โรงสีหมดเงินซื้อข้าว แบงก์เข้มปล่อยกู้นาปรัง9ล้านตันเคว้ง

โรงสีขาดสภาพคล่องหนัก ถูกแบงก์กรุงไทยเข้มงวดปล่อยเงินกู้แพ็กกิ้งสต๊อก-ตั๋ว P/N หลังพบ NPL พุ่ง จากวงเงิน 70,000 ล้านบาท หวั่นขาดเงินซื้อข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาด 3 เดือนนี้อีก 9 ล้านตันข้าวเปลือก ด้านนายก ส.โรงสีข้าว ดิ้นทำหนังสือถึงพาณิชย์-คลัง ขอให้ช่วยแก้ปัญหา หากแบงก์ยังไม่ปล่อยกู้ หนี้ดีที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด

โรงสีข้าว หนึ่งในกลไกสำคัญของอุตสาหกรรมข้าวครบวงจรในประเทศ กำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก เมื่อสถาบันการเงินในประเทศหันมาใช้มาตรการเข้มงวดในการปล่อยกู้ ส่งผลให้โรงสีขาดสภาพคล่องในการซื้อข้าวเปลือกนาปรังและมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบถึงราคาข้าวเปลือก

โรงสีขาดสภาพคล่อง

นายเกรียงศักดิ์ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้ประสานกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ขอทราบความชัดเจนหลัง สมาคมโรงสีได้ทำหนังสือถึง น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ช่วยแก้ปัญหาธนาคารกรุงไทยปรับเปลี่ยนนโยบายการให้และใช้วงเงินชนิดตั๋วระยะสั้น (ตั๋ว P/N) หรือแพ็กกิ้งสต๊อก (ตั๋ว P/N) ที่เคยให้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าว “ลดลง” โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

สาเหตุที่ธนาคารกรุงไทยลดหรือยกเลิกวงเงินแพ็กกิ้ง/ตั๋วใช้เงินเป็นเพราะปีที่ผ่านมาโรงสีมีปัญหาหนี้ค้างชำระในกลุ่มโรงสีที่ซื้อข้าวหรือประมูลข้าวสารจากสต๊อกรัฐไว้ในราคาสูงประสบปัญหาราคาข้าวภายในประเทศปรับตัวลดลง 30-40% จากราคาตลาด เช่น ซื้อ/ประมูลมาตันละ 12,000 บาท ราคาร่วงเหลือ 10,000 บาท หรือหากขายข้าวออกจะขาดทุนทันทีตันละ 2,000 บาท จึงต้องเลือกว่าจะซื้อข้าวมาเติมให้ครบมูลค่าที่หายไปหรือคืนเงินชดเชยส่วนต่าง

“เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ธนาคารก็เหมาเข่งไม่อนุมัติให้วงเงินกับโรงสีรายใหม่ แถมตัดวงเงินโรงสีรายเดิมที่ยังใช้ไม่เต็มวงเงิน ทำให้โรงสีไม่กล้านำเงินไปคืนเพราะกลัวจะไม่ได้วงเงินแพ็กกิ้งรอบใหม่ ส่งผลให้โรงสีกลุ่มหนึ่งขายข้าวแล้วกอดเงินสดเอาไว้ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ขายข้าว แต่กอดสต๊อกไว้ยอมเสียดอกเบี้ยเงินกู้ถึง 7% แต่ทั้งหมดนี้หากโรงสีไม่ดำเนินการชำระหนี้ภายใน 3 เดือน หนี้ดีก็จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงสีทั้งระบบ อาจจะทำให้โรงสีไม่มีสภาพคล่อง และมีผลกระทบต่อการซื้อข้าวเปลือกนาปรังปี 2560 จำนวน 9 ล้านตันที่จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนนี้”

อย่างไรก็ตาม โรงสีส่วนหนึ่งพยายามเปลี่ยนแหล่งเงินแพ็กกิ้งใหม่แทนธนาคารกรุงไทย “แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก” เนื่องจากธนาคารกรุงไทยเป็นแหล่งเงินที่ปล่อยให้กับโรงสีทั่วประเทศในสัดส่วนถึงร้อยละ 50 คิดเป็นวงเงินกว่า 60,000 ล้านบาท

“ผมขอให้ธนาคารกรุงไทยเลือกพิจารณาให้แพ็กกิ้งออกตั๋วเป็นรายกรณี อย่าเหมารวมธุรกิจโรงสีทั้งหมด เพราะหากโรงสีไม่มีสภาพคล่อง เราก็จำเป็นต้องซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาตามกำลังที่มีอยู่ หรือมีน้อยก็ซื้อได้น้อย แต่เราก็พยายามเร่งรอบการซื้อข้าวเร็วและขายข้าวให้เร็วขึ้น เพื่อนำเงินหมุนเวียนกลับไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาต่อไป” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า ความเข้มงวดในการให้แพ็กกิ้งของธนาคารจะส่งผลกับราคาข้าวเปลือกและราคาข้าวสารแน่นอน โดยโรงสีจะถูกสถานการณ์เร่งให้ซื้อข้าว ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งขายให้กับผู้ส่งออก ในขณะที่ผู้ส่งออกเองก็รู้สัญญาณว่า ปีนี้โรงสีไม่สามารถเก็บสต๊อกข้าวไว้ได้นาน ดังนั้นโรงสีก็จะถูก “กดราคา” รับซื้อข้าวสารจากผู้ส่งออกและต้องลดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาลง

ดังนั้นจึงมองว่า แนวโน้มราคาข้าวนาปรังปีนี้น่าจะปรับลดลงจากราคาปัจจุบัน กล่าวคือ ราคาเปลือกข้าวขาวตันละ 7,600-8,000 บาท สีเป็นข้าวขาว 5% ตันละ 11,700 บาท และเป็นข้าวนึ่งตันละ 12,100 บาท ข้าวเปลือกมะลิจะอยู่ที่ตันละ 8,500-11,000 บาท สีเป็นข้าวสารหอมมะลิตันละ20,000 บาท

เข้มงวดแพ็กกิ้งผู้ส่งออก

ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการเงินได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการพิจารณาให้แพ็กกิ้งเครดิต/แพ็กกิ้งสต๊อกกับผู้ประกอบการส่งออกเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการโรงสีข้าวเพราะถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจข้าวเช่นเดียวกันกับโรงสีแต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระและเครคิตของผู้ส่งออกข้าวแต่ละรายด้วย ทำให้ปัญหานี้ยังไม่กระทบกับการส่งออกข้าว

“สำหรับการรับซื้อข้าวจากโรงสีได้กำหนดราคารับซื้อข้าวสารตามราคาตลาดเราจะไม่ใช้เหตุผลนี้มาปรับลดราคารับซื้อ”

หนี้โรงสีทำ NPL กรุงไทยพุ่ง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ธนาคารมียอดปล่อยกู้ให้กับกลุ่มโรงสีสูงถึง 70,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ ปรากฏหลังจากที่กลุ่มโรงสีข้าวในฐานะลูกหนี้ธนาคารไม่สามารถชำระคืนหนี้ให้แก่ธนาคารและกลายเป็นลูกหนี้เสียที่ตกชั้นNPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารทำก็คือ แยกกลุ่มลูกหนี้โรงสีข้าวและพิจารณาศักยภาพของแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่ากลุ่มโรงสีข้าวรายใหญ่จะมีอำนาจจต่อรองที่สูงกว่า ส่วนรายเล็กบางรายที่เข้ามาทำส่งออกด้วยก็จะดูวินัยว่า ซื้อข้าวมาแล้วมีการผ่องถ่ายออกไปรวดเร็วเพื่อหมุนเวียน และมีคอร์ใหม่เข้ามามีเงินหมุนซื้อได้ สต๊อกโล่ง ธนาคารก็จะเข้าไปปล่อยกู้เพิ่มให้

“เราจะเน้นปล่อยกู้ให้เฉพาะโรงสีข้าวที่เอาเงินไปซื้อข้าวจากชาวนาเพิ่มเพราะต้องการให้เงินนี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแต่ถ้าเป็นโรงสีข้าวที่เอาเงินกู้เพื่อไปจ่ายคืนหนี้คนอื่น ทางเราจะไม่ปล่อยกู้ ดังนั้นธนาคารจะมีการพิจารณาละเอียดก่อนจะปล่อยเงินกู้ออกไปให้แต่ละราย เพราะช่วงที่ผ่านมาที่เราปล่อยกู้กลุ่มโรงสีข้าวมาก ทุกรายวิ่งเข้ามาที่กรุงไทยกันหมด เรามีหมดทั้งรายใหญ่รายกลาง รายเล็ก จนทำให้พอร์ตสินเชื่อโรงสีข้าวสูงถึง 70,000 ล้านบาท ทำให้เราปล่อยสินเชื่อโรงสีข้าวกระจุกตัวสูงถึง 57% ของอุตสาหกรรมนี้แล้ว ทะลุเพดานที่กำหนดไว้ 50% ไปแล้ว” นายผยงกล่าว

ส่งผลให้ธนาคารกรุงไทยมีปัญหาลูกหนี้โรงสีข้าวเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เสียสูงเป็นอันดับหนึ่งโดยระดับ NPL สูงเฉลี่ยเท่ากับ NPL รวมของธนาคารที่อยู่ระดับ 3.97% (ข้อมูลสิ้นปี 2559) โดยปีที่แล้วถือเป็นปีที่ธนาคารมีหนี้ NPL เพิ่มสูงเกือบ 20% ซึ่งจะมาจากกลุ่มโรงสีข้าวเช่นกัน

กสิกรมองปล่อยกู้โรงสีเสี่ยงสูง

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาธนาคารระมัดระวังและเข้มงวดในการเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มโรงสีข้าว และปีนี้ธนาคารก็ยังไม่ลดความเข้มงวดลง จาก 2 ปัจจัยด้วยกันคือ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง กับปัญหาการปล่อยสินเชื่อในอดีต

“ปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของการตรวจสต๊อกและการระบายข้าวของภาคธุรกิจนี้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่การพิจารณาสินเชื่อไม่สะท้อนการประกอบธุรกิจที่แท้จริง ดังนั้นปีนี้ธนาคารจึงเพิ่มการระมัดระวังมากขึ้น จากการมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในการเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบก่อนปล่อยสินเชื่อว่า มียอดขายและส่งมอบเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สต๊อกข้าวเป็นอย่างไร ปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มโรงสีข้าวค่อนข้างต่ำเพียง 2% ของพอร์ตสินเชื่อคงค้างของธุรกิจรายใหญ่ที่ปัจจุบันมีพอร์ตคงค้างอยู่ที่ 510,000 ล้านบาท ในขณะที่ NPL ของกลุ่มโรงสีข้าวเชื่อว่าอยู่ต่ำกว่า 1.5%

ขณะที่นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มโรงสีข้าวที่เป็น SMEs ประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพียง 2.1% ของพอร์ตสินเชื่อ SMEs รวมที่อยู่ 650,000 ล้านบาท ส่วนการปล่อยกู้ใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มโรงสีข้าวในแต่ละปีมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารต้องเข้าไปปล่อยสินเชื่อและธนาคารมองว่า ธุรกิจโรงสีข้าวยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์