สสก.1 จ.ชัยนาท ชูวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย

นายทวี มาสขาว  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฏา บุญราช ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย  ตำบลท่าชัย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท และเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย เข้าร่วมประชุม

นายทวี มาสขาว  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่าเนื่องจากปัจจุบันภาคเกษตรไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มผันผวนสูง รัฐบาลจึงได้มีแนวนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรสู่เกษตร 4.0 เพื่อให้สอดรับกับบริบทโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยหลักการตลาดนำการผลิต

“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตที่ถูกต้องได้มาตรฐานตามมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงแหล่งจำหน่าย มีการวางแผนวิเคราะห์ในการเพิ่มปริมาณการผลิตตามปริมาณความต้องการของตลาด เท่าที่ดูการทำงานและรับทราบข้อมูลจากคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ก็รู้สึกชื่นชมในความสามารถและแนวทางในการดำเนินงานที่น่าจะเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มวิสาหกิจอื่นๆ ได้มาศึกษาดูงานแล้วนำไปปฏิบัติใช้ในกลุ่มของตนเองต่อไปได้เป็นอย่างดี” นายทวี มาสขาว กล่าว

ทางด้าน นายกิตติชาติ ชาติยานนท์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่าวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีการดำเนินการในรูปแบบของการจัดการกลุ่ม เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ มีทักษะในการดำเนินงาน มีการบริหารจัดการด้านการผลิตตามทิศทางที่ตลาดต้องการ มีการศึกษาและติดตามสถานการณ์ที่เป็นการปัจจุบันตลอดเวลาก่อนตัดสินใจส่งเสริมให้สมาชิกทำการผลิต ที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ข้าวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของการปลูกข้าว ที่จะต้องผลิตออกมาตรงตามความต้องการของเกษตรกร และแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวของเกษตรกร ซึ่งต่อจากนี้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดจะเข้ามาส่งเสริมการจัดการคุณภาพในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการหาตลาดเพิ่มเติมให้กับกลุ่ม

Advertisement

“ในจังหวัดชัยนาท มีวิสาหกิชชุมชน 390 แห่ง มีกลุ่มแปลงใหญ่ 40 แห่ง  ก็จะเอากลุ่มวิสาหกิจนางลือ-ท่าชัย เป็นต้นแบบในการต่อยอดองค์ความรู้ตามแนวนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านการบริหารจัดการภายใต้แนวทางตลาดนำการผลิต โดยให้วิสาหกิจในพื้นที่อื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อให้มีการดำเนินงานในแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้ผลผลิตโดยภาครวมของข้าวในพื้นที่ภาคกลางที่รับเมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกมีผลผลิตที่ดีตรงตามความต้องการของตลาด และเกษตรกรสามารถขายได้ราคาดีอีกด้วย” นายกิตติชาติ ชาติยานนท์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าว

ทางด้าน  นายสำรวม ปานหลุมข้าว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย  เปิดเผยว่า กลุ่มเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้คุณภาพ ที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ให้ความไว้วางใจ มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร ตั้งแต่สมาชิกเกษตรกรที่เป็นลูกค้า และโรงสีที่รับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกร จึงทำให้กลุ่มมีข้อมูลที่เป็นการปัจจุบันตลอดเวลาในการตัดสินใจให้สมาชิกนำพันธุ์ข้าวไปเพาะปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรนำไปปลูก ก็คือแนวทางตลาดนำการผลิตนั้นเอง กลุ่มฯ ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 172 ราย ทุนหมุนเวียน กว่า 12 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินการบริหารจัดการกลุ่มได้ประสบผลสำเร็จจนถึงปัจจุบันเป็นผลมาจากชุมชนมีการพึ่งตนเองเป็นอันดับแรก

Advertisement

ต่อมาได้รวมกลุ่มโดยใช้หลักการมีส่วนร่วมไม่แสวงหาผลประโยชน์จากสมาชิก สร้างกลุ่มให้อยู่รอดและให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกันใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ประกอบกับได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยภาคีที่เข้ามาบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

“มีการบริหารที่โปร่งใส กรรมการมีความเข้มแข็ง สมาชิกมีความซื่อสัตย์ในการผลิต เช่น เรื่องเมล็ดแดงปนที่เอาตัวอย่างมาสุ่มจำนวน 1 กิโลกรัม นั้นจะไม่หยิบเมล็ดปนออกเพื่อให้เห็นจริงว่ามีเมล็ดปนรวม นับเป็นความซื่อสัตย์ของสมาชิกในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งกลุ่มฯ จะให้มีปนเพียง 3 เมล็ด เท่านั้น ขณะที่โรงสีที่รับซื้อจะให้มีเมล็ดแดงปนได้มากถึง 10 เมล็ด แต่สมาชิกจะได้ราคาที่กลุ่มให้ดีกว่าโรงสี” นายสำรวม ปานหลุมข้าว กล่าว

จากความสำเร็จในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้รับการยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ให้กับเกษตรกรที่สนใจเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดูตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกไปจนถึง การปลูก การดูแลบำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยว

นางสาวขวัญเรือน  ฉิมดี เลขากลุ่มวิสาหกิชชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย กล่าวว่า ในการวางแผนด้านการตลาดของกลุ่มจะสังเกตจากการปลูกข้าวของเกษตรกรในรอบปีที่ผ่านมาในแต่ละฤดูการว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการปลูกข้าวพันธุ์อะไร ก็จะวางแผนในการเพาะปลูกข้าวเมล็ดพันธุ์นั้นๆ ให้กับสมาชิกเพื่อปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ พร้อมติดตามข้อมูลที่โรงสีด้วยว่าจะตอบรับหรือซื้อข้าวพันธุ์อะไร ในช่วงไหน ควบคู่กับการติดตามสภาพอากาศ หากปีไหนที่มีฝนตกมาก มีแนวโน้มจะเกิดอุทกภัย หรือภัยแล้ง ก็ต้องพยายามเพาะปลูกข้าวที่มีอายุสั้นในการเจริญเติบโต ซึ่งก็หมายว่าจะต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมาให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร เป็นการดำเนินงานที่ให้ตลาดนำการผลิตเป็นสำคัญ

“ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย มีสมาชิกจำนวน 172 ราย มีพื้นที่แปลงขยายพันธุ์มากกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งในแต่ละปีจะมีผลผลิตรวมประมาณ 2,500 – 2,700 ตัน  เฉลี่ย 800 – 900 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยมีพันธุ์ข้าวที่ผลิตและจำหน่ายดังนี้ ข้าวพันธุ์  กข 41, กข 57, กข 31 กข 49  และ ปทุมธานี 1 มีการจัดเก็บข้อมูลสมาชิกผู้ทำแปลงทะเบียนการปลูกข้าว  เพื่อจะได้รู้ว่าฤดูกาลนี้ มีสมาชิกทำแปลงกี่ราย  ปลูกข้าวพันธุ์อะไร ที่ตั้งแปลง จำนวนไร่ นาดำหรือนาหว่าน ตลอดถึงวัน เดือน ปี ที่เพาะปลูกเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับฤดูกาลที่ผ่านมา” นางสาวขวัญเรือน ฉิมดี กล่าว

ส่วน นายธงชัย เกิดละออ เกษตรกร สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย  เปิดเผยว่า ตนปลูกข้าวพันธุ์ กข 31 หลังจากทำเทือกแล้วจะเก็บกวาดแปลงเก็บวัชพืชออกให้หมดจึงเติมน้ำลงแปลง เมื่อลงต้นกล้าแล้วประมาณ 1 เดือน ต้นกล้าจะโตระดับคลุมดินก็จะควบคุมแปลงจากวัชพืชอีกครั้ง ซึ่งจะไม่มาก ปลูกประมาณ 90 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ที่สำคัญแปลงปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดีจะต้องดูแลมากกว่าการปลูกข้าวเพื่อขายเป็นข้าวเปลือกทั่วไป

“ใน 1 กิโลกรัม เมื่อตรวจสอบแล้วจะต้องไม่มีเมล็ดแดงไม่เกิน 3 เมล็ด ซึ่งถ้าเกินกว่านั้นทางกลุ่มก็จะไม่รับซื้อ แต่ในปัจจุบันมีจำนวนหลายแปลงที่ไม่เจอเมล็ดแดงเลย เพราะมีการจัดการแปลงดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านไปหลายครั้งการจัดการแปลงก็ง่ายเรียกว่าเป็นแปลงที่สะอาด ผลผลิตที่ได้จึงบริสุทธิ์มีคุณภาพเมื่อนำไปปลูกก็จะได้ผลผลิตที่ดี ได้ข้าวที่เมล็ดเต็มโรงสีรับซื้อและให้ราคาดี” นายธงชัย เกิดละออ กล่าว

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย ยังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิต โดยรับสมาชิกจัดทำแปลงขยายเพิ่มพร้อมสร้างเครือข่าย และเปิดศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเพิ่มปริมาณความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ รองรับความต้องการของตลาดด้านคุณภาพของเมล็ดพันธุ์อีกด้วย