กินอร่อยเป็นยา อาหารพื้นถิ่น อำเภอสอยดาว

ยังอยู่กันที่นี่ หมู่บ้านชายแดนไทย-เขมร ที่มีผู้คนหลากหลาย หมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงด้านการทำงานช่าง งานไม้ ทำเฟอร์นิเจอร์ ของที่ระลึก ควบคู่ไปกับงานด้านการเกษตร ชื่อหมู่บ้านสวนส้ม บ้านสวนส้มในวันนี้ เป็นหมู่บ้านกล้วยไข่ มีการปลูกกล้วยไข่ถึงสามสี่พันไร่ ส่งออกประเทศจีนเป็นพืชเศรษฐกิจ

กล้วยไข่ ที่นี่ลูกใหญ่มาก จนพูดได้ว่าไม่เคยเห็นกล้วยไข่ที่ไหนลูกใหญ่ได้เท่านี้ ใครมาที่นี่ได้กินกล้วยไข่ หรือได้กล้วยไข่เป็นของฝาก เห็นกล้วยไข่ที่นี่แล้วอยากกลับไปปลูกกล้วยไข่ที่บ้าน เพราะราคาดีมากด้วย

กล้วยไข่ ใหญ่ที่สุด มีที่หมู่บ้านนี้

กล้วยไข่ จะให้ผลผลิตในช่วงแปดเดือน นานถึงสามปี คือหน่อมันจะขึ้นมาเรื่อยๆ และตัดแต่งหน่อ สามปีก็ปลูกใหม่คัดเลือกหน่อพันธุ์ ดินที่นี่เหมาะกับการปลูกกล้วยไข่และทำการเกษตร

“ราคากล้วยไข่หน้าสวนกิโลละ 70 บาท ตัดส่งไปตอนเขียวๆ เกือบจะสุก ถ้ารอให้สุกมันจะแตก เราจะตัดกล้วยแบบ 80 เปอร์เซ็นต์” แม่บ้านบอก

“แรงงานส่วนหนึ่งมาจากเพื่อนบ้าน ชายแดนกัมพูชา เป็นเพื่อนบ้าน เป็นแรงงาน และทำธุรกิจกันด้วย” แม่บ้านอีกคนเล่า

บ้านสวนส้ม สอยดาว จันทบุรี เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่พร้อมเปิดประตูสู่การท่องเที่ยวในวิถีชุมชน ทั้งเส้นทางท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และอาหารพื้นถิ่น ซึ่งมีหลากหลายมาก ทั้งตามธรรมชาติและที่ปลูกขึ้นมาด้วย

แกงป่า อาหารป่า

มีอาหารพื้นถิ่นที่นำเสนอชื่อ แกงอาหารป่า ที่ชื่อว่าแกงอาหารป่าเพราะใช้ทุกอย่างจากป่าทั้งหมดเอามาแกง และเน้นสมุนไพรมาก นอกจากมีกระวานซึ่งกินกันทุกบ้านแล้ว สมุนไพรที่คิดค้นเอามาทำกิน เช่น ไพล ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ทำยาแผนโบราณ แก้ท้องอืด ขับลม และใช้อบตัว  แม่บ้านบอกว่า ลองเอามาใส่ลงไปในพริกแกง ทำให้กลิ่นหอมอร่อยเพิ่มขึ้น เช่น ทำน้ำพริกแกงอาหารป่า ใส่ปลาร้าสับ

ไพล สำหรับใส่อาหาร

แกงอาหารป่ากัน ทำน้ำพริก ประกอบด้วย พริกครึ่งกรัม หอมหนึ่งกรัม กระเทียมหนึ่งกรัม ข่าครึ่งกรัม ไพลครึ่งกรัม เกลือนิดหนึ่ง ตำแล้วจะได้หนึ่งถ้วย (ที่เพิ่มขึ้นในพริกแกงคือไพล และแกงอาหารป่าที่นี่ไม่ใช้กะปิ ความเค็มจากเกลือ)

ขาวๆ คือ กระวาน

เริ่มจากเอาพริกแกงมาผัดกับน้ำมันก่อน เอาหมูลงผัด เติมน้ำสักประมาณหนึ่งแก้ว รอให้หมูเข้าเครื่องเปื่อย เพราะหมูป่าเนื้อจะเหนียวกว่า แน่นกว่า ใส่มะเขือพวง กระวานซอยบางๆ พริกไทยอ่อน พริกแดงเหลืองหั่นยาวๆ ใบมะกรูดฉีกเอาแกนกลางออก สุดท้ายใบยี่หร่า ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาลทรายนิดหนึ่ง น้ำปลา

อีกอย่างที่นำเสนอเป็นอาหารพื้นถิ่นที่พิเศษที่หากินยาก มีเฉพาะในถิ่นเท่านั้น คือยำจักจั่น อาหารที่มีตามธรรมชาติและฤดูกาลเลี้ยงไม่ได้

จักจั่น จะอยู่ตามสวนลำไย หนึ่งปีจะออกครั้งเดียว ถ้าไปกินสดๆ หรือไปจับเองด้วยต้องไปปลายมกราคมถึงต้นเมษายน เอาไฟใส่หัวไปจับจักจั่นกัน ราคาค่อนข้างแพงทีเดียว ที่มารับซื้อกิโลละสามร้อยบาท แต่ในตลาดขายห้าร้อย

เรามาช่วงสิงหาคม ไม่ใช่ฤดูกาลแต่ก็ยังได้กิน มีวิธีเก็บรักษาเอาไว้ได้ โดยล้างให้สะอาดแล้วนึ่ง เก็บเข้าตู้เย็นเอาไว้ แต่ต้องเลือกเอาตัวอ่อนๆ ตัวแก่ฟรีซไม่ได้เนื้อเป็นโพลงไปแล้ว จักจั่นจะมีอยู่สามช่วง เริ่มเป็นตัวดักแด้ แล้วหลังจากนั้นก็เป็นนางฟ้า และตัวแก่ ที่เก็บเอาไว้ได้คือ นางฟ้ากับดักเด้

นี่เป็นการกินจักจั่นครั้งแรก เริ่มจากลองชิมดูหนึ่งตัว กรอบ มัน อร่อยดี เขาบอกว่าแพงก็เลยไม่กล้าชิมเยอะ รอจนยำเสร็จ
เริ่มที่กะละมัง ใส่น้ำกระเทียมดองลงไปก่อน ตามด้วยมะนาวสองลูก น้ำปลาหนึ่งช้อน น้ำตาลหนึ่งช้อน คนให้เข้ากันแล้วชิมรสดู ให้รสเปรี้ยวหวานก่อน ให้มีเปรี้ยวหวานอย่างละครึ่ง เค็มตาม ใส่พริกหั่นฝอยลงไป หอมซอยลงไป มะม่วงเปรี้ยวที่มีตามฤดูคนให้เข้ากัน ตามด้วยจักจั่น และคนอย่างเบามือ

ยำจักจั่น

จานสุดท้ายที่เราจะได้กินกันในช่วงอาหารพื้นถิ่นที่บ้านสวนส้ม คือปลาร้าสับสมุนไพร

ปลาร้าสับสมุนไพร เพราะที่นี่เต็มไปด้วยสมุนไพร อาหารจึงเป็นพวกกินเป็นยาและอร่อย ที่นี่ทุกครัวเรือนกินปลาร้า น้ำพริกปลาร้าที่นี่คั่วเครื่องให้สุกก่อน เครื่องก็มี กระชาย ข่า ไพล ใบมะกรูด หอม กระเทียม พริกแห้ง เอามาตำหรือบดให้ละเอียด คั่วจนสุกก่อน

ตักปลาร้าสับไว้แล้วหนึ่งทัพพี ตามด้วยเครื่องน้ำพริกที่ทำไว้แล้ว ใส่พริกป่นอีกช้อน พริกป่นเอาแบบเผ็ดอีกหนึ่งช้อน ใบมะกรูดซอย (ใบมะกรูดนอกจากตำลงไปแล้วซอยใส่ข้างนอกด้วย) แล้วก็คนเข้าด้วยกันเป็นอันว่าเสร็จ ปลาร้าสับสมุนไพร กินกับผักต่างๆ และเพกาหั่นบางๆ แล้วทอด

เพกาซอยบางๆ แล้วเอามาทอดให้สุกกินกับปลาร้าสับสมุนไพรเข้ากันได้ดีมากๆ เป็นปลาร้าสับที่ได้กลิ่นไพลอ่อนๆ

แม่ครัวถามหลายครั้งว่าอร่อยไหม ตอบว่าอร่อยจริง กินแล้วขอซื้อกลับบ้านมาอีกหนึ่งกระปุกใหญ่หนึ่งกิโล ปลาร้าสับสมุนไพรของที่นี่เอาเป็นของฝากได้อย่างดี

กลับมาถึงบ้านเอาปลาร้าสับสมุนไพรใส่กระปุกฝากเพื่อนบ้านใกล้เคียง ใครๆ ก็ชมว่าอร่อย อีกหน่อยสั่งมาขายได้ เปิดเพจอาหารพื้นบ้านได้เลยค่ะ

บอกต่อใครสนใจเที่ยวสอยดาว กินอาหารพื้นถิ่นที่หมู่บ้านนี้ โทร.จองก่อนนะคะ ติดต่อ (081) 159-8927 หรือเพจอร่อยที่สอยดาว soidao local travel

ขอบอกว่า ที่นี่เป็นแหล่งให้กำเนิดเห็ดโคน เห็ดโคนจะมีเริ่มๆ ตั้งแต่ช่วงนี้ไปเรื่อยๆ สิงหา กันยา ทำอาหารได้หลายอย่าง บานอยู่ในบริเวณรอบๆ พื้นที่ป่า ช่วงนี้พร้อมกินเห็ดโคนแล้ว มีเห็ดโคนใหญ่กับเห็ดโคนเล็กนำเสนอเอาไว้ล่วงหน้า มีลาบเห็ด ต้มยำเห็ด และอีกหลายเมนูเห็ดๆ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ.2561