ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เทศกาลแห่งความสุข เทศกาลแห่งการให้
ปีนี้ภาคีเครือข่ายวัฒนธรรมข้าว รื้อฟื้น “เทศกาลข้าวใหม่” เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของ “ข้าวใหม่” และซึมซับในเสน่ห์ของกลิ่นข้าว ที่วันนี้แทบจะถูกลืมเลือนไปแล้ว
อาคารเทวาลัยเมื่อวันแถลงข่าวจึงหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นข้าวจากหม้อหุงข้าวทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่นับได้ 6 หม้อ ที่สมาชิกในภาคีเครือข่ายช่วยกันหอบหิ้วมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้แขกที่มาในงานได้ลิ้มลองและทำความรู้จักกับ “ข้าวใหม่”
สำหรับคนกรุงส่วนมากความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ข้าวใหม่” คือเวลาหุงให้ใส่น้ำแต่พอดี ถ้าเป็น “ข้าวเก่า” ให้ใส่น้ำมากหน่อย
ที่สำคัญคือ ข้าว ในสายตาของคนทั่วไปจะมองกันแค่ “คุณค่า” ของข้าวในแง่ของการให้ “สารอาหาร” แต่ไม่ค่อยได้มองลึกเข้าไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการได้ข้าวมาแต่ละเมล็ด…ชาวนา
สร้อยคำของ “ชาวนา” ที่เคยเป็น “กระดูกสันหลัง” ของประเทศ ทุกวันนี้หายไปแล้ว
ช่วงปลายปีเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมให้มอบ”ข้าวใหม่” เป็นของขวัญแก่กัน
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า พูดถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว เฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยมีเป็นร้อยๆ สายพันธุ์ ตั้งแต่ข้าวดอยไปจนถึงข้าวในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง มีข้าวสายพันธุ์ดีๆ มากมาย เช่น “ทองระย้า” พันธุ์ข้าวที่ชนะการประกวดในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำริว่าอร่อยกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นๆ
ส่วนหนึ่งเพราะการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการทำนาตามหลักวิทยาการเกษตรเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้ขุดคลองหลายแห่งเพื่อส่งเสริมการเกษตร เช่น คลองชลประทานรังสิต เป็นต้น ทั้งยังโปรดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าวเป็นการช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าว เอื้อให้ข้าวสยามมีราคาทัดเทียมกับข้าวในประเทศอื่น
ทว่า ปัจจุบันสายพันธุ์ข้าวไทยสูญหายไปเป็นจำนวนมาก เราก็จะได้กินแต่ข้าวถุง ซึ่งผมเรียกว่า “ข้าวไม่มีหัวนอนปลายตีน” เพราะไม่รู้ว่าปลูกจากที่ไหน เราพยายามไปสืบค้นมา มีการเก็บพันธุ์ไว้ 11 พันธุ์ ทั้งข้าวเบา ข้าวกลาง และข้าวหนัก เป็นพันธุ์เดิมที่เคยอยู่ที่ทุ่งนครชัยศรี คัดสรรมาส่งเสริมให้คนไทยได้กินได้รู้จักกัน
เช่นเดียวกับ อุบล อยู่หว้า มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ในฐานะตัวแทนชาวนาที่บอกว่า สมัยก่อนเขากินข้าวอย่างไร คนสมัยก่อนจะปลูกข้าวนาปี ก่อนจะเอาข้าวไปหุง จะต้องเอาข้าวในยุ้งไปทำบุญใส่บาตรเพื่อให้เกิดความสิริมงคลของครอบครัวมันเป็นธรรมเนียม
อย่าง ข้าวใหม่ กับ ข้าวเก่า คนเมืองอาจจะไม่รู้ เพราะข้าวถุงไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ บอกแต่การบรรจุ แต่ถ้าเรามาดูในวิถีชุมชนที่ทำข้าวนาปีจะเห็นความสุขของเกษตรกร ได้ข้าวมาส่วนหนึ่งแบ่งพี่น้องครอบครัวญาติที่อยู่ในเมือง บางทีเวลากลับไปหาพี่น้องที่ต่างจังหวัด กลับมาก็เอาข้าวมา นั่นคือข้าวจึงเป็นวัฒนธรรมที่เราให้กันแทนความรัก
วันนี้เรามองว่าการที่คนเมืองจะได้กินข้าวใหม่ยากมาก ในการที่จะได้กลิ่นข้าวที่อบอวล คนเมืองแทบจะไม่ได้รับรู้แล้วด้วยซ้ำไป แต่เป็นความโชคดีของเกษตรกรเราที่ได้รับและได้ทำข้าวให้กับคนเมือง
เราไม่คิดจะสวนกระแสนำข้าวกลับมาทำ แต่เอาในสิ่งที่เราควรจะเอากลับมา ข้าวนาปีเป็นข้าวที่มีคุณค่า และเป็นความสุขของเราที่ทำงานตรงนี้
ขณะที่ ศ.ธีรยุทธ บุญมี ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรมข้าว กล่าวถึงที่มาของการรื้อฟื้นวัฒนธรรมข้าวใหม่ ส่งเสริมให้ช่วงเดือนธันวาคม 2560 จนถึงเดือนมกราคม 2561 เป็น “เทศกาลข้าวใหม่” ว่า
“นับตั้งแต่อดีต เมืองไทยนั้นเป็นเสมือน ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งคำว่าอู่ข้าวอู่น้ำนี้เป็นพื้นฐานของอารยธรรมไทยเรื่อยมา จากรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา ‘ข้าว’ เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าถึง 70-80% ของจีดีพีประเทศ ติดต่อกันมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งต่างมีเรื่องราวตำนานที่น่าสนใจก็จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อให้ข้าวไทยยังคงเป็นเสาหลักของสินค้าเกษตรของไทยต่อไป”
คนไทยนั้นมีความเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคล เชื่อในเรื่องขวัญดี ขวัญเข้มแข็ง เราเชื่อว่า “ข้าวมีขวัญ” มีความเป็นสิริมงคลในตัวเอง เห็นได้ว่าชาวนาไทยทำขวัญข้าวฤดูกาลละหลายๆ รอบ เช่น ตอนเริ่มปลูก ตอนข้าวตั้งท้อง ออกรวง ฯลฯ ข้าวจึงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว
หลังฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนจะเฉลิมฉลองข้าวใหม่ซึ่งมีความหอมหวานอร่อยมากที่สุด เราต้องถวายข้าวใหม่ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระสงฆ์ก่อน นับว่าเป็นการเริ่มเทศกาลข้าวใหม่ แล้วจึงกินข้าวใหม่ในครอบครัวหรือชุมชน และมักจะหาฤกษ์งามยามดีและให้ผู้อาวุโสรับประทานก่อน “ข้าวใหม่” จึงเหมาะที่จะให้เป็นของขวัญปีใหม่และงานเฉลิมฉลองต่างๆ
ศ.ธีรยุทธบอกอีกว่า “นอกจากการมอบ ‘ข้าวใหม่’ จะแสดงถึงความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม ในเชิงเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาซึ่งอยู่ในส่วนการผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผลิตระบบอินทรีย์ การรื้อฟื้นสายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นเฉพาะ จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยตรง ทั้งนี้ผลจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อเทศกาลนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
การรื้อฟื้นเทศกาลข้าวใหม่ ก็ด้วยความหวังว่าเทศกาลนี้จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้ผู้คนในสังคมได้รู้จัก เข้าใจวิถีของกันและกัน และรู้จักข้าวมากกว่าที่ผ่านมา รวมถึงสร้างความลึกซึ้งกับข้าวได้มากกว่าที่ผ่านมา