เรื่อยมา ทำให้ตากวนนามีความทุกข์ใจมาก จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับภรรยา ภรรยาเองก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน เอาแต่ร้องห่มร้องไห้ เสียใจในโชคชะตาของตนเอง

การต่อสู้ของสินไซ

ขณะที่พ่อกับแม่ปรึกษากัน ท้าวลุมลู่ได้ยินก็บอกพ่อกับแม่ว่า “ไม่ต้องวิตกกังวลใจ เอาข้าไปนาด้วย ข้าจะไปตอบปัญหาพระอินทร์เอง”

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น ตากวนนาก็นำท้าวลุมลู่ไปนาด้วยทุกวัน วันหนึ่งพระอินทร์ก็ลงมา ท้าวลุมลู่นอนขวางทางพระอินทร์ไว้ พระอินทร์จึงถามว่า “เจ้าเป็นใครจึงมานอนขวางทางเราเช่นนี้”

ท้าวลุมลู่ตอบว่า เราเป็นลูกชายของตากวนนา เราอยากจะขอถามปัญหาท่าน ถ้าท่านตอบได้จึงจะหลีกทางให้ไปถามปัญหาพ่อเรา เราจะถามท่านว่า ข้อแรก ม้าของท่านเดินทางมาจากสวรรค์ได้กี่ก้าว ข้อที่สอง ท่านผ่านก้อนเมฆมากี่ก้อน ข้อที่สาม ท่านผ่านต้นไม้มากี่ต้น พระอินทร์ไม่สามารถตอบคำถามของท้าวลุมลู่ได้ พระอินทร์จึงไปขอท้าวลุมลู่กับตากวนนาเพื่อไปชุบตัวใหม่ให้งดงาม จากนั้นพระอินทร์จึงนำท้าวลุมลู่ไปบนสวรรค์ด้วย

พระอินทร์นำท้าวลุมลู่ไปชุบตัวในบ่อศักดิ์สิทธิ์หลายๆ บ่อ แต่ไม่ถูกใจท้าวลุมลู่ทุกครั้งไป พระอินทร์จึงพาไปชุบตัวในบ่อของพระอินทร์ ส่งผลให้รูปร่างหน้าตาของท้าวลุมลู่เหมือนพระอินทร์มาก ท้าวลุมลู่จึงได้ลักลอบเข้าเล่นชู้กับนางสุชาดา ภรรยาพระอินทร์ ซึ่งนางเองก็มิได้เฉลียวใจ ครั้นพระอินทร์จับได้โกรธมาก จึงส่งท้าวลุมลู่ให้มาเกิดเป็นยักษ์ชื่อ ฮาบมะนาสวน (ราพพนาสูรย์) หรือยักษ์ทศกัณฐ์นั่นเอง พร้อมกับสาปส่งนางสุชาดาให้มาเกิดเป็นนางสีดา ส่วนพระอินทร์ก็มาเกิดเป็นพระราม เป็นต้น

พระครูวิบูลย์สารการ หลวงพ่อเจ้าอาวาสเล่าให้ฟังด้วยความรู้สึกขมขื่นลึกๆ ว่า ไม่ค่อยมีชาวบ้าน หรือ อบต. ตลอดจนครู นักเรียน ใส่ใจเรื่องมรดกล้ำค่าชิ้นนี้นัก แม้จะรับปากว่าจะมาช่วยดูแลจัดการ ก็ดูยังเนือยๆ ทั้งๆ ที่หลวงพ่อได้หาเงินสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังโต พร้อมทั้งเสาะแสวงหาสิ่งของล้ำค่านับพันชิ้นมาเก็บรักษาไว้ แต่ก็ยังมิได้จัดกระทำแยกหมวดหมู่ ดูรกรุงรัง สกปรก เลอะเทอะไปหมด

วัตถุบางชิ้นก็วางไว้นอกอาคาร เสื่อมสภาพไปอย่างไร้คุณค่า ชุมชนและองค์กรต่างๆ ในบ้านวังคูณ น่าจะหันมาใส่ใจมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ไปพร้อมๆ กับศิลปกรรมฮูปแต้มบนผนังสิมโบราณซึ่งเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของผู้คนบ้านวังคูณในปัจจุบันด้วย