เผยผลการดำเนินงานโครงการสร้างมูลค่าจากไร่นาฯ ตอบโจทย์ช่วยลดปัญหาการเผาและรักษาสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลการดำเนินงานโครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ช่วยเกษตรกรรู้รักสามัคคี ทำเกษตรแบบลดต้นทุน ตอบโจทย์ลดปัญหาการเผาและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช 2562 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเศษวัสดุการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่และชุมชน ลดการเผา ลดปัญหาหมอกควัน สร้างสมดุลระบบนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตและพลังงาน     ชีวมวล พร้อมจัดอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 26,460 ราย ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร   (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 แห่ง ร่วมกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ซึ่งมีผู้นำเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ

ความคืบหน้าการดำเนินงานขณะนี้ (เดือนสิงหาคม 2562) ได้จัดประชุมชี้แจงและประชาสัมพันธ์โครงการฯ ใน ศพก. และ ศดปช.ครบแล้วทั้ง 882 ศูนย์ คิดเป็น 100% สำหรับการอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ครั้งที่ 1 เป็นการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการของชุมชน และจัดทำแผน ดำเนินการไปแล้วกว่า 65% ครั้งที่ 2 เน้นให้ความรู้และดำเนินการตามแผน ดำเนินการแล้วประมาณ 60% โดยกิจกรรมที่ดำเนินการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดมูลค่ามีดังนี้

  1. การจัดทำฐานเรียนรู้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยจัดทำกองปุ๋ยหมัก ณ ศพก. และ ศดปช. หรือศูนย์เครือข่าย จำนวน 1,533 จุด ได้ปริมาณปุ๋ย 5,729 ตัน
  2. การจัดการเศษวัสดุการเกษตร จำนวน 708 จุด เช่น การจัดทำปุ๋ยหมัก ได้แก่ การไถกลบตอซัง การผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง การทำน้ำหมักชีวภาพ จำนวน 579 จุด การผลิตเป็นอาหารสัตว์ ได้แก่ ฟางข้าวอัดก้อน จำนวน 21 จุด ใช้เป็นวัสดุสำหรับการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ วัสดุเพาะเห็ด และวัสดุปลูกพืช จำนวน 90 จุด ใช้เป็นวัสดุสำหรับแปรรูป หัตถกรรม และอุตสาหกรรม ได้แก่ วัสดุโครงสร้างโต๊ะ เก้าอี้ กระดาษใยสับปะรด ไม้กวาดทางมะพร้าว และกระดาษฟางข้าว จำนวน 6 จุด และใช้เป็นพลังงานทางเลือก ได้แก่ เตาเผาถ่านไบโอชาร์ไร้ควัน จำนวน 12 จุด
  3. การเชื่อมโยงตลาดในการจัดซื้อวัสดุการเกษตร ชนิดของวัสดุการเกษตรที่รับซื้อ ได้แก่

– ปุ๋ยหมัก ดำเนินการ 2 จุด ปริมาณ 10 ตัน ราคา 20,000 บาท มีศูนย์ข้าวชุมชนเป็นผู้รับซื้อ

– ดินปลูก ดำเนินการ 1 จุด ปริมาณ 4 ตัน ราคา 10,000 บาท มีร้านขายต้นไม้เป็นผู้รับซื้อ

Advertisement

– ปุ๋ยคอก ดำเนินการ 1 จุด ปริมาณ 2.25 ตัน ราคา 1,250 บาท มีเกษตรกรผู้ปลูกผักเป็นผู้รับซื้อ

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานโครงการฯ จนกระทั่งสิ้นสุดระยะเวลา กรมส่งเสริมการเกษตรมั่นใจว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น จากการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตรซึ่งสร้างปัญหาหมอกควัน มลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดผลดีใน 5 ด้าน ได้แก่ อากาศดี ดินดี รายได้ดี   สิ่งแวดล้อมดี และมีสุขภาพดี ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ในไร่นาของตนเอง สามารถลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ และเมื่อชุมชนได้มีส่วนร่วมดำเนินการกิจกรรมร่วมกันจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน นับเป็นกิจกรรมการทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อร่วมกันเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

Advertisement