เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าผ้าชุมชน

“ผ้าปาเต๊ะ” นับเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ โดยนิยมใช้ผ้าปาเต๊ะ เป็นผ้านุ่งสำหรับสตรี ผ้าปาเต๊ะลวดลายผ้าบาติกเกิดจากการเขียนเทียนร้อนๆ ด้วยเครื่องมือ ทำให้ผ้ามีลวดลายและสีสันจากการย้อม ปัจจุบันมีการนำผ้าปาเต๊ะสู่กระบวนการผลิตในงานอุตสาหกรรมแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายผ้าปาเต๊ะ มีการใช้ผ้าปาเต๊ะอย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่เหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย  

โคมไฟผ้าปาเต๊ะ “พับพอง”

 

โคมไฟผ้าปาเต๊ะ “พับพอง”

นักศึกษา ปวช.1 การออกแบบ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย นายณัฏภูมิ คงเหล่ นางสาวพิมญาดา สมศรี และ ครูที่ปรึกษา นางสาวพัชรีวรรณ พัฒน์ทองสุข และ อาจารย์สามารถ เนียมมุนี ต่างเล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าของผ้าปาเต๊ะ จึงร่วมกันออกแบบ โคมไฟผ้าปาเต๊ะ พับพอง เพื่อเป็นโคมไฟของตกแต่งภายในที่พักอาศัย รวมทั้งเป็นของฝากที่ระลึกให้กับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

โคมไฟผ้าปาเต๊ะ “พับพอง” เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์ ใช้เทคนิคการสร้างสรรค์รูปทรงด้วยกรรมวิธีการพับ จีบ รีดด้วยความร้อน ออกแบบแพตเทิร์นรูปทรงที่ทันสมัย โชว์ลวดลายของผ้าปาเต๊ะ พร้อมเสริมแสงไฟสว่างสีนวล สบายตา สร้างบรรยากาศอบอุ่นภายในที่พักอาศัย สะดวกปลอดภัยต่อการใช้งาน ผู้สนใจสามารถชมผลงานดังกล่าวได้ทางคลิปวิดีโอ : https://youtu.be/P-ErHBCa5xc

รายละเอียดโครงการโคมไฟผ้าปาเต๊ะ “พับพอง”

โคมไฟผ้าปาเต๊ะ “พับพอง” ที่มีเอกลักษณ์จากผ้าปาเต๊ะโดดเด่นสะดุดตาได้รับรางวัลนักประดิษฐ์เยาวชน (Young innovation award) รางวัลพิเศษจากนวัตกรรมพลเมืองของประเทศสิงคโปร์ และรางวัลผลงานระดับเหรียญเงิน ในโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม I-NEW GEN AWARD 2023 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เวทีกลาง Event Hall 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ

นักศึกษาเจ้าของผลงานโคมไฟผ้าปาเต๊ะ “พับพอง”

ภายในงานเดียวกันนี้ ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ยังได้รับรางวัล Popular Vote ระดับเหรียญเงิน ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มการท่องเที่ยว ผลงาน : ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกตุ๊กตาระบำศรีวิชัยในรูปแบบประจักษ์ทัศน์ย่อส่วน และรางวัลระดับเหรียญทอง ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ผลงาน : แอปพลิเคชั่นเกมรูปแบบความเป็นจริงเสมือนแบบติดตั้งร่วมกับอุปกรณ์แสดงผลแบบพกพาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพการรู้คิดของผู้สูงอายุที่มีภาวะความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม “เรื่องเล่าของกระถิน”

รับรางวัลในงานประกวด “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา”

นอกจากนี้ คณะครู และนักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานียังคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จากผลงาน : ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเส้นไข่ขาวจากไข่เค็มดิบไชยาพร้อมน้ำยา ในงาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2565 ระดับชาติ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ระหว่างวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี สนองนโยบาย “การพัฒนาคุณภาพนักเรียน นักศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ” และเป็นการเตรียมพร้อมของกำลังคนอาชีวศึกษา เข้าสู่การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ประเทศไทย 4.0

DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายระดับชุมชน

DWM เครื่องฟอกย้อม

และล้างเส้นด้ายระดับชุมชน

กลุ่มแม่บ้านที่ทำอาชีพฟอกย้อมสีผ้าฝ้ายและผ้าไหมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักประสบปัญหาคุณภาพสินค้าเพราะการย้อมสีแบบดั้งเดิมทำให้เส้นด้ายมีคุณภาพสีไม่สม่ำเสมอแล้วชาวบ้านยังประสบปัญหาด้านสุขภาพเพราะต้องยกเส้นด้ายขึ้นลงเพื่อย้อมสี ตลอดช่วงเวลาการฟอกย้อมประมาณ 30-40 นาที ทั้งเสี่ยงเจอปัญหาสารเคมีตกค้างในร่างกายเพราะต้องใช้มือทำงานสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นสีฟอกย้อม เมื่อทำการล้างสีออกจากเส้นด้ายที่ดูดซับสีไม่หมดออกด้วยน้ำสะอาด

ทีมวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ ประกอบด้วยนักศึกษาและอาจารย์ ได้แก่ นางสาวปิยะวรรณ สินชู นางสาวกานต์สินี สุทธิ์ฤทธิ์ นางสาวอภิญญา บางสวนหลวง และครูที่ปรึกษา คือ อาจารย์ศักนรินทร์ ผิวเหลือง และ อาจารย์ชัชวาลย์ อานนท์ ต่างตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมกันพัฒนาและออกแบบ “DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายระดับชุมชน” ซึ่งมีขั้นตอนการฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายโดยใช้ถังสแตนเลสร่วมกันแล้ว ระบบนวัตกรรมนี้ยังถูกออกแบบให้ประหยัดน้ำและสีย้อมอีกด้วย

จุดเด่นของ DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายระดับชุมชนคือ ใช้ระบบกลไกการฟอกย้อมที่ออกแบบให้หมุนและหยุดสลับกันตลอดช่วงเวลาการทำงานระบบการฉีดเพื่อล้างเส้นด้ายหลังการฟอกย้อมเสร็จ นวัตกรรมนี้ สามารถฟอกย้อมได้ทั้งเส้นด้ายไหมและฝ้าย ครั้งละ 9 ปอยด้ายหรือ 54 ไจ อุปกรณ์ชิ้นนี้ ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้พลังงานความร้อน จากแก๊ส LPG หรือเชื้อเพลิงชีวมวลก็ได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถตั้งเวลาการฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายได้ตามที่ต้องการ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถประกอบอาชีพการย้อมสีผ้าได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตอบโจทย์การทำงานของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยได้อย่างดี

นักศึกษาเจ้าของผลงาน

ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่นของผลงาน DWM เครื่องฟอกย้อมและล้างเส้นด้ายระดับชุมชน ทำให้นวัตกรรมชิ้นนี้ ผ่านการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดหนองบัวลำภู ประจำปีการศึกษา 2565 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 สิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มที่ 1 การเกษตร ในการประกวดเวที Thailand New Gen Inventors Award : I-New Gen Award 2023 หากใครสนใจนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถติดตามชมผลงานได้ทางคลิปวิดีโอ : https://drive.google.com/file/d/1j_mhhRjwSGQUc34qa23bAHP4USCUwO_a/view?usp=sharing

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก เฟซบุ๊ก วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)