“ภูธง” อีกตำนานหนึ่งในป่าดงสีฐาน ที่มีเพื่อนต่างภูอยู่รายรอบ

เมื่อครั้งพ่อท้าว นางชาดา พ่อเฒ่าไชยสาน นางใหญ่ ท้าววงศ์คำจันทร์ นางน้อย ได้พาครอบครัวอพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองวังอ่างคำ อาณาจักรล้านช้าง ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างพากันข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนสยามบริเวณเชิงภูเมืองมุกดาหาร จนได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนขึ้นบริเวณบ้านโพนาทา หรือหนองสระพัง บ้านนางาม หรือบ้านโพนงาม

ในช่วงต่อมา พ่อเฒ่าพา พ่อเฒ่าอุปรี ตาจ่า ตาหมี ได้นำพาครอบครัวราว 10 ครัวเรือน มาตั้งบ้านขึ้นใหม่บริเวณเนินริมแอ่งน้ำ ซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เรียกกันว่า “บ้านนาโนน” เป็นพื้นที่ดอนอยู่ทางทิศเหนือของบ้านตูมหวาน พื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่ารกทึบ มีไม้เต็ง รัง ประดู่ แดง ตะเคียน เป็นต้น ที่สำคัญมีต้นมะตูมขึ้นปะปนอยู่เป็นหย่อมๆ เป็นมะตูมที่มีลูกขนาดเท่าไข่ไก่ เมื่อสุกผลสีเหลือง มีรสหวานหอมเป็นพิเศษ

หลวงตาสอน วัดศรีโพธิ์ทอง ได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า การเข้ามาอยู่ที่บ้านนาโนนในระยะแรก มีผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายอยู่เสมอ ผู้เฒ่าของหมู่บ้านจึงได้ทำพิธีเซ่นสรวง “ผีเจ้าที่” เพื่อบอกกล่าวเสี่ยงทายว่า เจ้าที่จะอนุญาตให้มาอยู่อาศัยที่นี่ได้หรือไม่ โดยผู้นำได้ทำพิธีปักไม้ยาวประมาณ 1 คืบ ลงบนพื้นดินแล้วใช้ข้าวสารกองรวมไว้รอบๆ ไม้ จากนั้นเย็บใบตองเป็นกรวยครอบทิ้งไว้ตลอดคืน เพื่อบอกกล่าวผีเจ้าที่และเสี่ยงทายการเข้ามาอยู่อาศัย

ครั้นถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ จึงมาเปิดกระทงที่ครอบข้าวสารไว้ ปรากฏว่าข้าวที่กองไว้รอบๆ ไม้นั้นถูกเขี่ยกระจัดกระจายไปทั่ว ผู้เฒ่าจึงสันนิษฐานว่า ผีเจ้าที่ไม่อนุญาตให้อยู่ หากขืนอยู่ต่อไป ก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย และล้มตายตามความเชื่อเรื่อง “ผีเข็ด”

ผู้คนทั้งหมดจึงได้ย้ายหมู่บ้านลงมาทางทิศใต้ของกุด เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านกุดตูมหวาน” ประกอบด้วยคุ้มหนองเอี่ยนด่อน คุ้มดอนป่าติ้ว คุ้มโนนป่าแดง คุ้มนาเหงี่ยงโง้ง คุ้มโนนกกบก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นหย่อมๆ ต่างพร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ผืนดินถูกบุกรุกเป็นที่นาไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ผู้คนได้ตั้งถิ่นฐานสร้างครอบครัว มีสมาชิกมากขึ้น จึงได้แบ่งแยกออกเป็นหลายหมู่บ้านเริ่มในปี พ.ศ. 2513 แยกเอาคุ้มโนนป่าแดง คุ้มดอนป่าติ้ว คุ้มนาเหงี่ยงโง้ง และคุ้มโนนกกบก ออกมาเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน ใช้ชื่อว่า “บ้านโนนป่าแดง” ถึงปี พ.ศ. 2518 ได้แยกเอาคุ้มนาเหงี่ยงโง้งกับคุ้มโนนกกบกออกมาเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน ตั้งชื่อว่า “บ้านนาดอกไม้”

อย่างไรก็ตาม บ้านตูมหวาน บ้านโนนป่าแดง และบ้านนาดอกไม้ ทั้งสามหมู่บ้านนี้ผู้คนยังเรียกกันติดปากว่า “ชุมชนตูมหวาน” เพราะล้วนเป็นเครือญาติกันมาแต่เดิม ร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันทุกคน

