ชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม หนุนผลิต “พรรณไม้น้ำ” เพื่อส่งออก

ฟิโลเดนดรอน

“พรรณไม้น้ำ” เป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งของไทยที่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะพรรณไม้น้ำสกุล Anubias ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 50 ล้านบาท ที่ผ่านมา

การส่งออกสินค้าพรรณไม้น้ำมีปัญหาไส้เดือนฝอยศัตรูพืชติดไปกับสินค้า ทำให้ประเทศผู้นำเข้าปลายทางเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้ามากยิ่งขึ้น จากปัญหาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตพรรณไม้น้ำปลอดไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเพื่อการส่งออก ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาไส้เดือนฝอยในสินค้าพรรณไม้น้ำได้สำเร็จ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทำให้สินค้าพรรณไม้น้ำของไทยมีทิศทางสดใสในตลาดโลก

ดร.นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด

ดร.นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า พรรณไม้น้ำเป็นสินค้าที่ไทยมีการส่งออกมาเกือบ 20 ปี โดยส่งออกควบคู่ไปกับปลาสวยงาม แต่ที่ผ่านมา ประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะ EU ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสินค้าพรรณไม้น้ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่าจะมีไส้เดือนฝอยศัตรูพืชติดไปกับรากพรรณไม้น้ำที่นำเข้าและไปแพร่ระบาดทำลายพืชปลูกใน EU

ซึ่งหากตรวจพบว่า มีไส้เดือนฝอยศัตรูพืชปนเปื้อน สินค้าจะถูกตีกลับหรือถูกเผาทำลายทิ้งทันที กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาการผลิตพรรณไม้น้ำปลอดไส้เดือนฝอยศัตรูพืชเพื่อการส่งออก” เพื่อยกระดับการผลิตพรรณไม้น้ำของไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก.

ชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม

กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม หรือ NEMA KIT ใช้สำหรับตรวจแยกไส้เดือนฝอยซึ่งเป็นศัตรูพืชในกลุ่ม migratory endoparasite เป็นชุดเครื่องมือตรวจแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพรรณไม้น้ำที่มีขนาดเล็ก พร้อมติดตั้ง Mini microscope กำลังขยาย 50 เท่า ใช้ส่องตรวจหาไส้เดือนฝอยที่แยกจากรากได้ทันที

ซึ่งเกษตรกรสามารถพกพาชุดตรวจสอบดังกล่าวไปใช้ในแปลงปลูกพืชที่ประสบปัญหาการปนเปื้อนไส้เดือนฝอยในระบบรากได้อาทิ พรรณไม้น้ำ กล้วยไม้ หน้าวัว ฟิโลเดนดรอน กวักมรกต และไม้ประดับอื่นๆ เพื่อติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไส้เดือนศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง จะสามารถป้องกันกำจัดในแหล่งผลิตได้ทันท่วงที

หลักการทำงานของชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนาม เป็นกระบวนการแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืชด้วยคลื่นเสียงอัลตร้าโซนิค (Ultrasonic) ที่ความถี่ 40 กิโลเฮิร์ต ผลักดันให้ไส้เดือนฝอยที่อาศัยอยู่ภายในรากเคลื่อนที่ออกมา โดยมีน้ำเป็นตัวกลางส่งคลื่นความถี่สู่รากพืช มีผลทำให้โมเลกุลของของเหลวเกิดการบีบอัดและคลายตัวเป็นจังหวะ เกิดเป็นฟองอากาศขนาดเล็กๆ ที่มีพลังงานแฝง ซึ่งสามารถเข้าซอกซอนในระบบรากและรบกวนหรือขับไล่ไส้เดือนฝอยให้เคลื่อนที่ออกมาสู่น้ำ โดยใช้เวลาตรวจเพียง 20 นาทีก็ทราบผล และตรวจได้ครั้งละ 2 ตัวอย่าง มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้เครื่องพ่นหมอก

ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชติดไปกับรากพรรณไม้น้ำ

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ส่งมอบชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนามให้กับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช นำไปเป็นเครื่องมือตรวจสอบพืชต้องสงสัยการปนเปื้อนไส้เดือนฝอยศัตรูพืชที่อาจติดมากับสินค้าเกษตรนำเข้า เช่น หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม ซึ่งจะทราบผลอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งยังช่วยประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างตรวจที่ห้องปฏิบัติการ

