ส่อง 8 สมุนไพร ช่วยไล่ยุง ฉุนสะใจ ยุงไม่ขอใกล้

“ยุง” มักสร้างความรำคาญให้กับคนในบ้านไม่น้อย บินวนรอบตัวเราตลอดเวลา และยังเป็นพาหะตัวร้ายของโรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย หรืออื่นๆ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านรวบรวม 8 สมุนไพรไล่ยุง เป็นทางเลือกจากธรรมชาติที่ช่วยป้องกันยุงไม่ให้เข้ามาในบริเวณบ้าน จะมีสมุนไพรชนิดไหนกันบ้างมาดูกันเลย

ขอบคุณภาพจาก สุขภาพดี
ขอบคุณภาพจาก สุขภาพดี

1. ตะไคร้หอม (คนทนได้ แต่ยุงไปก่อน)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon nardus (L.) Rendle

ชื่อวงศ์ : POACEAE

ชื่ออื่นๆ : จะไคมะขูด ตะไคร้แดง ตะไครมะขูด

ข้อมูลทั่วไป มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

สรรพคุณทางยา

– ราก แก้แผลในปาก

– เหง้า เป็นยาบีบมดลูก ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ ขับระดู ขับลมในลำไส้

– เหง้าและใบ มีน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นน้ำหอม สบู่ มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ใช้เป็นยากันยุงและเข้ายาอบ

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ไล่ยุง มีสารที่สำคัญคือ Citronellal และ Geraniol ความเข้มข้นที่ 10% และ 20% มีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้ไม่แตกต่างจาก DEET (N,N-diethyl-meta-toluamide) ความเข้มข้น 20% สามารถไล่ยุงได้ 70% นานถึง 4 ชั่วโมง โดยหากเตรียมครีมเบสโดยใช้ Oleaginous ointment ไล่ยุงได้ถึง 80% นาน 4 ชั่วโมง

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : นำต้นตะไคร้หอมมาทุบให้แตกวางไว้บริเวณที่ต้องการไล่ยุง หรือปลูกตะไคร้หอมไว้รอบๆ บ้านก็จะสามารถไล่ยุงได้ หรืออาจนำน้ำมันมาทำขี้ผึ้งรักษาแผลยุงกัดได้ Poor

2. กระเทียม (ฉุนสะใจ ยุงไปทันที)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium ampeloplasum L.

ชื่อวงศ์ : AMARYLLIDACEAE

ชื่ออื่นๆ : กระเทียมต้น กระเทียมใต้กระเทียมโทนหัวใหญ่

ข้อมูลทั่วไป : เป็นยาและเครื่องเทศที่เก่าแก่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น มีเรี่ยวแรง ทำให้รสชาติอาหาร ดีขึ้น มีสาร Allicin ทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น

สรรพคุณทางยา

– หัว ขับลมในลำไส้ ขับเสมหะ ขับพยาธิเส้นด้าย บำรุงเส้นผมให้ดกดำ รักษากลากเกลื้อน ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด แก้ไอ ฆ่าเชื้อ หลายชนิด

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงลายที่ความเข้มข้น 60% ขึ้นไป ช่วยไล่เห็บในสัตว์เลี้ยง ความเข้มข้นเพียง 1.4% มีประสิทธิภาพไล่เห็บได้ถึง 87% โดยมีสารสำคัญคือ สารในกลุ่ม Thiophenes และ Dithiane ที่สกัดมาจากส่วนหัวกระเทียม

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : นำหัวกระเทียมและพริกไทยมาทุบรวมกัน วางไว้บริเวณที่ต้องการไล่ยุง

3. กลอย (พืชพิษกินได้ ทำลายยุง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea hispida Dennst.

ชื่อวงศ์ : DIOSCOREACEAE

ชื่ออื่นๆ : กลอยขาว กลอยข้าวเหนียวกลอยนก กลอยหัวเหนียว กอย คลี้ มันกลอย

ข้อมูลทั่วไป : กลอย เป็นมันป่ามีหัวใต้ดินชนิดหนึ่งที่มีหัวใหญ่ที่สุด มีแป้งมากสามารถใช้เป็นอาหารแทนข้าวในภาวะสงครามหรือภาวะอดอยาก แต่กลอยมีสารพิษคือ สารไดออสคอรีน (Dioscorine) ซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์อาจทำให้ถึงตายได้ สารนี้ละลายน้ำได้จึงมีภูมิปัญญาในการกำจัดพิษในกลอยเสียก่อนจึงจะนำมาใช้เป็นอาหารได้

สรรพคุณทางยา

– หัว รักษาโรคผิวหนัง กัดดานเป็นก้อนแข็งในท้อง หุงกับน้ำมันทาแผลกัดหนองและฝ้า

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : นอกจากสารไดออสคอรีนจะเป็นพิษต่อมนุษย์แล้วยังมีพิษต่อแมลงเช่นเดียวกัน กลอยจึงถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรกำจัดยุงที่มีฤทธิ์แรง ทั้งยังสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชหรือนำน้ำคั้นไปราดเพื่อฆ่าปลวกและมด รวมทั้งสับใส่นาข้าวเพื่อฆ่าหอยเชอรี่

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : นำหัวกลอยสด 10 กิโลกรัม มาล้างให้สะอาด สับเป็นชิ้นๆ และต้นแมงลักคา 10 ต้น ใช้ทั้งใบทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำ 30 ลิตร เคี่ยวจนเหลือ 15 ลิตร (เหลือครึ่งหนึ่ง) กรองเอาแต่น้ำมาใช้ฉีดไล่ยุง

4. กะเพรา (สมุนไพรเทพเจ้า คนกินได้แต่ยุงไปทันที)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum tenuiflorum L.

ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE

ชื่ออื่นๆ : กอมก้อ กอมก้อดง กะเพราขน กะเพราขาว กะเพราแดง

ข้อมูลทั่วไป : เป็นเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อน ช่วยย่อย ช่วยดับกลิ่นคาวในเมนูอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ของคนไทยที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะเลยก็ว่าได้ อินเดียถือว่ากะเพราเป็นสมุนไพรเทพเจ้าใช้บูชากับทำยา มาเลเซียใช้กินเป็นผักสลัดอยู่บ้าง นอกจากนี้ กะเพราอยู่คู่ครัวคู่บ้านคนไทยมาอย่างยาวนาน

สรรพคุณทางยา

– ราก ขับเหงื่อ

– ใบ ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้ปวดท้อง ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ขับน้ำนม รักษาหอบหืด

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : ใบกะเพรามีน้ำมันหอมระเหยที่มีสารสำคัญคือ Eugenol และ Caryophyllene มีฤทธิ์ไล่แมลงซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดจากใบที่ความเข้มข้น 5% มีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้สูงสุด และยังมีประสิทธิภาพในการฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ด้วย

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : นำใบกะเพรามาขยี้ทาตามตัว หรือวางไว้ในบริเวณที่ต้องการไล่ยุง

ขอบคุณภาพจาก ลาซาด้า
ขอบคุณภาพจาก ลาซาด้า

5. โกฐจุฬาลัมพา (ยาโบราณไล่ยุง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artemisia pallens Wall. ex DC.

ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE

ชื่ออื่นๆ : ตอน่า หญ้าตีตุ๊ด

ข้อมูลทั่วไป : โกฐจุฬาลัมพา เป็นสมุนไพรไทยเชื้อสายจีน ในตำรับยาไทยหลายขนาน คนจีนนิยมปลูกไว้หน้าบ้านเป็นไม้มงคลขับไล่ความชั่วร้าย ซึ่งคล้ายกับความเชื่อเรื่องส้มป่อยของคนไทย สามารถใช้น้ำคั้นมาผสมแป้งทำขนมกินเพื่อบำรุงเลือดลม

สรรพคุณทางยา

– ใบ ขับลมในลำไส้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้ท้องร่วง แก้ไขข้ออักเสบ ระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

– ใบและช่อดอก แก้ไข้ที่มีผื่นคันตามตัว เช่น หัด อีสุกอีใส แก้หืด แก้ไอ ขับเสมหะ

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : น้ำมันหอมระเหยของโกฐจุฬาลัมพายังมีฤทธิ์ในการไล่ยุง และยับยั้งการวางไข่ของยุง มีการศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการกันยุงของน้ำมันหอมระเหยโกฐจุฬาลัมพากับน้ำมันมะกรูดพบว่า สามารถป้องกันยุงได้ดี

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : นำใบโกฐจุฬาลัมพามาขยี้ทาตัว หรือนำใบมาเผาไฟให้เกิดควันและกลิ่นเพื่อไล่ยุง ไล่แมลง

6. คนทีเขมา (ยุงเมาไม่สร่าง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vitex negundo L.

ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE

ชื่ออื่นๆ : กุโนกามอ กูนิง

ข้อมูลทั่วไป : เป็นสมุนไพรคู่บ้านคนไทยมาแต่โบราณ ปรากฏในตำรายาใบลานอีสานในชื่อผีเชื้อ (ผีเชื้อ) ถือเป็นพืชศักด์สิทธิ์ชนิดหนึ่งที่ต้องปลูกไว้กันผี นิยมปลูกริมน้ำเพื่อกันมีน้ำเซาะตลิ่งพัง

สรรพคุณทางยา

– ใบและผล เป็นยาร้อนใช้รักษาโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ หวัด ไอ หอบ ใช้แก้ปวดหัว มึนหัว ปวดเมื่อย เข้ายาสตรี

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : สารที่ทำหน้าที่ในการไล่แมลง คือ O-pinene, Citronellal, Linalool และ Myrcene มีการศึกษาพบว่า สารสกัดจากคนทีเขมามีประสิทธิภาพป้องกันยุงได้นานมาก

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : ชาวบ้านนำกิ่ง ก้าน และใบมาต้มกับน้ำใช้ฉีดไล่ยุงหรือเผาไฟให้เกิดควันไล่ยุงได้

7. คนทีสอ (ยุงไม่ขอใกล้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vitex trifolia L.

ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE

ชื่ออื่นๆ : คนทิสอขาว คุนตีสอ โคนดินสอ ดอกสมุทร ดินสอ ทิสอ เทียนขาว ผีเสื้อ ผีเสื้อน้อย มูดเพิ่ง สีสอ สีเสื้อน้อย

ข้อมูลทั่วไป : คนทีสอ เป็นสมุนไพรคู่บ้านคนไทยมาแต่โบราณเช่นเดียวกับคนทีเขมา ใช้คู่กันในสรรพคุณเดียวกัน ไม่มีต้นใดต้นหนึ่งก็สามารถใช้อีกต้นแทนกันได้ แต่คนทีสอจะมีกลิ่นที่อ่อนกว่าคนทีเขมา สามารถใช้น้ำคั้นผสมแป้งนึ่งทำขนมได้ เรียก ขนมคนที

สรรพคุณทางยา เช่นเดียวกับคนทีเขมา

– ใบและผล เป็นยาร้อนใช้ รักษาโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ หวัด ไอหอบ ใช้แก้ปวดหัวมึนหัว ปวดเมื่อย เป็นยาร้อน เข้ายาสตรี

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : ในน้ำมันหอมระเหยของคนทีสอมีสารในกลุ่ม Monoterpenes ที่มีประสิทธิภาพในการไล่แมลงสูง มีการนำน้ำมันหอมระเหยไปทำเป็นโลชั่นทาผิวพบว่า ไม่ระคายเคืองและป้องกันยุงได้นานกว่า 3 ชั่วโมง

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : ชาวบ้านจะใช้ใบคนทีสอนำมาเผาไฟเพื่อให้เกิดควันและกลิ่นไล่ยุง

ขอบคุณภาพจาก Medthai
ขอบคุณภาพจาก Medthai

8. เนียมหูเสือ (เหนือกว่ายุง หอมจรุงใจ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE

ชื่ออื่นๆ : ใบหูเสือ หอมด่วนหลวง หอมด่วน หูเสือ

ข้อมูลทั่วไป : เนียมหูเสือ มีใบเหมือนใบหูของเสือ เป็นพืชในเครื่องหอมของคนอีสานซึ่งมักจะใช้คำขึ้นต้น ชื่อพืชหอมด้วยเนียม เนียมหูเสือสามารถกินเป็นผักสดหรือใส่ในต้มจืดก็ได้ เป็นผักที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) โปรดปรานมาก ใบเมื่อแห้งแล้วบดเป็นผงจะมีกลิ่นเหมือนออริกาโนเครื่องเทศของยุโรป

สรรพคุณทางยา

– ใบ แก้ไอ แก้หวัด คัดจมูก ขับลม แก้ท้องอืด แก้ปวดท้อง

สรรพคุณไล่ยุง/กำจัดยุง : ในน้ำมันหอมระเหยของใบเนียมหูเสือมีสารสำคัญ คาร์วาครอล (Carvacrol) มีฤทธิ์ในการไล่แมลงและไล่ยุงพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากใบเนียมหูเสือสามารถป้องกันยุงได้ดีมากไม่แตกต่างกับ DEET ในความเข้มข้นที่เท่ากันและยังมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำได้ดีอีกด้วย

การใช้ไล่ยุงวิถีชาวบ้าน : ชาวบ้านจะใช้ใบขยี้ทาตามตัว หรือวางไว้บริเวณใกล้ตัวเพื่อไล่ยุง

สมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการไล่ยุงส่วนใหญ่จะมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งแต่ละชนิดมีกลิ่นเฉพาะที่บางคนไม่ชอบ และอาจมีฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุหรือผิวหนังได้ ภูมิปัญญาชาวบ้านเดิมมักจะใช้สมุนไพรไล่ยุง โดยจะทำใช้เอง เพียงปั่น ตำ ทุบ บด ส่วนต่างๆ ของพืชให้มีน้ำมันหอมระเหยออกมาก็สามารถนำมาใช้ป้องกันยุงและแมลงได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือสมุนไพรอภัยภูเบศร