เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา การยางแห่งประเทศไทย กยท. จัดโครงการค่ายฝึกอบรมสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านยางพารา ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2564 โดยมี นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เป็นประธานเปิดการอบรมครั้งนี้ ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันตบเท้าเข้าอบรมเรื่องเทคนิคการกรีดยางทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 27 คน ณ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวในพิธีเปิดการอบรมครั้งนี้ว่า กยท. ให้ความสำคัญในการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถด้านวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมด้านยางพารา ซึ่งการอบรมในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้ทักษะทางด้านการกรีดยาง รวมถึงสรีระวิทยาของต้นยางพารา โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กยท. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาให้เรียนรู้การบูรณาการ ระหว่างศาสตร์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และศาสตร์ทางด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านยางพารา เพื่อใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย
ด้าน ดร. กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า โครงการค่ายฝึกอบรมสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านยางพาราระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2564 ครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้เข้าฝึกอบรมเฉพาะด้านเรื่องการกรีดยาง เพื่อปูทางข้อมูลในการจัดทำโครงร่างงานวิจัย กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านยางพาราโดยนักศึกษา ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน เพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์ อันเป็นโครงการสืบเนื่องจาก บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยพัฒนาการบริหารวิชาการ และทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่าง กยท. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมกันสนับสนุนโครงการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ (หุ่นยนต์กรีดยาง) ทั้งนี้ ระหว่างการฝึกอบรมเหล่าคณะอาจารย์และนักศึกษาจะได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสรีระวิทยาของต้นยาง เปลือกยาง และวิธีการกรีดยางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างถูกต้อง รวมไปถึงได้ฝึกกรีดยางจากต้นยางในสวนยางจริง เพื่อนำไปคิดสร้างสรรค์ผลิตหุ่นยนต์กรีดยางให้สามารถทำงานทดแทนคนกรีดยางได้จริง เสริมประสิทธิภาพในการกรีดยางได้ตรงตามหลักสรีระวิทยาของต้นยางพารา ก่อให้เกิดองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับวงการยางพาราไทยต่อไป