“นิพนธ์ คนขยัน” นายก อบจ. บึงกาฬ แนะแนวทางแก้วิกฤตราคายางอย่างยั่งยืน

ในระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่จังหวัดบึงกาฬได้แยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคายอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2554 จังหวัดบึงกาฬได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งด้านสังคม การค้า การลงทุน ความสำเร็จในวันนี้ สืบเนื่องจากชาวบึงกาฬเป็นคนขยันทำมาหากินแล้ว พวกเขายังได้ผู้นำที่ดี อย่าง “คุณนิพนธ์ คนขยัน” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ. บึงกาฬ) ที่มุ่งพัฒนาบึงกาฬให้เป็นสังคมแห่งความสุข มีอาชีพการงานที่มั่นคง และสร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชนชาวบึงกาฬ ทำให้ “จังหวัดบึงกาฬ” ได้รับการยกย่องให้เป็น “เมืองหลวงแห่งยางพารา แห่งภูมิภาคอีสาน” มาจนถึงทุกวันนี้   

ถนนยางพารา… เพิ่มช่องทางใช้ยางในประเทศ

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เเละคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมถนนยางพาราสายแรกของจังหวัดบึงกาฬ ที่อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ นับเป็นนวัตกรรมการสร้างถนนลาดยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์ เทคโนโลยีเเละนวัตกรรมก้าวล้ำสมัยในการสร้างถนนรูปแบบใหม่แห่งเเรกในประเทศไทย ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กับจังหวัดบึงกาฬ เเละองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ

มจพ. ได้คิดค้น “ถนนลาดยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์” โดยการผสมน้ำยางพาราราดลงบนถนนดินลูกรัง ช่วยให้ถนนยางพารามีความคงทนเเละมีลักษณะการอุ้มน้ำคล้ายถนนคอนกรีต สามารถใช้เเทนชั้นหินคลุกสำหรับถนนสายหลักได้ เป็นผลงานการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความสุขให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราไปพร้อมๆ กัน

ผมเชื่อมั่นว่า ท้องถิ่นทั่วประเทศ อยากได้ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพราะ 1. เป็นถนนที่มีคุณภาพดี ราคาถูก 2. เป็นการซื้อน้ำยางจากเกษตรกรโดยตรง ช่วยระบายยางออกจากท้องตลาดได้ด้วย เพราะถนนยางพารา ยาว 100 เมตร จะใช้ปริมาณน้ำยางสด ประมาณ 1 ตัน หาก อบต. ทั่วประเทศ สามารถลงทุนสร้างถนนยางพาราสักหนึ่งเส้นทาง ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ในแต่ละตำบล จะช่วยระบายยางออกจากท้องตลาดได้อีกมหาศาล

 

แผนแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มยาง 193 ล้านบาท  

สหกรณ์ชาวสวนยาง 13 แห่ง ของจังหวัดบึงกาฬ ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองราคาซื้อขายยาง โดยเฉพาะยางก้อนถ้วยกับกลุ่มผู้ประกอบโรงงานให้สูงขึ้นจากเดิม ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตที่ถูกลง ต่อมาทางกลุ่มเกษตรกรฯ เล็งเห็นว่า หากยังขายยางก้อนถ้วยต่อไป รายได้ที่เกษตรกรได้รับอาจไม่เพิ่มสูงมากนัก ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ หากเผชิญหน้ากับภาวะราคายางตกต่ำในอนาคต พวกเขาจึงตัดสินใจก่อสร้างโรงงานแปรรูปหมอนยางพาราขึ้น โดยกู้เงิน 10 ล้านบาท จากธนาคารออมสินมาใช้ดำเนินงาน

ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ เพื่อพัฒนายางพารา ตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราจังหวัดบึงกาฬ จึงได้จัดสรรงบประมาณแบบให้เปล่า วงเงิน 193,575,000 บาท แก่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด เพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 โรงงานผลิตยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพารา เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ลดความผันผวนด้านราคาจากตลาดโลก

กรณี ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ได้รับงบฯ ปี 2560 แบบให้เปล่า จำนวน 193,575,000 บาทจากรัฐบาลนั้น หากกิจการดังกล่าว มีผลกำไรเกิดขึ้น ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬสหกรณ์ฯ ต้องการแสดงความขอบคุณและส่งคืนผลกำไรกลับให้คนไทยมีความสุข ผมในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬได้เสนอแนวคิดกับท่านรองนายกฯ วิษณุ ว่า ยินดีขายหมอนยาง-ที่นอนยางพาราราคาถูก ให้กับกรมทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

โครงการแปรรูปยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ฯ จะช่วยยกระดับรายได้แก่ชาวสวนยางบึงกาฬได้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ปัจจุบัน ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ วางตั้งเป้าหมายผลิตหมอนยางพาราออกจำหน่ายในราคาไม่แพง ประมาณใบละ 500 บาท เพราะมองว่าเกษตรกรทั่วไปไม่ค่อยมีรายได้สูงสำหรับซื้อหมอนยางพาราและที่นอนยางพาราที่มีราคาแพงๆ ทางชุมนุมฯ ต้องการขายผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปในราคาพอประมาณ ไม่ให้ขาดทุนเเละพอเหลือผลกำไรบ้าง เพื่อคืนความสุขให้พี่น้องเกษตรกร สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางบางคนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าที่นอนเลย อาจให้นำหมอนยางพารา หรือที่นอนยางพาราไปใช้ก่อน โดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเงินดาวน์ และจ่ายชำระในรูปน้ำยางข้น ตามมูลค่าสินค้าในระยะเวลาที่ตกลงกัน

โดยทั่วไป หมอนยางพาราแต่ละใบจะใช้น้ำยางสดเพียงแค่ 5 กิโลกรัม มีต้นทุนค่าน้ำยางสดไม่เกิน 75 บาท เมื่อนำน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นหมอนยางพารา จะขายปลีกได้สูงถึงใบละ 1,000 บาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราในท้องถิ่น ช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไปพร้อมๆ กัน

 

ส่งเสริมเกษตรกรขายน้ำยางสดเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา เกษตรกรชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ นิยมผลิตยางก้อนถ้วยออกจำหน่ายให้แก่พ่อค้า เพราะเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และประหยัดเวลา เมื่อโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา-ที่นอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์ฯ เปิดดำเนินงาน ต้องการใช้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปยาง ประมาณวันละ 80 ตัน ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ จึงต้องเร่งส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้เปลี่ยนมาผลิตน้ำยางสดส่งขายให้กับโรงงานมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณน้ำยางสดเพียงพอสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในแต่ละวัน

การจัดงานวันยางพาราจังหวัดบึงกาฬในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง อบจ. บึงกาฬ ได้จัดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน โดยมอบหมายให้ คุณอารี โพธิจันทร์ ให้ความรู้เกษตรกร ในหัวข้อ “สาธิตการหาค่า DRC ในน้ำยางข้น”  นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจาก กยท. ร่วมให้ความรู้ ในหัวข้อ “เปลี่ยนการผลิตยางก้อนถ้วย เป็นน้ำยางสด ช่วยลดต้นทุนเกษตรกรยุคใหม่”

ผมคาดหวังว่า กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยจุดประกายให้เกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดบึงกาฬเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตยางสดมากขึ้น การผลิตน้ำยางสดมีจุดเด่นสำคัญ ผลิตง่ายแล้วยังไร้กลิ่นเหม็นรบกวน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการผลิตยางก้อนถ้วยอีกด้วย สำหรับน้ำยางสดที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ รับซื้อจากสมาชิก นอกจากการผลิตหมอนยางพารา ที่นอนยางพาราแล้ว วัตถุดิบส่วนหนึ่งจะถูกนำไปแปรรูปเป็น “ยางแผ่นรมควัน” เพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึงกิโลกรัมละ 10 บาท

วันนี้ ชุมนุมสหกรณ์ฯ มีเกษตรกรชาวสวนยางเป็นสมาชิกถึง 5,000 ครัวเรือน ที่ถือหุ้นสหกรณ์และได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของกิจการโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางร่วมกัน ผมเชื่อว่า จะมีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมาก หันมาทำน้ำยางสดออกขายมากขึ้นในอนาคต เพราะน้ำยางสดผลิตได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก สามารถเก็บน้ำยางสดออกขายที่โรงงานของชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ทุกวัน ในราคา DRC มาตรฐาน

สมาชิกสหกรณ์ฯ มีโอกาสได้เงินเพิ่มถึง 2 ช่องทาง คือ ขายยางได้ราคาสูงขึ้น แถมได้เงินปันผลจากการถือหุ้นสหกรณ์ฯ ในช่วงปลายปี ตามระเบียบสหกรณ์ หากใครขายน้ำยางสดเข้าโรงงานมาก ก็ยิ่งมีโอกาสได้เงินปันผลมากด้วยเช่นกัน ส่วนผลกำไรที่เหลือจากการปันผลให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ยินดีนำผลกำไรไปซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก เพื่อนำมาสร้างสนามกีฬาให้แก่โรงเรียน และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ฯลฯ

 

แนวทางแก้วิกฤตราคายางอย่างยั่งยืน  

ทุกวันนี้ ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้น สืบเนื่องจาก

  1. สวนยางส่วนใหญ่เข้าสู่ฤดูปิดกรีดแล้ว
  2. ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ต้นยางพาราได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีผลผลิตยางเข้าสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคายางประเภทต่างๆ ขยับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ยางก้อนถ้วย น้ำยางสด ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น

ช่วงวิกฤตราคายางพาราตกต่ำที่ผ่านมา รัฐบาลจ่ายชดเชยเกษตรกรชาวสวนยางพารา ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยเกษตรกร 1 ราย จะได้รับเงินชดเชยไม่เกิน 10 ไร่ การช่วยเหลือลักษณะนี้ เรียกว่าดี เพราะช่วยให้เกษตรกรมีเงินสดไปใช้สอย แต่เงินใช้แล้วหมดไป เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่จีรังยั่งยืน

ปัจจุบัน ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล อุดหนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงงานขยายโรงงานแปรรูปยางอีก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 โรงงานผลิตยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรสามารถขายยางได้หลายรูปแบบ จากเดิมที่เคยขายในรูป “น้ำยางสด” ก็แปรรูปขายเป็นหมอนยางพารา-ที่นอนยางพารา จาก “ยางแผ่นรมควัน” ก็แปรรูปเป็นแผ่นยางปูพื้น และวางแผนผลิตยางล้ออีแต๋น สำหรับขนส่งสินค้าในภาคเกษตร เป็นต้น

หากชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางพารา ในพื้นที่อื่นๆ มีความเข้มแข็งเช่นเดียวกับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ จำกัด ผมอยากให้ภาครัฐบาลสนับสนุนเงินทุนสำหรับใช้ลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในท้องถิ่นของพวกเขาด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการแก้ไขปัญหายางพาราได้อย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลไม่ต้องทุ่มเงินหลายพันล้านเก็บสต๊อกยาง เพื่อสร้างเสถียรภาพราคายางเหมือนในอดีต