วช. โชว์สุดยอด นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “สายอุดมศึกษา”

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดกิจกรรมประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018)” ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาสายอุดมศึกษาทั่วประเทศได้มุ่งมั่นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดโครงการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา สำหรับกิจกรรมประกวดในครั้งนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด รวม 111 ผลงาน ได้แก่

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล
นักศึกษาสายอุดมศึกษา ที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้

ชุดตรวจสอบไวรัสในปลานิล

ชุดตรวจสอบ ELISA สำหรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะในปลานิล ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับรางวัลระดับดี ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิลมักประสบปัญหาการติดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไวรัส NNV ซึ่งไวรัสตัวนี้จะบุกรุกสู่ระบบประสาท ส่งผลให้ปลาตายภายในระยะเวลา 7-14 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับเชื้อ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการรักษา ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้น การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์สำหรับใช้ตรวจเชื้อไวรัสจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัส ชุดตรวจนี้สามารถใช้ในห้องปฏิบัติการขนาดเล็กได้ ผู้ตรวจสอบสามารถทราบผลตรวจสอบได้ทันที โดยสังเกตจากการมีสีเกิดขึ้นหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ผลการตรวจสอบ ผู้สนใจผลงานชิ้นนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โทร. (02) 649-5000 ต่อ 18407

ปาล์ม, ปลา และนาโนฯ

ผลงานปาล์ม, ปลา และนาโนฯ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร ผลงานวิจัยชิ้นนี้ มุ่งนำน้ำมันปาล์มดิบมาสกัดสารแคโรทีนอยด์ และนำไปกักเก็บในอนุภาคนาโน โดยอาศัยความสามารถนำส่งสารไปยังอวัยวะเป้าหมายได้เป็นอย่างดี มีขนาดเล็กเหมาะสมต่อการดูดซึม เพิ่มความคงตัวของสารแคโรทีนอยด์ สามารถลดต้นทุนการใช้สารสีมาผลิตปลาสวยงามเพื่อการส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันบนเวทีตลาดโลก และยังมีการประยุกต์ใช้วิธีการสร้างอุปกรณ์ที่ทำอนุภาคขนาดเล็กในราคาถูกกว่าการใช้เครื่องมือสำเร็จรูปลงอย่างมาก ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โทร. (02) 942-8894

สกัดเปลือกลำไย เป็นผงสีย้อมธรรมชาติ

ผลงานการใช้ประโยชน์จากเปลือกต้นลำไยเหลือทิ้งสำหรับสกัดเป็นผงสีย้อมธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ในกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม การศึกษาและสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ต้นลำไยที่มีอายุมากมักให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ผลผลิตน้อยลง ชาวสวนจึงตัดต้นลำไยทิ้ง นำส่วนที่ตัดแล้วมาทำฟืน โดยการทำฟืนส่วนมากนิยมใช้แกนกลางของต้นลำไย เปลือกส่วนนอกของต้นลำไยมักจะหลุดออกไปกับแรงกระแทกในขณะที่ตัดและการขนส่ง เปลือกที่หลุดออกมักถูกทิ้งเป็นขยะ บ้างก็นำไปเผาทิ้ง ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ คุณณัฐกร เป็งใย นักศึกษาภาควิชาคหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จึงมีแนวคิดนำเปลือกต้นลำไยมาสกัดเป็นผงสีย้อมธรรมชาติ เพื่อเป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. (053) 885-600

เรือรดน้ำผักอัตโนมัติ

เรือรดน้ำผักอัตโนมัติ

เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานของเกษตรกรในการทำงาน ระหว่างการดูแลแปลงผักยกร่องที่มีความยาว 25 เมตร ความลึกของร่องน้ำไม่เกิน 1.5 เมตร ความกว้างไม่เกิน 3 เมตร คันดินกว้างไม่เกิน 3 เมตร คุณจักรพงษ์ จันทวิมล และ คุณพงศ์ศิริ ศิลา นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาลัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โทร. (02) 954-7300 ต่อ 594 จึงได้ออกแบบและสร้างเรือรดน้ำผักอัตโนมัติ ด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน และรณรงค์การใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น

ตู้อบแห้ง 2 ระบบ
ทีมเจ้าของผลงาน ตู้อบแห้ง 2 ระบบ

ตู้อบแห้ง 2 ระบบ        

คุณนิชาภา อ่ำเพียร คุณกวินท์ ขมินทกุล และ คุณภัคพงษ์ นิลคง นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โทร. (054) 237-399 ต่อ 3840 ได้ร่วมกันออกแบบและสร้างตู้อบแห้ง 2 ระบบ สามารถใช้งานได้ด้วยแหล่งพลังงาน 2 ระบบ คือ พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการอบแห้งในเวลากลางวัน หรือเวลาที่มีแสงแดดเต็มที่ และตู้อบแห้งยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในการหมุนของพัดลม 1 คู่ เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของอากาศภายในตู้อีกด้วย

ส่วนพลังงานแหล่งที่สอง คือพลังงานความร้อนจากการเผาก๊าซหุงต้ม เพื่อการอบแห้งในเวลากลางคืน หรือเวลาที่ไม่มีแสงแดด ซึ่งความจุต่อครั้งของการอบแห้งของตู้อบนี้ อยู่ที่ 10-20 กิโลกรัม ระยะเวลาในการอบ 5.8 ชั่วโมง สำหรับผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ เห็ดนางฟ้า กล้วยน้ำว้า พริกแดง ดอกอัญชัน หรือแม้แต่ขนมแปรรูปจากผลไม้ อย่างมะม่วงแผ่น หรือส้มแผ่น เป็นต้น

