ภาวะวิกฤตของ บึงบอระเพ็ด พื้นที่ชุ่มน้ำภาคกลาง

บึงบอระเพ็ด ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และท่าตะโก ในอาณาเขตจังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ 132,737 ไร่ หรือ 212.37 ตารางกิโลเมตร นับเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีทิวทัศน์สวยงามและมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งด้านพืชพันธุ์ไม้น้ำ ปลา นกน้ำ ประจำถิ่นและนกอพยพ พื้นที่บริเวณบึงบอระเพ็ดมีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ ลาดเอียงขนานไปกับลำน้ำน่าน ช่วงก่อนที่จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปิง โดยมีความลาดเทจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือ

เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำจึงมีสายน้ำจากลำคลองสายเล็กๆ ที่ไหลจากหลายทิศทางมารวมกัน เป็นต้นว่า มาจากคลองบางปลากด คลองหนองบัว ซึ่งไหลมาทางตะวันออก ผ่านบ้านหนองบัว หัวปริก วังรอ และคลองบอน ในเขตพื้นที่อำเภอชุมแสงและอีกด้านมาจากคลองตะโก คลองน้ำตาม คลองใยไหม คลองวังมหากร คลองขุด เป็นต้น ไหลผ่านท่าสุ่มและช่องแกะ

เมื่อน้ำในคลองไหลมาลงบึงรวมกับน้ำเหนือหลากจากแม่น้ำน่าน บ่าเข้ามาเติมพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ จึงเกิดเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่สุดสายตา ชาวบ้านเรียกว่า จอมบึง หรือคนแถบท่าตะโก พยุหะคีรี ที่อยู่ด้านใต้จะเรียกบึงน้ำนี้ว่า ทะเลเหนือ เปรียบได้กับเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ราวกับทะเล แต่บึงน้ำกว้างใหญ่นี้มีน้ำมากเฉพาะในฤดูน้ำหลาก เมื่อล่วงเข้าสู่ปลายเดือนสิบสอง ราวเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น แต่เมื่อย่างเข้าสู่หน้าแล้ง น้ำก็จะลดระดับลงอย่างรวดเร็ว โดยระบายลงสู่แม่น้ำน่านผ่านคลองบอระเพ็ดที่อยู่ฝั่งทิศเหนือ และอีกส่วนหนึ่งไหลแผ่กว้างไปทางตะวันตก ซึ่งเป็นที่ต่ำ ขนานไปกับลำน้ำน่าน มิได้เป็นเวิ้งน้ำตลอดทั้งปี

ด้วยลักษณะพิเศษของภูมิประเทศ อันประกอบกับแม่น้ำและลำคลอง ทำให้พื้นที่บึงบอระเพ็ดกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ยาวนานประมาณ 5 เดือน เนื่องด้วยในแต่ละปี เมื่อน้ำเหนือหลากมาพร้อมกับลำคลองสาขาต่างได้พัดพาเอาแร่ธาตุสารอาหารมาสะสมไว้จำนวนมาก แม้ในช่วงที่น้ำแห้งก็ยังเป็นแหล่งชุ่มชื้น เป็นถิ่นอาศัยที่มีลักษณะพิเศษของพืชพันธุ์แบบ “ป่าบึง” บนที่สูง หรือ “เนินโคก” เป็นเหตุให้เกิดไม้ยืนต้นขนาดใหญ่หลากหลายชนิด ประเภท ยางนา ตะเคียน กระบก ขึ้นหนาแน่นจนร่มครึ้ม

ส่วนในบริเวณที่ลุ่มต่ำดินอ่อน ชายน้ำ มีต้นไม้ชอบน้ำประเภท สนุ่นน้ำ จิกน้ำ คาง บริเวณที่โล่งชายน้ำก็เป็นผืนหญ้า สลับกับพืชอายุสั้นประเภท กก อ้อ เลา โขมง ลำเจียก หญ้าไซ เป็นต้น บริเวณที่ลุ่มต่ำมีลักษณะเป็นวังน้ำขนาดเล็ก ก็ยังมีไม้น้ำอีกหลากหลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น บึงน้ำเหล่านี้จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและพื้นที่หากินของนกน้ำหลายสายพันธุ์

ที่สำคัญยังพบจระเข้สายพันธุ์ไทยอีกจำนวนหนึ่งกระจายกันอยู่ โดยเฉพาะในลำน้ำน่านอดีต จนทำให้เกิดเป็นตำนานไกรทองแห่งเมืองพิจิตร หรือจระเข้ยักษ์ชื่อไอ้ด่างเกยชัย ด้วยลักษณะพิเศษของพื้นที่แถบนี้ เป็นถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของจระเข้ เพราะมีทั้งที่ลุ่มต่ำ เป็นบึงน้ำนิ่ง ที่โคก และที่ดอนชายน้ำ จระเข้ชอบมานอนผึ่งแดดในยามสาย เล่ากันว่าในยุคที่ทางรถไฟสายเหนือสร้างเสร็จใหม่ๆ เมื่อรถไฟแล่นผ่านนครสวรรค์ ผ่านสถานีบางปลากด เพื่อเดินทางต่อไปยังพิจิตร ผู้คนบนรถไฟสามารถมองเห็นจระเข้ขึ้นมานอนผึ่งแดดตามชายบึงได้อย่างชัดเจน

ด้วยเหตุที่ในบริเวณคลองใหญ่ด้านทิศเหนือที่เชื่อมจอมบึงกับแม่น้ำน่าน มีต้นบอระเพ็ดขึ้นอยู่หนาแน่นตามแนวฝั่ง ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า คลองบอระเพ็ด ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2471 ใช้เวลาเพียงฤดูเดียวก็เกิดเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ได้ตามระดับกักเก็บ สามารถกักน้ำที่ความสูง 23.80 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชาวบ้านจึงเรียกบึงน้ำใหญ่นี้ว่า บึงบอระเพ็ด ตามชื่อคลองที่เชื่อมบึงกับแม่น้ำน่าน

เนื่องจากสภาพของบึงบอระเพ็ดก่อนถูกน้ำท่วมเป็นที่ลุ่มต่ำสลับกับที่โคก เมื่อมีการปิดกั้นฝาย พื้นที่เป็นดอนจึงโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเกิดเป็นเกาะเล็กๆ บางแห่งเป็นที่สูงและลาดเอียงลงมาก็เกิดแหลม หรือคุ้งน้ำอ้อม ประกอบกับลักษณะของบึงน้ำกว้างใหญ่ที่มีความลาดเทไปทางตะวันตก ค่อนไปทางเหนือ ทำให้น้ำไหลล้นฝายที่กั้นไว้อย่างรวดเร็ว เมื่อน้ำล้นจนถึงระดับกักเก็บ น้ำในบึงจะค่อนข้างนิ่ง ทำให้เกิดการตกตะกอนของดินและธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชน้ำและสัตว์น้ำวัยอ่อน

มีเรื่องราวเล่าขานถึงนกแอ่นทุ่งใหญ่ลายจุดสีน้ำตาลเข้ม ที่อพยพเข้ามาทำรังวางไข่ นกตีนเทียน นกกระแตแต้แว้ด นกน้ำขายาวก็ไข่ไว้บนพื้นเช่นกัน

ตามริมทุ่งจะพบนกอีโก้ง ตัวสีเขียวอมม่วง ขาสีแดง เดินหากิน นกพริก ตัวสีดำ คิ้วขาว ปีกสีบรอนด์ คิ้วเรียวโค้งเหมือนพริกหยวก นกอีแจว ที่ตัวเมียชอบแจวไปหาตัวผู้ นกอีลุ้ม นกอีล้ำตัวเล็กกว่านกอีลุ้ม ตัวสีดำปากสีแดงสด

นกน้ำที่มีขนาดใหญ่และปานกลาง ประเภท นกยางขาว นกกาน้ำเล็ก นกกาน้ำปากยาว นกกระสาแดง นกปากห่าง นกอ้ายงั่ว นกช้อนหอยดำเหลือบ ต่างมาสร้างรังรวมกันเนื่องจากเป็นดงไม้ใหญ่หายากในแถบท้องทุ่ง

ในพงหญ้า กอกก กออ้อ ชายน้ำ เป็นถิ่นอาศัยของนกเล็กๆ ประเภท นกกระจาบอกลาย นกกระจาบทอง เป็นต้น

นกอีเสือหางยาวขนาดเล็กที่จะงอยปากแหลมงุ้มชอบจับกิ้งก่าหรือสัตว์เลื้อยคลานไปเกี่ยวไว้กับกิ่งไผ่หรือรั้วลวดหนาม เพื่อฝากไว้กินยามอัตคัด

ส่วนนกอีเสือสีน้ำตาล นกคอทับทิมที่คอสีแดงสดเหมือนทับทิม นกพงขนาดเล็ก ชอบมุดไปตามป่าพง รวมถึงนกขนาดปลายนิ้วก็ยังมีให้พบเห็นอีกหลากหลายสายพันธุ์

ความงดงามของทิวทัศน์ เวิ้งน้ำ พันธุ์พืช นก และปลา น่าจะอยู่เป็นสุขเฉกเช่นในอดีต แต่ปัจจุบันกลับพบการใช้พื้นที่ผิดไปจากธรรมชาติดั้งเดิมมาก มีการบุกรุกถมน้ำเป็นดินดอน ปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนกันรายรอบจนรกรุงรังไปหมด ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องน่าจะสำนึกในเรื่องดังกล่าวบ้าง ก่อนที่พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้จะค่อยๆ สูญสลายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย