นักภาษาศาสตร์ฝรั่งเศสเผยผลวิจัย พบศัพท์ ‘ข้าว’ ในภาษาตระกูลไท มาจาก ‘เผือก’ ของมอญ-เขมร

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเปิดเผยผลการวิจัยทางภาษาศาสตร์ของ มิเชล แฟร์ลูซ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ประจำสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง “คำเรียกข้าวในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติค : ที่มาและการกระจาย” โดยมีข้อสรุปว่าคำศัพท์ ‘ข้าว’ ในภาษาไทยรวมทั้งตระกูลภาษาไท มีรากเหง้าเก่าแก่หลายพันปีมาแล้ว โดยน่าจะมาจากคำศัพท์ที่มีความหมายว่า ‘เผือก’ ในภาษาตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งเป็นภาษาพูดของกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป

แฟร์ลูซกล่าวว่า แม้ว่าพืชทั้ง 2 ชนิดจะแตกต่างกันมาก แต่ก็มีเรื่องราวต่างๆ ร่วมกัน และมักจะปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกันอีกด้วย จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าอาจจะนำคำเรียกเผือกไปใช้เรียกข้าว นักพฤกษศาสตร์หลายรายก็เชื่อว่าข้าวเป็นพืชธรรมชาติดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ในบริเวณเดียวกับเผือกมาแต่เดิม คำพื้นเมืองดั้งเดิมของบางภาษาในกลุ่มมอญ-เขมร (เช่น ภาษากลุ่มกะตุอิค ภาษามอญ และภาษาเขมร) ที่ใช้เรียกข้าวเปลือกหรือข้าวสภาพธรรมชาติ น่าจะมาจากคำศัพท์เรียกเผือก ซึ่งเป็นพืชใช้กินเป็นอาหารหลักก่อนคนรู้จักปลูกข้าว

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวมีการแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย ดร.ภัททิยา ยิมเรวัต อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวารสาร The Journal ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.สุรพล นาถะพินธุ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีในไทยและอุษาคเนย์ กล่าวว่า ข้าวเก่าสุดในไทยอายุราว 5,000 ปีมาแล้ว พบมากที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ในวัฒนธรรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง
“นักค้นคว้าหลายท่านเชื่อว่าข้าวเมล็ดป้อมเป็นตระกูลข้าวเก่าแก่ คนปัจจุบันเรียกข้าวเหนียว เป็นอาหารหลักของคนทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ นักวิจัยข้าวจากญี่ปุ่นพบแกลบข้าวเหนียวผสมดินเหนียวในแผ่นอิฐสร้างเจดีย์ราวพันกว่าปีมาแล้ว เป็นแบบทวารวดี ทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยาและที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย” รศ.สุรพลกล่าว

รศ.สุรพล นาถะพินธุ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี