ชวนคนรุ่นใหม่เล่นว่าว อนุรักษ์การละเล่นโบราณ เผยทุกวันนี้คนสนใจน้อย ติดแต่มือถือ

วันที่ 25 พ.ย. ขณะที่ผู้สื่อข่าวเดินทางผ่านถนนสายอุดรธานี-สามพร้าว ตำบลสามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้มีแผงขายว่าวอยู่ริมถนนอยู่หลายแผง ก็เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูหนาว และเป็นช่วงฤดูเล่นว่าวของภาคอีสาน เพราะกระแสลมเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนเป็นลมส่ง ทำให้ว่าวขึ้นดีและขึ้นสูง

สอบถามนายบรรจง อันมาก อายุ 51 ปี ชาวขอนแก่น เจ้าของแผงว่าวนานาชนิดเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคม- มีนาคม จะเป็นช่วงฤดูหนาว และเป็นฤดูการเล่นว่าวของภาคอีสาน เดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูว่าวของภาคกลาง ซึ่งจะเล่นกันที่สนามหลวง และมีเทศกาลว่าวไทยด้วย ส่วนภาคใต้จากเดือนธันวาคม- เดือนสาม สำหรับภาคเหนือจะเล่นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นในช่วงเดือนตุลาคม หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ผู้ชายในหมู่บ้านโนนเมือง เกือบทุกคนจะออกเดินทางเร่ร่อนนำอุปกรณ์ทำว่าวขึ้นรถยนต์กระบะประมาณ 50-60 คัน ไปตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศทำว่าวขาย

นายบรรจง กล่าวต่อไปว่า ว่าวที่ขายอยู่ทุกวันนี้ ว่าวไทยมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวปลา ฯลฯ แต่ส่วนมากเป็นว่าวที่ได้มีการพัฒนารูปแบบมาจากว่าวจีน เช่นว่าวกล่อง ว่าวงู ว่าวปลา ซึ่งใช้วัสดุผ้าร่มจากประเทศจีนเป็นอุปกรณ์สำคัญในการอุ้มตัวว่าวให้ขึ้นสู้ลม และใช้วิธีการเย็บด้วยจักรเย็บผ้า แทนการใช้กระดาษแก้วสีติดกาว เสร็จ แล้วนำเอาโครงมาประกอบภายหลังตามแบบ การขึ้นแบบตัวว่า ก็ใช้วิธีถอดแบบมาจากว่าวจีน แล้วนำเอาไปให้กลุ่มแม่บ้านทำการเย็บจักรตามแบบ เสร็จแล้วคนขายก็จะนำเอาไปประกอบตามแบบภายหลัง

“ทุกวันนี้อาชีพการขายว่าว และการเล่นว่าว เหลือค่อนข้างน้อยแล้ว เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้วิธีการเล่นว่าว เขารู้จักแต่เกมและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนหนุ่มสาว ส่วนใหญ่จะไปทำงานโรงงานหรือต่างประเทศกัน ตนจึงอยากอนุรักษ์อาชีพการขายและเล่นว่าวเอาไว้เพื่อให้คนไทยรุ่นใหม่ได้รู้จัก นอกจากเทศกาลเล่นว่าวที่ท้องสนามหลวงแล้ว ในต่างจังหวัดก็มีที่อำเภอห้วยราช จ.บุรีรัมย์ อีกแห่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจัดติดต่อกันมาหลายสิบปีแล้ว ในส่วนราคาว่าวที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน จะขายกันอยู่ระหว่างตัวละ 60-200 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของตัวว่าว”