ผู้นำหลายคนในยุคหลังๆ ต่างคิดคำนึงย้อนอดีตถึงผู้คนรุ่นแรกๆ ที่ได้แสวงหาทำเลอยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน เป็นที่ราบลุ่มรอบเชิงเทือกภูพาน ที่เรียกกันว่า “ป่าดงสีฐาน” ซึ่งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ อดีตผู้ใหญ่หลายคนมี นายเอี่ยม มงคล นายหวา ปัทวงศ์ นายไทย มงคล นายอุ่น สุขรี่ ต่างช่วยกันร่างระเบียบกติกา ในปี พ.ศ. 2542 ตามที่คิดไว้ว่าจะแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทำลายผืนป่า

ขณะเดียวกันนี้เอง พระครูสังฆรักษ์กิตติมา นันโท พระนักพัฒนาได้นำพาชาวบ้านสร้างลานปฏิบัติธรรมขึ้นบนที่ราบยอดภู ชักชวนชาวบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันปลูกป่าเพื่อความร่มเย็น จึงเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าขึ้น เกิดการรวมกลุ่มเป็นคณะกรรมการรักษาป่า ทั้งเชิงภูและบนภูอย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับได้ทำเรื่องเสนอขอพื้นที่ป่า เพื่อจัดตั้งเป็นป่าชุมชน มีพื้นที่ราว 6,000 ไร่ เป็นพื้นที่รายรอบเชื่อมโยงกับป่าใหญ่ดงสีฐาน ที่มีพื้นที่นับหมื่นไร่

อันที่จริง ภูธงหรือป่าชุมชนผืนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกภูพาน มียอดสูงกว่ายอดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น ภูตูม ภูหวาย ภูโหล่น ภูผักหวาน เป็นต้น

ทิศเหนือของป่าชุมชนหรือภูธง มีอาณาบริเวณติดกับแนวภูโหล่น ภูศาลา ไปจนถึงภูไก่เขี่ยในอำเภอดงหลวง ทิศใต้ติดกับเชิงเขาแม่นางม่อนหรือภูผาซาน ทิศตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาและทุ่งนา สามารถมองเห็นทิวเขาในเมืองสะหวันนะ เขตของอาณาจักรล้านช้าง ทิศตะวันตก ติดกับภูวัด ภูหวายตลอดแนว ภูธงมีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 400 เมตร

ความเป็นมาของชื่อ ภูธง นั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หลังจากชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว พระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านต่างพากันขึ้นไปบนภู เพื่อเกี่ยวหญ้าคานำมามุงกุฏิศาลาในวัด ต้องนอนพักแรมอยู่ที่ “ลานหญ้า” บนภูหลายคืน เมื่อเกี่ยวหญ้าได้มากพอแล้ว ก่อนจะลงจากภูได้นำผ้าผลัดอาบน้ำผูกกับไม้ทำเป็นธง นำขึ้นไปมัดไว้ที่ยอดไม้บนภู เพื่อแจ้งให้ชาวบ้านรู้ว่า การเกี่ยวหญ้าเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อสื่อสารให้ชาวบ้านไปช่วยกันแบกหาบลงมา

ผ้าที่โบกสะบัดอยู่บนภูมองเห็นได้จากที่ไกลตา เป็นที่รู้กันว่าถึงช่วงเวลาต้องไปช่วยกันหาบหญ้าคาลงมาจากภู จึงเรียกภูลูกนี้ว่า “ภูธง” มาจนทุกวันนี้

ถ้ายืนอยู่บนหน้าผาของภูธงแล้ว สามารถแลเห็นทุ่งนาสลับกับหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ และทัศนียภาพโดยรอบของจังหวัดมุกดาหาร แนวภูเขาที่ยืนเรียงรายล้อมรอบ ต่างทอดยาวไปจนถึงอำเภอคำชะอี

ปัจจุบันบ้านนาดอกไม้ มี 160 ครัวเรือน บ้านโนนป่าแดง มี 115 ครัวเรือน บ้านตูมหวาน มี 131 ครัวเรือน ทั้งสามหมู่บ้านอยู่ในเขตการปกครองของตำบลโพนงาม อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร