ผู้เขียน | เมย์วิสาข์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major L.
ชื่อวงศ์ Plantaginaceae
ชื่อสามัญ Plantain
ชื่ออื่นๆ ผักกาดน้ำ หมอน้อย ชีแต่เช้า เซียแต่เช้า หญ้าเอ็นยืด (ไทยใหญ่ อีสาน เหนือ) ตาซื่อเดาะ (กะเหรี่ยง) ตะปุกชี้ หญ้าเอ็นอืด (เชียงใหม่)
หนูไม่ใช่หมอนวด แต่หนูเป็นเจ้าของร้านนวด อยู่ในกระถางหรือแปลงดินเล็กๆ หน้าร้าน เอาไว้ “ตัดไม้ข่มนาม” ข่มเจ้าเอ็นของลูกค้าที่ “ยึด” ให้ “ยืด” ปวดหายคลายตึง หรือคลายกล้ามเนื้อ เท้าแพลง เคล็ด ขัดยอก เขาชอบปลูกไว้เหมือนดูเล่น แต่นำหนูไปใช้สารพัด ทั้งเกี่ยวกับเอ็น กระดูก นิ่ว ขับปัสสาวะ ร้อนใน แผลผุพอง แก้ไอ หลอดลม แล้วยังเด็ดใบอ่อน ยอดอ่อน ไปจิ้มน้ำพริก ทั้งลวก ทั้งสด อีกด้วย จนถูกแซวว่าจะเป็น “หญ้าอ่อน” ให้ป๋าเคี้ยวเล่นเหรอ
ชื่อของหนูในเมืองไทยไม่ค่อยแปลก เพราะถ้าเขาเรียกหนูว่า “ผักกาดน้ำ”
ก็ฟังดูเหมือนเด็กสาวซื่อๆ ใสๆ อินโนเซ้นท์ ปลูกง่าย เด็ดดม ชมเคี้ยวง่ายๆ หนูจึงอยากให้ใครๆ เรียกหนูว่า “หมอน้อย” จะได้สมกับสรรพคุณของหนูที่เก่งทางด้านต่อกระดูก ผูกเอ็นให้ยืดคลายปวดยึดข้อ คนจึงคิดว่าหนูเป็น “หมอนวด” ที่จริงเป็นเพราะว่าหมอนวดตัวจริงชอบใช้หนูไปบีบ ไปตำ นำไปพอกให้คนที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก ข้อต่อ เอว แขน ขา เส้นตึงมากกว่า
หนูชอบอยู่ที่ชุ่มชื้น เพราะเนื้อตัวค่อนข้าง “อวบ” แต่ไม่ใช่พบเฉพาะในเมืองไทยหรอก คนรู้จักหนูเกือบทั่วโลก อย่างเมืองจีน หนูก็เด่นดัง ลองออกเสียงชื่อหนูซิคะ ฟังดูเป็นจีนหรือเปล่า “ฮำผั่วเช่า” เซียจ่อยเช่า ที่ประเทศญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ก็รู้จักหนูดี เพียงแต่หนูไม่ชอบอยู่ในเขตหนาวเท่านั้น อ้อ! ยังมีคนเรียกหนูว่า “ตะปุกชี้” อีก แต่ชื่อนี้หนูกลัวเขาออกเสียงผิดแล้วชื่อเหม็นเลย แล้วยังมีชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า ตาชื่อเดาะ ชื่อนี้ฟังแล้วหนูแก่ไป ไม่ชอบเลย
เนื่องจากหนูเป็นพืชล้มลุกมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เมื่อใบงอกโผล่ขึ้นจากดิน คนจะรีบเก็บใบอ่อนไปใช้ “ทั้งกิน ทั้งทา” เพราะใบหนูแก่เร็ว ท้องถิ่นทางภาคเหนือ กลาง อีสาน นิยมเก็บใบอ่อนเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก เพราะอุดมด้วยวิตามิน มีโอสถสารมากมาย รวมทั้งช่อดอกอ่อนด้วย เป็นสมุนไพรในเภสัชตำรับเยอรมัน (German commission E) ใช้รักษาอาการไอ หลอดลมอักเสบ ติดเชื้อ และโรคผิวหนังอักเสบ แล้วยังมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ แผลไหม้จากแสงแดด ใช้ทำครีม โลชั่นบำรุงผิว รักษาอาการ “ผ้าอ้อมกัด” ได้ โดยใช้ใบตากแห้ง แช่น้ำมัน ตากแดด สกัดน้ำมัน ทาบริเวณรอยผิวหายด่างได้
สำหรับที่เขาใช้หนูมาเป็นลูกมือหมอนวด เขาจับหนูมาทุบๆ ให้แหลกเป็นน้ำ ทารักษาอาการเส้นเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อเอ็นยึด คอ หลัง เอว แขน ขา ฟกช้ำ ก็ตำพอกรอยบวมได้ ส่วนหมอยาจีนจะใช้หนูทั้งต้น ก้าน ใบ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาแก้นิ่วและแก้โรค “ช้ำรั่ว” (ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย) รวมทั้งแก้โรคหนองในได้ ละลายก้อนนิ่วในไต ลดความดันโลหิตได้ รวมทั้งนิยมผสมในน้ำจับเลี้ยงดื่ม หรือทำเป็นผงแห้งชาชงก็ได้อีก
น้อยใจอยู่นิดเดียว คือหนูเป็นผักหญ้าที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงไม่ค่อยมีหน่วยงานสนับสนุน หนูจึงตัดสินใจมาอยู่กับหมอนวด “ยืดเอ็น” ที่ “ยึดหด” ให้ “ป๋า” สบายใจดีกว่าตั้งเยอะเน้อ…!