หยวกกล้วยกรอบ

คุณพีรพล สุขเกษม คุณธงชัย ทองกร คุณวชิร เรียงมูลตรี และ คุณกชพร แช่ฉั่ว นักศึกษาสาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โทร. (02) 855-0000 ได้ร่วมกันพัฒนา “หยวกกล้วยกรอบ” เพื่อเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งต่อยอดมาจากการทำกระดาษด้วยใยต้นกล้วย

กลุ่มนักศึกษาได้นำหยวกกล้วยมาหั่นเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดพอหมาดๆ แล้วทาด้วยซอสปรุงรส แล้วตากแดดอีกครั้ง หลังจากนั้นนำไปทอดให้กรอบ ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปอบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์กรอบนานขึ้น หยวกกล้วยอบกรอบ จัดเป็นอาหารรับประทานเล่นที่ให้ไฟเบอร์ เพื่อช่วยในการขับถ่ายของเด็กๆ และผลิตภัณฑ์นี้ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยได้อีกด้วย

รถพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพ
ทีมเจ้าของผลงาน รถพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพ

รถพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพ

คุณเนติพงษ์ ต้องกระโทก คุณอัญชสา ประมวลเจริญกิจ และ คุณศิริลักษณ์ พานโคกสูง นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โทร. (042) 754-088 ได้ร่วมกันพัฒนารถพ่นน้ำปุ๋ยชีวภาพ มีขนาดกว้าง 0.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 1.1 เมตร เพื่อใช้พ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพในสวนมันสำปะหลังที่มีความสูงของต้นไม่เกิน 80 เซนติเมตร และสามารถใช้พ่นกับพืชได้หลากหลายชนิด เพื่อช่วยลดปัญหาความเมื่อยล้าของเกษตรกร และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

รถพ่นปุ๋ยมีขนาดกะทัดรัดเหมาะต่อการทำงานในพื้นที่ที่มีขนาดจำกัด สามารถพับเก็บและปรับองศา ปรับระดับความสูงแขนพ่นได้ ลดพื้นที่การจัดเก็บ เป็นรถพ่นปุ๋ยที่ใช้งานได้หลากหลายงาน เป้าหมายของผู้ใช้คือ เกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ไร่

ไวน์สีน้ำเงิน จากอัญชัน

ปัจจุบัน การหมักไวน์นิยมใช้เชื้อยีสต์ในสกุล Sacharomyces เช่น S.cerevisiae เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ทนต่อความเข้มข้นของน้ำตาลและแอลกอฮอล์สูง เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส แต่อันที่จริงแล้ว ไวน์สามารถผลิตได้จากผลไม้หลายชนิด เช่น สับปะรด ลิ้นจี่ หม่อน ฯลฯ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีผลไม้ท้องถิ่นหลายชนิดจึงมีการผลิตไวน์เป็นสินค้าท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากชาวบ้านทั่วไปขาดความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์และเทคโนโลยีการหมัก

คุณศรีเพชร ทองขาว คุณพรทิพย์ สุขสมชิต คุณสิริสุดา ชัญถาวร และ คุณจริญญา ผุดมี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมกันคิดค้น “นวัตกรรมไวน์สีน้ำเงิน จากอัญชัน” เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ผลิตไวน์ระดับท้องถิ่น ใช้ยีสต์สำหรับทำขนมปังที่มีจำหน่ายทั่วไปในราคาถูก ในการทำไวน์  ซึ่งยีสต์ทำขนมปังนี้ เป็นเชื้อยีสต์ S.cerevisiae เช่นเดียวกัน เพียงแต่ต่างสายพันธุ์ วัตถุดิบสำหรับทำไวน์นั้น ผู้วิจัยมุ่งเน้นการใช้สมุนไพรในการผลิตไวน์ เนื่องจากคาดว่าจะมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ระบบควบคุมการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอัจฉริยะ 4.0
คุณธนพัฒน์ กมลพงศ์สกุล เจ้าของผลงาน

ระบบควบคุมการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอัจฉริยะ 4.0

เนื่องจาก กุ้งก้ามแดง เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและทำรายได้ให้กับเกษตรกรค่อนข้างสูง ทั้งการเลี้ยงแบบสวยงามและเลี้ยงเพื่อการบริโภค อย่างไรก็ดี คุณภาพของกุ้งก้ามแดงจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำและการควบคุมการเลี้ยงที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของการเจริญเติบโต

ดังนั้น คุณธนพัฒน์ กมลพงศ์สกุล นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น โทร. (02) 763-2600 ต่อ 2740 จึงได้ออกแบบระบบควบคุมการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอัจฉริยะ 4.0 เพื่อนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาใช้ควบคุมระบบการเลี้ยง เช่น อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรด-ด่าง ค่าออกซิเจนในน้ำ การให้อาหารอัตโนมัติ การเปลี่ยนถ่ายน้ำอัตโนมัติ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรสามารถควบคุมระบบผ่านทางหน้าเว็บไซต์และบนโมบายแอปพลิเคชั่น (Mobile App.) ได้อย่างสมบูรณ์