นอกจากนั้น นักวิจัยด้านไส้เดือนฝอยของประเทศออสเตรเลียได้นำเทคนิคการตรวจแยกไส้เดือนฝอยจากรากพืชโดยใช้คลื่นเสียง Ultrasonic นี้ ไปใช้ในห้องปฏิบัติการ และทางออสเตรเลียยังได้สนับสนุนให้กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  และกัมพูชา ใช้ชุดตรวจไส้เดือนฝอยภาคสนามโดยใช้คลื่นเสียง Ultrasonic ด้วย

นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตรยังได้วิจัยและพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มพรรณไม้น้ำ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีระบบปลูกแบบใช้ดินซึ่งมีโอกาสปนเปื้อนไส้เดือนฝอยสูง สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในฟาร์มผลิตพรรณไม้น้ำ มีดังนี้ คือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุปลูก ได้แก่ ดิน ทรายหยาบ เม็ดกรวดขนาดเล็ก จากแหล่งที่อาจมีไส้เดือนฝอยศัตรูพืชระบาด เช่น ดินแปลงปลูกกล้วย พริกไทย หรือดินที่มาจากแปลงนา

วัสดุปลูกเช่นดิน ทรายหยาบ อาจมีไส้เดือนฝอย

หากไม่ทราบแหล่งที่มาของวัสดุปลูกควรเผาด้วยความร้อนโดยการใช้แกลบเผาเป็นเวลา 8 ชั่วโมง หรือตากแดดจัด 2-3 แดด ก่อนนำมาปลูก ทั้งยังควรทำความสะอาดบ่อปลูก สำหรับบ่อปลูกใหม่ควรล้างเศษดินออกให้หมด ตากทิ้งไว้แห้งสนิท หรืออาจใช้ไอร้อนหรือน้ำร้อนที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส เทราดในบ่อแล้วปล่อยให้แห้งสนิท

ส่วนบ่อปลูกเก่าควรล้างทำความสะอาดทุก 1-2 ปี โดยเฉพาะบ่อปลูกต้นแม่พันธุ์ของพรรณไม้น้ำ โดยเทคลอรีน 10-40 % แช่กรวดหรือทรายหยาบในบ่อปลูกทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ปล่อยให้กรวดหรือทรายหยาบในบ่อแห้งสนิท ก่อนย้ายต้นพืชลงปลูก

น้ำที่ใช้เพาะปลูกพรรณไม้น้ำต้องมาจากแหล่งน้ำที่สะอาด ควรมีระบบพักน้ำที่ใช้เพาะปลูกในถังกักเก็บน้ำทรงสูง หรือถังเก็บน้ำที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ลิตร เพื่อให้ไส้เดือนฝอยที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำตกตะกอนที่ก้นถัง และใช้น้ำส่วนเหนือก้นถังประมาณ 50 เซนติเมตร และไม่นำต้นพันธุ์พรรณไม้น้ำจากแหล่งผลิตที่เคยตรวจพบไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกัน Radopholus และ Hirchmanniella หรือไม่นำพรรณไม้น้ำจากต่างถิ่นเข้ามาในฟาร์มเพื่อป้องกันการปนเปื้อน

ก่อนย้ายปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อใหม่ควรตัดรากส่วนปลายออก เหลือรากติดหน่อประมาณ 1 นิ้ว และนำรากแช่ในสารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ ฟิโปรนิล, อะบาเม็กติน หรืออิมิดาโคลพริด ความเข้มข้น 0.3 % นาน 30 นาที หรือแช่รากในสารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวร่วมกับการใช้คลื่นเสียง Ultrasonic เป็นเวลา 5 นาที  ค่อยย้ายต้นลงปลูกในบ่อสะอาด จะสามารถกำจัดไส้เดือนฝอยได้ 90-100 %

ปลูกแบบใช้ดินซึ่งมีโอกาสปนเปื้อนไส้เดือนฝอยสูง

อย่างไรก็ตาม ควรติดตามเฝ้าระวังการระบาดของไส้เดือนฝอยในฟาร์ม โดยสังเกตอาการของพืชในบ่อปลูก หากพบว่าพืชเจริญเติบโตช้า ใบเหี่ยวเหลืองหรือใบสลด ควรสุ่มตรวจรากโดยใช้ชุดตรวจสอบไส้เดือนฝอยภาคสนาม หรือส่งตัวอย่างตรวจที่ห้องปฏิบัติการไส้เดือนฝอยของกรมวิชาการเกษตรได้

หากสนใจ “ชุดตรวจสอบไส้เดือนฝอยภาคสนาม” และเทคนิคการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยในฟาร์มผลิตพรรณไม้น้ำ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ  กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-7432