สิงคโปร์ : ความทุกข์ของเศรษฐี (ตอนที่ 2)

สิงคโปร์บริโภคข้าวปลาอาหารเยอะกว่าเพื่อนบ้านอื่น เพราะคนมีกำลังซื้อมาก เป็นประเทศร่ำรวยที่พยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีรสนิยมสูงตามรายได้และมาตรฐานของประเทศ

ดังนั้น แม้จะผลิตได้ แต่ก็ยังต้องนำเข้าส่วนใหญ่ สิงคโปร์หลีกเลี่ยงพึ่งพาการนำเข้าประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การเกิดโรคระบาด ในประเทศที่ผลิต ปัญหาของผลผลิตที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะไม่ได้มาตรฐาน อันตรายจากสถานการณ์ของประเทศที่นำเข้าอาหาร เช่น การหยุดงานประท้วงหรือปิดท่าเรือ ทำให้ส่งอาหารมาสิงคโปร์ไม่ได้

หากเป็นอาหารสด เขานิยมสั่งประเทศใกล้ๆ รวมทั้งประเทศไทย ที่คนสิงคโปร์บอกฉันเองว่า ส่งสินค้าที่มีคุณภาพกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ แม้ราคาจะสูงกว่า แต่คุ้มค่า และราคาที่แพงกว่านิดหน่อย สิงคโปร์ไม่มีปัญหา

มีคนไทยส่งอาหารสด ทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ไปขายที่สิงคโปร์กันมาเนิ่นนาน แต่สำหรับฉันที่รู้จักสิงคโปร์ดี ยืนยันว่ายังไม่พอ เรายังส่งไปได้มากอีกมาก ไทยมีโอกาสมากเพราะของเราดีและเราไม่ค่อยมีท่าทีแข็งกร้าวกับลูกค้าเหมือนมาเลเซีย

ตัวเลขอย่างเป็นทางการบอกว่าคนสิงคโปร์ 1 คน กินผัก 100 กิโลกรัม ผลไม้ 68 กิโลกรัม ไก่ 35 กิโลกรัม เนื้อหมู 22 กิโลกรัม เนื้อวัว 5 กิโลกรัม เป็ด 4 กิโลกรัม แกะ 3 กิโลกรัม ไข่ไก่ 310 ฟอง ไม่ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก

ฉันสังเกตว่าผักไทยที่ขายที่สิงคโปร์จะสด และไม่ต้องใช้ความเย็นประคบประหงมมากนัก วางไว้เฉยๆ ก็ยังสด อาจเพราะขนส่งมาไม่ไกล

แต่ที่ประหลาดใจคือ แม้จะอยู่ใกล้มาก แต่ราคาผักที่สิงคโปร์ไม่ได้ถูกไปกว่าผักที่ขนไปไกลถึงอเมริกา หรือยุโรป เอาอย่างง่ายสุด ตะไคร้ ที่นี่ขายมัดละ 1.5 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 40 บาท มีราว 3-4 ต้น ที่อเมริกาก็ขายราคาประมาณนี้

แตงกวาจากเมืองไทย ขายถุงละ 50 บาท โดยประมาณ นับลูกก็ตกลูกละ 10 บาท เครื่องปรุงต้มยำ ถุงละ 70 บาท หัวปลี หัวละ 80 บาท กล้วยน้ำว้า หวีละ 100 บาท ใบแมงลัก ใบกะเพรา ใบโหระพา ยอดชะอม สะระแหน่ เหล่านี้มัดละ 50 บาท 1 มัดจิ๋วไม่พอกิน คนกินผักมากอย่างฉันอยู่สิงคโปร์แล้วหายใจไม่ค่อยทั่วท้อง ลองกอง มะม่วงสุก กับกระท้อนสด ราคาไล่เลี่ยกัน กิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ กิโลกรัมละ 900 บาท

ขณะที่วันเดียวกัน ชะอมที่ตลาดไท กรุงเทพฯ ขายกำละ 15 บาท ตะไคร้ กิโลกรัมละ 22 บาท แตงกวา กิโลกรัมละ 20 บาท มะนาว ลูกละ 3 บาท และมะละกอดิบ กิโลกรัมละ 25 บาท

อีกเรื่องที่สิงคโปร์กำลังเอาจริงเอาจังอย่างหนัก คือทั้งที่ไม่มีที่ปลูกกาแฟ แต่กำลังจะดันตัวเองขึ้นไปเป็นศูนย์กลางกาแฟโลกในเร็วนี้

คือถึงเขาไม่ได้ปลูก แต่เขามีความชำนาญในเรื่องการคั่วกาแฟ ซึ่งว่ากันว่าเป็นขั้นตอนสำคัญมากในการกำหนดคุณภาพและกลิ่นรสของกาแฟ เขามีองค์ความรู้เรื่องคั่วกาแฟมากว่าร้อยปี สืบทอดมาแต่ครั้งอังกฤษยังมีอิทธิพลอยู่ คนคั่วกาแฟมือเก่งๆ ของไทยไปเรียนจากสิงคโปร์มามากก็มาก

ทั้งอิทธิพลจากการอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษมานาน และทั้งการเข้าสู่วิถีชีวิตแบบโลกที่หนึ่ง คือคนกินดีอยู่ดี คนสิงคโปร์ปัจจุบันจึงบริโภคกาแฟกันมาก และรู้เรื่องกาแฟดีกว่าคนในประเทศเล็กจ้อยพึงจะรู้

และเมื่อสิงคโปร์ทำอะไร เขาเล็งไปที่ความเป็นเลิศสถานเดียว

สิงคโปร์จัดเทศกาลกาแฟประจำชาติของตนเองขึ้นแล้ว และประกาศจะจัดอีกทุกปีๆ ต่อไป

ใครไม่แปลกฉันแปลกนะ ประเทศที่ไม่มีกาแฟเลยสักต้น จัดเทศกาลกาแฟประจำชาติ และประกาศจะเป็นศูนย์กลางกาแฟโลก

ถ้าไม่ใช่สิงคโปร์ที่ผ่านการต่อสู้กดดันมามาก ก็เชื่อว่ายากจะเป็นจริง