มท. ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวการจัดงานสัมมนาความร่วมมือพัฒนาพื้นที่สู่ SEDZ Earthsafe Ecovillage พื้นที่แห่งความยั่งยืนเพื่อประชาชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานการสัมมนาความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม Agriculture Solar Solutions เพื่อโครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model to Sufficiency Economy Development Zones for Human Stability & Sustainable Development) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท AMARENCO และมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ

โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล สมาชิกวุฒิสภา Mr. Alain Desvigne ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท AMARENCO  คุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย คณะผู้แทนองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมในการแถลงข่าวฯ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมนวัตกรรม Agriculture Solar Solutions เพื่อโครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model to Sufficiency Economy Development Zones for Human Stability & Sustainable Development) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท AMARENCO และมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้มีการนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการอภิปรายและการเสวนา โดยหุ้นส่วนความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เพื่อมุ่งสู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน โดย “กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) ซึ่งมีความพร้อมนำการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า (Change for Good) ด้วยการทำ ทันที (Lead to Action) แบบบูรณาการแผนงานและความร่วมมือพร้อมกันทั่วประเทศ ด้วยกลไกการขับเคลื่อนงานสืบสานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยหลักธรรม หลักคิด และหลักปฏิบัติ ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” รวมถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “อารยเกษตร” ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของ 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ภายใต้กลไกการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ บวร (บ้าน/วัด/าชการ) บรม (บ้าน/าชการ/มัสยิด) และครบ (ริสตจักร/าชการ/บ้าน) ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหง้าภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การน้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ รวมถึงพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” และพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ตลอดจนแนวพระราชดำริอื่น ๆ ได้รับการขับเคลื่อนขยายผลสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อพี่น้องประชาชนคนไทย อันจะยังความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติบ้านเมือง สร้างประเทศไทยให้มีความยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจึงได้ร่วมกับองค์การสหประชาติประจำประเทศไทย ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเริ่มจากทฤษฎีใหม่ขั้นต้น คือ การสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนในระดับจุลภาค สร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น การน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขยายสู่ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง คือ การสร้างความสามัคคีและการรวมกลุ่มในระดับชุมชน โดยน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ผ่านการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา วันที่ 8 มกราคม 2566 โครงการตำบลเข้มแข็งยั่งยืน โครงการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อุทกภัย ภัยแล้ง โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน CBDRM โครงการอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เป็นต้น เพื่อสร้างความพร้อมในการขยายผลสู่ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าภายใต้โครงการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่เป้าหมายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model to Sufficiency Economy Development Zones for Human Stability & Sustainable Development) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น จากความร่วมมือหลายภาคีเครือข่ายตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะเป็นการสร้างชุมชน สร้างอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทภูมิสังคมที่ยังแตกต่างหลากหลาย ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ สร้างรายได้ที่มั่นคง ชุมชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถขยายผลจากจุลภาคสู่มหภาคในทุกมิติ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมสู่สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ สร้างสังคมแห่งโอกาส และความเสมอภาคในหมุดหมายที่ 7, 8, 9 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

“โดยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 65 กระทรวงมหาดไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมสถาบันทิวา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งตลอด 420 วันที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ร่วมวางแผนงานขับเคลื่อน รวมถึงร่วมสร้างรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและความต้องการในการแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายที่สนใจร่วมบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สร้างต้นแบบแห่งความสำเร็จ (POC Model) จนเกิดรูปแบบการพัฒนาที่จะดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดนครนายก พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ SEDZ Earthsafe Ecovillage นี้ จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยเป็นการต่อยอดการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ทั้งการรวมศูนย์การสนับสนุนชุมชนเดิมที่อยู่ในพื้นที่ หรือการจัดสรรพื้นที่รกร้างของภาครัฐ เพื่อสร้างชุมชนใหม่สำหรับผู้ด้อยโอกาส ให้มีอาชีพที่เหมาะสม จนถึงการสร้างชุมชนใหม่ เพื่อรองรับการกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมของคนที่ทำงานในเมือง ที่มีการรวมศูนย์ระบบสนับสนุนที่ให้บริการชุมชนใหม่ และชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง” ปลัด มท. กล่าว 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า SEDZ Earthsafe Ecovillage เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคีเครือข่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ อาทิ 1) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน 2) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 4) กระทรวงการคลัง โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5) มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earthsafe Foundation 6) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7) สถาบันทิวา 8) Central Food Retail Group 9) Dusit Thani Group 10) บริษัท VaSLab จำกัด และ 11) บริษัท Amarenco (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท AMARENCO ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้นำนวัตกรรม Agriculture Solar Solutions มาถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับชุมชนที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อช่วยสร้างกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้ประกอบสัมมาอาชีพ พึ่งพาตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมยกระดับพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดของแต่ละชุมชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ สิ่งที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นั่นคือ การสืบสานปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่สะท้อนผ่านเจตจำนงและจิตวิญญาณของคนมหาดไทย และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ด้วยน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระบารมีที่สาดส่องมาถึงพสกนิกรไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” และพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำไปขับเคลื่อนขยายผลสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การส่งเสริมทำให้ประชาชนทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนมีความสุข มีความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเกื้อการุณย์ ทำบุญสุนทาน และรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รู้รักษาขนบ ธรรมเนียม ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นแบบอย่างที่สำคัญ คือ บ้านเกาะ หมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และบ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็น 2 ชุมชนต้นแบบในการน้อมนำพระราชดำริดังกล่าวมาปฏิบัติในพื้นที่จนกลายเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน”  

“SEDZ Earthsafe Ecovillage” เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนเป็น Partnership ที่จะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ สถานการณ์สาธารณภัย ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย หรือวาตภัย ยังผลทำให้มีหลักในการใช้ชีวิตอันจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี เสริมสร้างรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย