เผยแพร่ |
---|
เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้แพทย์สามารถตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ จากเลือดด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงอำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบทางเลือกใหม่ในการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสเดงกี ด้วยวิธี ELISA (Enzyme-linked Immunosorbent assay) ที่ใช้ปัสสาวะของผู้ป่วยแทนเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้ทดลองใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการรุนแรงน้อยเรียกว่า “ไข้เดงกีในระยะไข้” โดยพบว่าให้ผลแม่นยำร้อยละ 68.4
ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น เรียกว่า “ไข้เลือดออกในระยะไข้” โดยพบว่าให้ผลแม่นยำร้อยละ 63.9 ซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเดงกี เพื่อหาข้อบ่งชี้ในการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ในเบื้องต้น จากวิธีการดังกล่าว แม้จะให้ผลการตรวจที่สามารถนำไปประกอบการวินิจฉัยเบื้องต้น แต่ในรายที่ให้ผลตรวจเป็นลบต้องติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ส่วนการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี ยังคงเป็นวิธีมาตรฐาน โดยตรวจเลือดรวมจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกในระยะไข้ และครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีว่าเป็นการ “ติดเชื้อปฐมภูมิ” (มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกีได้อีก) หรือ “ติดเชื้อทุติยภูมิ” (โอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกีอีกมีน้อยมาก) ซึ่งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามความแตกต่างของสารพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ผู้คนที่มาจากต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ จะมีการตอบสนองต่อเชื้อที่แตกต่างกันด้วย