พบกับ “หมู่บ้านไม้ดอกอุดร” แหล่งผลิตใหญ่สุดในอีสาน ปรับโฉมรับการท่องเที่ยว

วันที่ 16 มกราคม ว่า ที่หมู่บ้าน “ไม้ดอกไม้ประดับอุดรธานี” บ.ห้วยสำราญ-ห้วยเจริญ ต.หนองไฮ อ.เมือง ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปเพียง 16 กม. กำลังจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน ถ่ายภาพ และถ่ายทอดความรู้การปลูกดอกไม้ เมื่อเกษตรกรหันมาปลูกดอกเบญจมาศ, มัม, คัตเตอร์, สร้อยทอง และดาวเรือง เป็นแปลงขนาดใหญ่แถวยาวกว่า 150 ม. แทนการปลูกเป็นแปลงขนาดเล็ก กระจายไปตามแหล่งน้ำ ด้วยการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้แทน

นางพรรัตน์ดา หรือ “เจ้หน่อย” วังขิรี อายุ 40 ปี เจ้าของ “เจ้หน่อยสวนดอกไม้” เล่าว่า ปลูกไม้ดอกมานานตั้งแต่รุ่นแม่ (นางคำมูล บุพาลา) ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันปลูก-ขาย ตอนนั้นยังไปหาบน้ำใส่บัวรด ลูกหลานก็หนีไปทำงานที่อื่น ตนก็ไปทำงานในโรงงานด้วย กระทั่ง 15 ปีก่อนถูกเลิกจ้าง ต้องกลับบ้านมาปลูกดอกไม้ จึงรู้ว่าดีกว่าไปทำงานอย่างอื่น ก็มุมานะทำงานกันเต็มที่ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ นำมาทดลองจนได้ผล ลงทุนกับเครื่องมือทันสมัย จนวันนี้จะรดน้ำต้นไม้ก็ “กดสวิตช์” เท่านั้น

“ภาคอีสานมีอุบลราชธานี-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี เป็นพื้นที่ปลูกไม้ดอกสำหรับไหว้พระ และงานประเพณี โดยที่นี่ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด มีคำสั่งซื้อจากทุกจังหวัดในอีสาน และส่งไปปากคลองตลาด บางส่วนถูกส่งด้วยเครื่องบิน ชาวบ้านก็สนใจมาปลูกทุกหลังคา มีทั้งปลูกเองส่งลูกค้าเอง, ปลูกขายให้พ่อค้าคนกลาง, ปลูกร้อยมาลัย-ดอกไม้กำบูชาพระ และปลูกเองเป็นพ่อค้าคนกลางเอง ใครไม่มีที่ดินไม่มีทุนก็มารับจ้าง ตั้งแต่เตรียมดิน-ปลูก-ดูแล-เก็บขาย มีรายได้วันละ 700-800 บาท”

“เจ้หน่อย” เล่าต่อว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 40 ไร่เศษ เป็นที่ดินตัวเองและที่ดินเช่า กระจายอยู่ในจุดใกล้แหล่งน้ำ แปลงใหญ่สุดติดหมู่บ้าน 20 ไร่ เจาะน้ำบาดาลสูบน้ำมาเก็บไว้รด แปลงนี้จะเป็นแปลงหลัก เพื่อตัดดอกไม้ให้ทันก่อนทุกวันพระทั้งปี ในช่วงวันพระใหญ่ พระเล็ก หรืองานประเพณี จะมีคำสั่งซื้อเข้ามา 2-4 ตัน บางครั้งต้องติดไฟหัวกบเก็บกลางคืน ทำให้ต้องแบ่งพื้นที่เวียนปลูกให้พอดี ซึ่งแต่ละชุดจะใช้เวลา 3-4 เดือน จากนั้นก็ไถตาก-ไถกลบ-หมักขี้ไก่ อีก 2 เดือน ที่ดินแต่ละชุดจึงปลูกได้ 2 รุ่น แต่ละปีจะได้เงินหลังหักค่าใช้จ่ายราว 1.5 ล้านบาท

“เจ้หน่อย” เล่าตอนท้ายว่า การปลูกดอกไม้หยุดนิ่งไม่ได้ ต้องลงมือเองดูแลตัวเองตามแผน ติดตามการพัฒนา-วิชาการ และการตลาดที่เปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะต้นทุนแต่ละชุดสูงมาก หลายปีก่อนส่งให้ลูกชายไปเรียนเรื่องไม้ดอกโดยเฉพาะที่ ม.แม่โจ้ อีกไม่กี่เดือนก็จบปริญญาแล้ว ปีที่ผ่านมาเขากลับมาเก็บข้อมูล และบอกว่านอกจากจะปลูกเพื่อการขาย จะเพิ่มการปลูกเพื่อการท่องเที่ยว และเพื่อการเรียนรู้ด้วยจะมีรายได้เพิ่ม จึงเกิดเป็นแปลงปลูกขนาดใหญ่ใกล้หมู่บ้าน น่าจะเป็นรูปเป็นร่างหลังลูกชายกลับมา