แปลงใหญ่มะพร้าวบางยางใช้แตนเบียน กับดักฟีโรโมน ป้องกันกำจัดหนอนและด้วงแรดมะพร้าว โดยไม่ใช้สารเคมี

กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง จังหวัดสมุทรสาคร ใช้แตนเบียนบราคอน และกับดักฟีโรโมน ป้องกันกำจัดหนอนและด้วงแรดที่ทำลายมะพร้าว เน้นทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นเพิ่มผลผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี และเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าว ช่วยผสมเกสรให้มะพร้าวติดลูกดก

มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวสมุทรสาคร แต่ละปีมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะพร้าว โดยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่สามน้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้เกษตรกรในอำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน นิยมทำสวนมะพร้าวน้ำหอมจำนวนมาก โดยในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน มีพื้นที่ปลูกกว่า 2,957 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายผลมะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจำนวนมาก สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่รวมตัวจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ เมื่อปี 2564 มีนายปกิต บุญเพ็ญ เป็นประธานแปลงใหญ่ ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ราย พื้นที่ปลูก 835 ไร่ โดยแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง มีความโดดเด่นในการรวมกลุ่มและนำนโยบายแปลงใหญ่มาปรับใช้และบริหารจัดการแปลงจนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะการลดต้นทุน การเพิ่มปริมาณผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพสินค้า การเพิ่มมูลค่า และช่องทางการตลาดที่หลากหลาย พร้อมขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่นและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

นายเอนก ชื่นอารมณ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานเกษตรอำเภอกระทุ่มแบน ได้ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และช่องทางการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง ลดการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนและหันมาใช้วัสดุในท้องถิ่นแทน เนื่องจากปุ๋ยและสารเคมีมีราคาแพง และเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพแทน โดยปุ๋ยหมักนอกจากจะใช้มูลสัตว์ เศษฟาง หญ้า หรือแกลบ เป็นส่วนประกอบแล้ว เกษตรกรยังใช้ใบหรือทางมะพร้าวที่แห้งหลุดจากต้นนำมาบดหรือสับทำเป็นปุ๋ยหมักอีกด้วย ส่วนน้ำหมักชีวภาพก็จะใช้เศษพืชผัก หรือ เศษปลา มาหมักเพื่อฉีดพ่นบำรุงทางใบและโคนต้น เป็นการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี

ส่วนการกำจัดศัตรูของมะพร้าวโดยเฉพาะหนอน และแมลง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หลักธรรมชาติบำบัด นั่นก็คือ การใช้แตนเบียนบราคอน ในการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ที่เป็นศัตรูสำคัญของมะพร้าวน้ำหอม สำหรับการเพาะเลี้ยงแตนเบียน จะใช้หนอนผีเสื้อข้าวสารเป็นสถานที่วางไข่ของแตนเบียน โดยแตนเบียนเพศเมียจะใช้เข็มแทงเข้าไปในตัวหนอนและปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้หนอนเป็นอัมพาต แล้วจึงวางไข่บนตัวหนอน และออกเป็นแตนเบียนบราคอนรุ่นต่อไป จากนั้นเกษตรกรจะนำไปปล่อยในสวนมะพร้าว เพื่อกำจัดหนอนตามธรรมชาติ สามารถหยุดการระบาดของหนอนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ต่างๆ  เช่น เชื้อบีทีในการกำจัดหนอน และกับดักฟีโรโมนในการป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว เกษตรกรไม่ต้องพึ่งสารเคมีแต่อย่างใด และมีการขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่นๆ

เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า ส่วนการเพิ่มผลผลิต ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าว เพื่อช่วยผสมเกสร ทำให้มะพร้าวติดลูกดก โดยชันโรงจะมีรัศมีการหากินที่ไกลพอสมควร ดังนั้นหากเลี้ยงชันโรงไว้ จะถือเป็นผู้ช่วยในการผสมเกสรทำให้มะพร้าวติดลูกจำนวนมาก และเกิดรายได้จากการขายน้ำผึ้งชันโรงเป็นการสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้ระหว่างที่มะพร้าวยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้ เกษตรกรบางส่วนก็ได้ปลูกฝรั่งและพืชอื่นๆ ระหว่างแถวของต้นมะพร้าว ทำให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง

“สำหรับช่องทางการตลาด นอกจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะขายมะพร้าวผลสดให้กับพ่อค้ารายใหญ่ที่มารับซื้อที่หน้าสวนแล้ว บางส่วนยังส่งเสริมให้เกษตรกรออกร้านจำหน่ายสินค้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเอง และนำสินค้าแปรรูปต่างๆ จากมะพร้าว เช่น มะพร้าวแก้ว มะพร้าวถอดเสื้อ และน้ำมะพร้าวสด มาวางจำหน่าย ส่วนการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ได้ส่งเสริมให้ทุกแปลงที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง ได้มาตรฐาน GAP ทุกราย และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาสินค้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมหรือการส่งออกในอนาคต” เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว

ด้านนางผุสดี ศรลัมพ์ เกษตรอำเภอกระทุ่มแบน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความโดดเด่นของแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง นอกจากรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวและด้วงแรดมะพร้าว โดยใช้แตนเบียนบราคอนและกับดักฟีโรโมน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตด้วยการเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าวเพื่อช่วยผสมเกสรแล้ว ยังโดดเด่นด้านการลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำปุ๋ยหมักใช้กันเอง โดยใช้วัสดุทางมะพร้าวที่ก่อนหน้านี้เป็นแค่ขยะ นำกลับมาทำเป็นปุ๋ยหมักบำรุงต้นมะพร้าวได้ นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากเอกชนรายใหญ่ที่นำวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน เช่น กากตะกอนรีด เปลือกไข่ มาให้กับทางกลุ่มได้นำมาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้ เพื่อลดต้นทุน และลดใช้สารเคมี โดยมีประธานและสมาชิกแปลงใหญ่ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนงาน จึงถือได้ว่าเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมาก

นายปกิต บุญเพ็ง ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน กล่าวถึงการบริหารจัดการสวนมะพร้าวให้ยั่งยืนว่า นำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานเกษตรอำเภอกระทุ่มแบนมาปรับใช้ โดยเฉพาะการใช้แตนเบียนบราคอน มากำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ไม่ต้องพึ่งสารเคมี และตั้งแต่ใช้กันเองภายในสมาชิกแปลงใหญ่ก็ได้ผลเป็นอย่างดี โดยไม่มีใครหันกลับไปใช้สารเคมีอีกเลย นอกจากนี้ยังทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้กันเอง เป็นการเพิ่มผลผลิต โดยนำวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน และในสวนของเราเองมาหมักกับมูลสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะน้ำหมักชีวภาพที่นำเศษพืชผัก เศษอาหาร และเศษปลาจากตลาด มาหมักกับกากน้ำตาล  และสารพด. หมักเพียง 15 วัน ก็สามารถฉีดพ่น หรือราดบนโคนต้นมะพร้าวทำให้มะพร้าวเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิตได้มาก และเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนี่ง

“ส่วนการสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่ม เกิดจากพวกเราทำกิจกรรมและถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัดมาเป็นพี่เลี้ยง แต่ละเดือนจะมีการประชุมกลุ่ม และรายงานความคืบหน้าผลผลิตแต่ละแปลง หรือสอบถามปัญหาของกันและกัน หากพบปัญหาก็จะช่วยกันแก้ไข นอกจากนี้ทุกคนยังมีหุ้นภายในกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งด้านการเงิน ส่วนรายได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพ่อค้ารายใหญ่มารับซื้อหน้าสวน เกษตรกรเจ้าของสวนไม่ต้องทำอะไร มีหน้าที่เพียงดูแลรักษาสวนมะพร้าวให้เกิดผลผลิตมากขึ้น โดยราคาขายหน้าสวนปัจจุบันขายเป็นลูกๆ ละ 8-10 บาท ทำให้พออยู่ได้ เช่น สมาชิกบางรายมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 25 ไร่ แบ่งเก็บผลผลิต 20 วันต่อ 1 ครั้ง หรือ 2  เดือน 3 ครั้ง ได้เงินเฉลี่ยครั้งละกว่า 1 แสนบาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีและมั่นคง” ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง กล่าว