ของใช้ชาวบ้าน : กระบะใส่สี

ช่างทาสี ถ้ามีกระบะใส่สี งานก็จะดียิ่งขึ้น

ยุคนี้ค่าแรงช่างแพงมาก ไม่ว่าจะเป็น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างตกแต่งบ้าน และช่างทาสี หนทางประหยัดคือ เราชาวบ้านต้องรู้จักช่วยตัวเอง นั่นคือ ฝึกเรียนรู้ทาสีให้เป็น แม้จะไม่ใช่มืออาชีพก็สามารถทาสีแบบง่ายๆ ได้ อย่างทาสีผนังบ้าน เป็นต้น

การผสมสี เราชาวบ้านไม่ต้องยุ่งแล้ว เพราะร้านขายสีเขาผสมมาให้เสร็จ เราเพียงเลือกอย่างเดียวว่า จะเอาสีอะไร ต้องการกี่ถัง ร้านผสมสีก็จะกดปุ่มผสมสีออกมาให้อย่างรวดเร็ว เรียกว่าถ้าแจ้งความประสงค์ไว้ ออกไปรับประทานก๋วยเตี๋ยวยังไม่หมดชาม ก็มารับได้แล้ว

เมื่อสีมีแล้ว เราชาวบ้านควรมี กระบะสี สัก 1 อัน

หน้าตาของกระบะสีคือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ ประมาณ 1 ศอก มีส่วนลึกลงไปประมาณ 10 นิ้ว และมีความกว้างหลายขนาด เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า เราชาวบ้านมีลูกกลิ้งทาสีขนาดกี่นิ้ว ถ้าเป็นขนาดใหญ่เราก็ต้องเลือกซื้อขนาดใหญ่ให้เหมาะกับงาน

วิธีใช้ นำสีที่ผสมเรียบร้อยแล้วเทลงไป ให้น้ำสีสูงประมาณ 4 นิ้ว หรือ 5 นิ้ว ก็พอ นำลูกกลิ้งลงไปชุบสีให้ทั่ว แล้วก็กลิ้งไปตามผนังที่เราต้องการ การทาสีมีเสียงกระซิบว่า ต้องทาให้เป็นแนวๆ ไป อย่าไปกระโดดข้ามตรงนั้นที ตรงนี้ทีอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำหนักของสีไม่เท่ากัน

แทนที่จะได้สีผนังสวยๆ งามๆ กลับจะเป็นสีกระดำกระด่าง หากเกิดปรากฏการณ์อย่างนั้น นอกจากจะต้องอับอายชาวบ้านแล้ว ยังเสียเงินค่าซื้อสี และดีไม่ดีผู้บัญชาการใหญ่ของบ้านจะเล่นงานเอาด้วย ประเด็นหลังนี่น่าจะหนักกว่าความเสียหายใดๆ ใครไม่เชื่อก็ไม่จำเป็นต้องท้าทายกับอำนาจ “ผบ.ทบ.” แปลว่า “ผู้บัญชาการที่บ้าน” อย่าได้คิดไปเป็นอย่างอื่นอย่างเด็ดขาด เพราะหัวจะขาดเอา

เมื่อปี พ.ศ. 2554 บ้านผู้เขียนน้ำท่วมผนังชั้นล่างไปราว 50 เซนติเมตร

ตื่นเช้ามาไม่สนุกเลย หลังอาบน้ำอาบท่าแล้วยังต้องเดินลุยน้ำจ๋อมๆ ไปทำงานอีก รถราก็ต้องเอาไปไว้บ้านญาติต่างจังหวัด ระยะทางที่ต้องเดินไปขึ้นรถราว 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ขอเน้นว่าเดินจริงๆ ประมาณ 3 ชั่วโมง ถึงถนนใหญ่แล้วค่อยเปลี่ยนเสื้อผ้ารอโบกรถไปทำงาน

น้ำท่วมเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ลดลงขนาดใช้ถนนเข้าออกบ้านได้เดือนธันวาคม 2554 คิดดูเอาเองว่า ชีวิตชาวบ้านน้ำท่วมสนุกสนานแค่ไหน เพียงใด ปัจจุบัน ยังมี “ร่องรอย” ระดับน้ำท่วมให้เห็นอยู่ ด้วยเกรงว่ามันจะจางหายไปง่ายๆ ผู้เขียนลงทุนซื้อปากกาเมจิกชนิดที่ลบไม่ได้มา 20 บาท กำหนดจิตแน่วแน่ขีดทับรอยเอาไว้ แม้จะเป็นรอยที่ไม่น่าประทับใจ แต่ก็ต้องการเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์

ผนังบ้านส่วนที่ไม่ได้ขีดรอยไว้ ผู้เขียนซื้อสีมาทาเอง หรือจะเรียกให้ถูกต้องตามนิยามของคำในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2546 ก็ต้องใช้ คำว่า “ละเลง” ถึงจะเหมาะสมที่สุด

แรกซื้อสีมา 1 ถัง มองซ้ายย้ายขวาเห็นกะละมังใบเขื่อง ก่อนจะเทสีลงไปมีเสียงคัดค้านอย่างสุภาพและนุ่มนวลอย่างยิ่งว่า นั่นจะทำอะไร ครั้นจะบอกว่าก็เห็นๆ อยู่แล้วถามทำไม ก็เกรงว่าเสถียรภาพของครอบครัวอาจไม่สู้ดี จึงอ้อมแอ้มๆ ตอบไปว่า จะใส่สีทาบ้าน

“กะละมังซักผ้าของฉัน” เสียงนั้นแม้จะนุ่มๆ แต่ทรงอำนาจ สามารถสะกดพฤติกรรมของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ถึงดีมาก ผู้เขียนจึงต้องหาวัสดุมาใส่สีใหม่

หลังคิดอยู่ไม่นาน พุทธิปัญญาก็เกิดสว่างวาบ นึกขึ้นได้ว่าเจ้าของร้านสีบอกว่ามีกระบะสีสนใจไหม ราคาอันหนึ่งไม่กี่ตังค์หรอก ใส่สีแล้วทาสะดวกดี นาทีนั้นไม่ต้องคิดอะไรแล้ว รีบไปที่ร้านแล้วแจ้งความประสงค์อย่างเร่งร้อน แล้วกลับมาทาสีบ้าน

เรื่องราวจึงจบไปด้วยดี

สีผนังบ้าน แม้จะกระดำกระด่างในบางจุด แต่จุดเหล่านั้นก็เกิดจากความสามารถพิเศษของผู้เขียน แม้จะละแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ไปทาสี แต่ก็ทำได้ดี แม้จะดีไม่มากก็ตาม

กระบะใส่สี ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสีทั่วไป ในปี พ.ศ. 2560 นายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันหนึ่งราคาไม่ถึง 100 บาท

เครื่องมือของใช้ต่างๆ เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ต่างคิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก เมื่อเราทำเองไม่ได้ก็ซื้อหามาใช้ให้เหมาะสม การทำงานก็จะคล่องตัว เหมือนผู้เขียนไปซื้อกระบะใส่สีมาใช้ แทนที่จะฝ่าฝืนอำนาจ ผบ.ทบ. เอากะละมังซักผ้ามาใช้ เป็นต้น

เครื่องมือของใช้บางอย่าง หากใช้ไม่ถูกงาน นอกจากจะไม่สะดวกแล้ว อาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

หรือใครจะท้าทายอำนาจ ผบ.ทบ. ก็ตามใจ