หอดูโจร สมัยเก่าก่อน

ถ้าเราถามเพื่อนว่า “จะไปไหน” แล้วเพื่อนตอบว่า ไป “โหรดูจอ” ก็อย่าเพิ่งปวดหัว เพราะคิดไม่ออกว่า โหรดูจอ คืออะไร จริงๆ แล้วเพื่อนต้องการบอกว่า ไป “หอดูโจร” แต่ตอบเป็นคำผวน อาจคิดว่าตอบธรรมดาๆ มันง่ายเกินไป

หอดูโจร สมัยเก่าก่อน ตลาดใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัดจำเป็นต้องมีไว้ป้องกันตนเอง อย่างท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี ตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า ก็มีหอดูโจร แม้ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว แต่ก็ยังรักษาดูแลไว้เป็นอย่างดี

กลายเป็นมรดกตกต่อให้ลูกหลาน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

ตลาดเก้าห้อง สร้างสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ทำไม ต้องมีหอดูโจร คำตอบคือ ภูมิทัศน์ของบางปลาม้า บ้านของนักร้องเสียงดี เสรี รุ่งสว่าง คืบก็ท้องนาศอกก็ท้องนา และยังมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ฤดูแล้งท้องทุ่งโล่งกว้าง ใครไปใครมามองเห็นได้ในระยะไกล เจ้าพระคุณโจรถ้าจะมาปล้น ชาวบ้านเล่ากันว่า โจรก็มีสัจจะ เมื่อจะปล้นตลาดไหน ก็จะประกาศให้รู้ตัวก่อน

ทำให้เกิดคำพูดว่า “เป็นโจรต้องมีสัจจะ”

แต่เมื่อปล้นได้แล้ว ถ้าโจรชุมไหนเกิดโลภ แบ่งสมบัติไม่เท่ากัน หรือลำเอียงมากไป เกิดการหักหลังกันขึ้นมา ทำให้โจรฆ่าโจร อย่างนี้เรียกว่า “สัจจะไม่มีในหมู่โจร”

หอดูโจร ลักษณะเป็นหอคอยสูง อย่างน้อยต้องสูงกว่าหลังคาตลาด เพื่อให้มองเห็นพื้นที่ในวงกว้าง และเห็นได้รอบทิศทาง การก่อสร้างถามผู้แก่แม่เฒ่าได้ความว่า แต่ละตลาดส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าร่วมกันสร้าง ทั้งบริจาคทรัพย์และกำลังกายเมื่อต้องการแรงงาน

สมัยก่อน บางตลาดสร้างด้วยไม้เป็นเสาสูงขึ้นไป ด้านบนมีป้อมสำหรับนั่งเวรยาม และมีบันไดสำหรับขึ้นลง

แต่ที่ตลาดเก้าห้องผู้สร้างออกเงินเอง สร้างเป็นหอคอยก่ออิฐขึ้นไป ทำให้มีความคงทน และยืนยาวมาจวบจนปัจจุบันนี้ได้

หอดูโจรตลาดเก้าห้อง ผู้สร้างคือ นายบุญรอด เหลียงพานิช หรือ เถ้าแก่ฮง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477 มีขนาด 4 คูณ 4 เมตร สูง 5 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า แต่ละชั้น บริเวณฝาผนังของทุกด้านเจาะรูไว้สำหรับมองโจร และสอดปลายปืนลงไปเด็ดหัวโจร

สมัย พ.ศ. 2477 นั้น บ้านเมืองไม่ค่อยเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ทั่วถึง ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องพึ่งพากันเอง ปรากฏการณ์ช่วงนั้นคือ เมืองสุพรรณบุรีมีอ้ายเสือชุกชุม ต้องการปล้นตลาดไหนกลางวันแสกๆ เจ้าพระคุณก็ปล้นเอาดื้อๆ

เสือดังๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีมีหลายคน คนดังสุด ชื่อ “เสือฝ้าย”

เสือฝ้าย เป็นชาวอำเภอเดิมบางนางบวช ชื่อเดิมว่า ฝ้าย เพ็ชรชนะ เรื่องราวของเสือฝ้าย ในภาพยนตร์อาจเติมเสริมแต่งมากไป เพื่อให้เรื่องราวน่าสนใจ เค้าความจริงผู้เขียนเคยฟังจากญาติๆ ชาวสุพรรณบุรี และได้อ่านผลงานของ มาลัย ชูพินิจ ที่บุกป่าฝ่าดงเสือเข้าไปสัมภาษณ์เสือฝ้ายที่สุพรรณบุรี ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วเสือฝ้ายไม่อยากเป็นเสือ

สาเหตุที่ต้องเป็นเสือ เรื่องมีอยู่ว่า สมัยเสือฝ้ายแรกรุ่นถูกคดีความ คดีความตามปากคำของเสือฝ้ายที่ให้สัมภาษณ์มาลัย ชูพินิจ คือถูกเจ้าหน้าที่ยัดเยียดข้อหาให้ ทำให้เกิดความคับแค้นใจ ร้ายกว่านั้นคือ ต้องหากินเยี่ยงเสือในกาลต่อมา

เมื่อหากินเยี่ยงเสือ ก็ต้องพบจุดจบเยี่ยงเสือ

เรื่องนี้ ปราชญ์เมืองสุพรรณบุรี มนัส โอภากุล เขียนเล่าความว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวมาที่จังหวัดสุพรรณบุรี พักอยู่ที่โรงแรมศรีธงชัย มิได้มีการจำจองแต่ประการใด นัยว่าจะนำตัวเข้าหาผู้ใหญ่ที่กรุงเทพฯ ประชาชนแตกตื่นไปดูเสือฝ้ายเป็นจำนวนมาก”

เมื่ออาจารย์มนัสทราบข่าว “ก็ไปดูกับเขาเหมือนกัน เสือฝ้ายยิ้มแย้มแจ่มใสดี รุ่งเช้าตำรวจนำตัวเดินทางโดยทางเรือเข้าไปทางจังหวัดอ่างทอง แต่แล้วมีข่าวว่าเสือฝ้ายกระโดดน้ำหนี จึงถูกตำรวจยิงตาย”

อาจารย์มนัส เล่าว่า “เป็นไปไม่ได้ที่เสือฝ้ายจะกระโดดน้ำหนีตำรวจ ในเมื่อจะนำตัวเข้าหาผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นการกระทำที่ทุกคนรู้ว่าตำรวจเล่นไม่ซื่อ แต่จะเป็นคำสั่งของใครไม่ทราบ”

หอดูโจรตลาดเก้าห้อง อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะเสือ แต่จะเป็นเสืออะไรบ้างที่มาปล้นนั้น ทั้งเสือและผู้สร้างก็ล้วนจากไปหมดแล้ว

เหลือไว้แต่เพียง หอดูโจร เป็นอนุสรณ์