ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พนิดา สงวนเสรีวานิช |
เผยแพร่ |
“Now Mom can spoil your kids with snacks!”
เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโภชนาการปัจจุบันที่ก้าวไปไกลมาก ทำให้ประโยคดังกล่าวไม่ได้เกินเลยไปจากความจริง
แต่กว่าจะก้าวมาถึง ณ จุดนี้ ที่ทำให้ บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด ได้รับการยอมรับและคว้ารางวัลเอสเอ็มอีดีเด่นจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ไม่ใช่เรื่องง่าย
บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผัก-ผลไม้แปรรูปเพื่อสุขภาพ ที่นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต คือการทอดในสุญญากาศ และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ทำให้สินค้ามีความกรอบ ไม่อมน้ำมัน อีกทั้งยังไม่มีสารเติมแต่งหรือสารกันบูดใดๆ โดยวางจุดขายที่การเป็น “อาหารว่างสำหรับผู้รักสุขภาพอย่างแท้จริง” ปัจจุบันเป็นสินค้าที่ทำรายได้ส่งออกไปจำหน่ายยัง 30 ประเทศทั่วโลก
ชัยรัตน์ คงศุภมานนท์ รองประธานกรรมการ บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล ถอดประสบการณ์ให้ฟังในงานสัมมนา “Start ธุรกิจอย่างไรให้ Smart รับยุค 4.0” ที่ สสว.จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นและให้ความรู้กับผู้ประกอบการรายย่อยและว่าที่สมาร์ทเอสเอ็มอี ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ว่า บริษัทกรีนเดย์ เป็นการต่อยอดธุรกิจจากที่บ้าน
คุณพ่อทำเทรดดิ้งตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว ส่งสินค้าอาหารตั้งแต่กะปิ น้ำปลา ก๋วยเตี๋ยว ศาลเจ้า จาน-ชามทั้งหมดไปตลาดออสเตรเลีย เพราะตอนนั้นคนไทย ม้ง เวียดนาม อพยพไปอยู่ที่นั่นเยอะ จึงมีโอกาสเพราะหาสินค้าเหล่านี้ในตลาดที่นั่นไม่ได้
“พอผมจบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คุณพ่อก็อยากให้มาต่อยอดธุรกิจที่บ้าน จึงดูว่าจะขยายไปธุรกิจอะไรได้บ้าง เริ่มจากผลไม้ดอง มะม่วงดอง ซึ่งมะม่วงดองจะมีใส่สารกันเสียค่อนข้างเยอะ จึงมีความรู้สึกว่า เราเองแม้กระทั่งขนมประเภทสแน็คยังไม่ค่อยอยากกินเลย กินทุกวันก็อาจจะมีสารตกค้างในร่างกาย จึงอยากทำสินค้าอาหารที่ขายให้กับผู้บริโภค แม้กระทั่งครอบครัวที่เป็นลูกๆ หลานๆ เรากินได้ ก็ไปหาเทคโนโลยีที่เป็นการทอดสุญญากาศ”
ที่สุดก็ได้รู้จัก Vacuum frying การทอดสุญญากาศ เป็นการดึงน้ำออก เพราะว่าน้ำทำให้จุลินทรีย์เติบโตได้ พอดึงน้ำออก สินค้าก็เก็บได้นาน
แล้วอธิบายเพิ่มเติมถึงเทคโนโลยีในการถนอมอาหาร ณ ขณะนั้นว่า ที่คุ้นชินกันจะเป็นกล้วยตาก เป็นการทอดในกระทะอุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส ในสภาวะความดันปกติ เพื่อไม่ให้กล้วยเละเกินไปจึงต้องใช้กล้วยดิบ แต่กระนั้นการทอดที่อุณหภูมิสูงขนาดนั้น ข้อเสียคือ ทำให้สารอาหารที่มีในธรรมชาติลดน้อยลง
ขณะที่การทอดแบบสุญญากาศ เปรียบเหมือนต้มน้ำบนภูเขาสูง จุดเดือดของน้ำต่ำกว่า 100 องศา คืออยู่ที่ 30-40 องศาเท่านั้น ทำให้สามารถนำกล้วยสุกไปทอดได้ โดยยังคงรสชาติและคุณภาพของกล้วย ไม่เละเหมือนทอดในอุณหภูมิสูงๆ
ชัยรัตน์บอกว่า การตั้งโจทย์ทางการตลาดเป็นเรื่องสำคัญ เช่นตัวเขาเอง ที่ทีแรกตั้งโจทย์ผิด ส่งไปขายตลาดเดียวกับที่คุณพ่อส่งคือออสเตรเลีย ซึ่งมีไชน่าทาวน์อยู่ แต่ทว่าตลาดตรงนั้นมองเรื่องของราคา และมีคู่แข่งในตลาดอยู่แล้ว เกิดการเปรียบเทียบกัน ช่วงแรกจึงขายไม่ค่อยดี จึงต้องเปลี่ยนโจทย์
“จากตอนเริ่มต้นเราใช้น้ำมันปาล์มในการทอด ซึ่งอาจจะไม่ใช่สุขภาพสักเท่าไหร่ แต่พอเราตั้งใจทำสินค้าสุขภาพที่เราเองก็กินได้ เราใช้น้ำมันรำข้าว พอเปลี่ยนน้ำมัน ต้นทุนแพง เราจึงขายแพงขึ้น โดยเจาะตลาดให้ดีขึ้น ก็เริ่มขายดี”
ยกตัวอย่าง จากเริ่มขายผลไม้แปรรูปเป็นของฝาก ซึ่ง 10 ปีที่แล้วขายยากมาก ตลาดในประเทศก็ยังขายไม่ค่อยได้ เพราะของเราเป็นผลไม้แท้ๆ ที่ไม่ได้ใส่สารปรุงแต่ง จึงเน้นการส่งออกเป็นหลัก ปัจจุบันคนเริ่มใส่ใจในสุขภาพจึงขายดี
“เราพยายามบอกว่า ผลไม้แปรรูปไม่ใช่แค่สแน็คอย่างเดียว แต่มันเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น ถ้าคุณต้องการคาร์โบไฮเดรตก่อนออกกำลังกายมีผลไม้หลายตัว เช่น กล้วย ที่ให้คาร์โบไฮเดรต เราพยายามบอกว่า สุดท้ายอาหารคือยา จึงไม่เน้นปรุงแต่ง ผลไม้บางตัวเหมาะกับหลังออกกำลังกาย”
ที่สำคัญคือ การได้ยึดครองหัวใจของกลุ่มแม่และเด็ก ที่ชัยรัตน์บอกว่า จะว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ ที่ค้นพบว่าผู้บริโภคกลุ่มที่เป็นลูกค้าใหญ่กลุ่มหนึ่งคือแม่ ที่บอกว่า “ลูกที่ไม่ชอบกินผักยังกินได้”
เป็นที่มาของแคมเปญใหม่ Now Mom can spoil your kids with snacks บนโจทย์ที่ว่า คุณแม่มักเลือกขนมสุขภาพให้ลูก แต่ลูกไม่กิน ส่วนขนมที่ลูกเลือก คุณแม่ก็ไม่อยากให้กิน ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราเข้ามาแก้โจทย์นี้พอดี
ชัยรัตน์บอกอีกว่า ปัจจุบันจึงมีการส่งเสริมการขายในกลุ่มแม่และเด็ก โดยจะสร้างตัวการ์ตูนเพื่อแนะนำให้กับเด็กๆ รู้ว่าแวคคัมฟรายคืออะไร ฟรีซดรายคืออะไร มีแถมของเล่น
ขณะเดียวกันสถานที่วางจำหน่ายสินค้าไม่ได้เน้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว แต่วางขายในร้านหนังสือด้วย เพราะมองว่าลูกค้าที่เข้ามาเดินในร้านหนังสือมีเวลา ทำให้เราสามารถแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าได้ ซึ่งมียอดจำหน่ายค่อนข้างดี
สิ่งที่อยากจะแบ่งปันคือ โจทย์ของการเริ่มสตาร์ตอัพ ที่ต้องหาให้เจอ 3 อย่าง คือ 1.ธุรกิจของคุณคืออะไร 2.ลูกค้าของคุณคือใคร 3.ลูกค้าเห็นคุณค่าอะไรในธุรกิจของคุณ เช่นกรีนเดย์ที่ในคราแรกวางตำแหน่งสินค้าผิด มองว่าเป็นผลไม้แปรรูป นั่นคือเราต้องเลือกธุรกิจให้ถูกก่อน