อุปกรณ์ศอกบิด หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ COVID – 19

อาจารย์พรชัย โลหะพิริยกุล
อาจารย์ณัชชา โลหะพิริยกุล

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะหน่วยงานทางการแพทย์ ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนต่างมีการรณรงค์มีมาตรการรวมทั้งนโยบายในการป้องกันการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด ผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ภายในหน่วยงานและแจกจ่ายไปยังหน่วยงานกลุ่มเสี่ยง ชุมชนที่ขาดแคลน

สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ได้ดำเนินการออกแบบนวัตกรรมอุปกรณ์บิดลูกบิดด้วยศอกแทนมือ Handicap knob ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันและการลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคบริเวณมือ

อาจารย์พรชัย โลหะพิริยกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ และ อาจารย์ณัชชา โลหะพิริยกุล ได้ร่วมมือกันออกแบบและผลิตอุปกรณ์ศอกบิดลูกบิดแทนมือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคที่สะสมบริเวณมือจับซึ่งเป็นจุดเสี่ยงอันดับต้นๆ ของแหล่งสะสมเชื้อไวรัส Covid-19 ภายในโรงพยาบาล หน่วยงานราชการ เอกชน และอาคารสาธารณะทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการออกแบบตามแนวคิด Universal Design เพื่อคนทั้งมวล สามารถเปิดปิดประตูได้โดยไม่ใช้มือ -Handicap knob อุปกรณ์ศอกบิดลูกบิดแทนมือ โดยแจกแบบ 3 มิติ ฟรี เพื่อให้ผู้ที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถพิมพ์แจกให้กับหน่วยงานที่ต้องการใช้ประโยชน์ ปัจจุบันได้นำส่งนวัตกรรมดังกล่าวให้กับกลุ่มงานยุทธศาสตร์และแผนงานโครงการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า พร้อมกับนำส่งชิ้นแบบจริงให้กับการผลิตแม่พิมพ์พลาสติกสาขาวิชาวิศวกรรมแม่พิมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  มทร.สุวรรณูมิ เพื่อปรับปรุงด้านการผลิตชิ้นงานแม่พิมพ์ทางอุตสาหกรรม

 

สำหรับผู้ที่สนใจอุปกรณ์ศอกบิดลูกบิดแทนมือ แบบ 3 มิติ เพื่อนำไปพิมพ์แจกจ่ายจำหน่ายให้กับโรงพยาบาล อาคารสาธารณะทั่วไป สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์พรชัย อาจารย์ณัชชา โทร. (081) 398-1638