กรมแพทย์แผนไทยฯ จัดคู่มือ “10 สมุนไพรประจำบ้าน” ดูแลสุขภาพประชาชน

ปัจจุบัน ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ใกล้ตัวมากมาย สมุนไพรไทยถือเป็นทางเลือกที่คนทั่วไปนิยมใช้ดูแลสุขภาพในเบื้องต้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้จัดทำคู่มือ 10 พืชสมุนไพรประจำบ้าน เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ ได้แก่ กะเพราแดง ขิง ตะไคร้ ช้าพลู บัวบก ฟ้าทะลายโจร มะกรูด มะระขี้นก ว่านหางจระเข้ และสะระแหน่ สมุนไพรดังกล่าวสามารถหาซื้อได้จากท้องตลาดทั่วไปและสามารถปลูกได้เองที่บ้าน

สำหรับสมุนไพรทั้ง 10 ชนิด มีประโยชน์และสรรพคุณใกล้เคียงและแตกต่างกันออกไป ได้แก่ กะเพราแดง มีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ปวดท้อง ท้องอืด แก้ลมจุกเสียดแน่นท้อง ขับลมทำให้เรอเหมาะสำหรับเด็ก ขิง มีรสเผ็ดร้อนหวาน สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน จากอาการเมารถ เมาเรือ ตะไคร้ มีรสปร่า กลิ่นหอม มีสรรพคุณขับลมในลำไส้ เจริญอาหาร ขับปัสสาวะ ช้าพลู มีรสเผ็ดเล็กน้อย สรรพคุณ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

บัวบก สรรพคุณตามตำรายาไทยใช้บัวบกแก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้ช้ำใน ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผล ทำให้แผลหายเร็ว เป็นยาบำรุงและยาอายุวัฒนะ ช่วยเสริมสร้างความจำ ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในคนพบว่าบัวบกมีฤทธิ์รักษาความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ช่วยให้คลายกังวล รักษาแผลที่ผิวหนัง และรักษาแผลในทางเดินอาหาร

ฟ้าทะลายโจร มีรสขม สรรพคุณแก้ไข้ บรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด ให้ได้ผลดีต้องรับประทานทันทีเมื่อมีอาการ สำหรับข้อควรระวัง หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อห้าม ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร มะกรูด มีรสเปรี้ยว สรรพคุณผิวมะกรูด แก้อาการหน้ามืด วิงเวียน น้ำมะกรูด แก้ไอ ขับเสมหะและใช้บำรุงเส้นผม

นอกจากนี้ ยังมี มะระขี้นก มีรสขมจัด สรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนใน เจริญอาหาร ผลมะระอ่อน ใช้รับประทานเป็นยาเจริญอาหารโดย การต้มให้สุกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ถ้าผลสุกสีเหลืองห้ามรับประทาน เพราะจะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า มะระขี้นกมีสารชาแรนตินช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ ว่านหางจระเข้ วุ้นของว่านหางจระเข้ มีรสเย็นจืด สรรพคุณ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และสะระแหน่ สรรพคุณบรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ขับลม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสมุนไพรใกล้ตัวมากมายเหล่านี้มีประโยชน์หาง่าย ใช้สะดวกและได้ผลดี

…………………

Advertisement

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2561  : มติชนออนไลน์

Update 22/07/64

Advertisement