เผยแพร่ |
---|
เมื่อเร็วๆ นี้ นางระนอง จรุงกิจกุล เกษตรจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วย นายสุทีป สุธาประดิษฐ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกระบี่ นายวีระเทพ จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกระบี่ นายชำนาญ นุ่นดำ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ นายสุเทพ หนูรุ่น เกษตรอำเภอเมืองกระบี่ นายศรชัย ทองเลี่ยมนาค นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ระดับ 7 ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดกระบี่ และ นายสุนันท์ หิรัญ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง ลงพื้นที่สร้างการรับรู้การเฝ้าระวังโรคใบร่วงยางพารา และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร การสังเกตลักษณะอาการของโรค การดูแลสวนยางที่เกิดการระบาด เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนสวนยางมีความรู้ความเข้าใจแนวทางการจัดการและการดูแลรักษาสวนยางหลังจากพบการระบาดของโรค โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่หมู่ 1 บ้านในสระ ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เข้าร่วมรับฟังจำนวน 40 ราย ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
นางระนอง จรุงกิจกุล กล่าวว่า ตามที่ได้สั่งการให้ทุกอำเภอมีการติดตามเฝ้าระวังโรคใบร่วงยางพาราของเกษตรกรในทุกพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบว่าแปลงไหนที่มีอาการของโรคดังกล่าวให้เกษตรกรรีบมาแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอย่างทันที สำหรับแปลงของเกษตรกรในพื้นที่หมู่ 1 บ้านในสระ ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันพบว่าสวนยางของเกษตรกรเป็นโรคใบร่วงยางพาราแล้ว จำนวน 16 ราย พื้นที่ 275 ไร่ และพบในสวนยางพื้นที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ จำนวน 25 ไร่ รวมพื้นที่ที่ได้รับรายงานแล้ว จำนวน 300 ไร่
นายวีระเทพ จันทร์แก้ว กล่าวว่า ตามที่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำวิธีการกำจัดเชื้อราชนิดดังกล่าว โดยการใช้สารเคมี ทั้งการใช้เครื่องพ่น และการใช้โดรนบินขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ สำหรับในพื้นที่หมู่ 1 บ้านในสระ ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ อาจจะมีการพบการระบาดเพิ่มเติมได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ได้แก่ ความชื้น ความอ่อนแอของต้นพืช และเชื้อโรคที่พัดปลิวไปกับลมหรือฝน หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ต้นพืชอาจไม่แสดงอาการของโรคได้ จึงต้องมีการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้จะได้มีการทดสอบวิธีการกำจัดเชื้อราในสวนยางที่เป็นโรคใบร่วงด้วยการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนบินพ่นเหนือแปลงระบาดของเกษตรกรทั้ง 16 ราย เนื้อที่รวม 275 ไร่ เพื่อยับยั้งอาการของโรคใบร่วงและควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดไปยังแปลงข้างเคียง และจะมีเจ้าหน้าที่ของ กยท. มาติดตามสังเกตอาการของต้นยางเป็นระยะ ในส่วนของเกษตรกรก็ให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นยางจะช่วยให้ต้นยางไม่ทรุดโทรมและมีความต้านทานต่อโรคมากขึ้น