นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินธุรกิจรวบรวมสับปะรดของสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินธุรกิจรวบรวมสับปะรดของสหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

โดยมีนายบรรจง ชัยขุนพล สหกรณ์จังหวัดลำปาง นายประเสริฐ ฟูใจ ประธานสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์ และนางศริพร ช่างปณีตัง ผู้จัดการสหกรณ์ ให้การต้อนรับ สหกรณ์ผู้ปลูกสับปะรดลำปาง จำกัด จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมีสมาชิก 900 ครอบครัว ประกอบอาชีพปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ สหกรณ์ทำธุรกิจรวบรวมสับปะรดผลสดจากสมาชิกส่งจำหน่ายโรงงาน ปีละประมาณ 3,000 – 5,000 ตัน ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 6 บาท โดยสหกรณ์สนับสนุนปัจจัยการผลิตและวัสดุการเกษตรให้กับสมาชิก นำไปลงทุนปลูกสับปะรดส่งขายให้สหกรณ์ ฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม และช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่ ซึ่งปีนี้คาดว่าปริมาณผลผลิตสับปะรดในพื้นที่จะมีน้อย เป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้ง และส่งผลต่อรายได้ของสมาชิกสหกรณ์ลดลงด้วย

ซึ่งจะทำให้สมาชิกขาดสภาพคล่องและมีหนี้ค้างชำระกับสหกรณ์อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แนะนำคณะกรรมการสหกรณ์ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิก และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งต้องสร้างอาชีพใหม่ที่จะช่วยสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการปลูกสับปะรดเพียงอย่างเดียว ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมให้การสนับสนุน โดยจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมไปส่งเสริมอาชีพและปล่อยกู้ให้สมาชิกรายละ 20,000 บาทเพื่อนำไปลงทุนสร้างรายได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น ปลูกพืชผักปลอดภัย หรือพืชชนิดอื่น ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด และวางแผนสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้มีรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้เลี้ยงครอบครัวและผ่อนชำระหนี้คืนสหกรณ์ได้


ส่วนการพัฒนาธุรกิจหลักของสหกรณ์ในการรวบรวมและจำหน่ายสับปะรดนั้น สหกรณ์ควรทำข้อตกลงกับห้างแมคโครซึ่งเป็นคู่ค้าของสหกรณ์ และส่งเสริมให้สมาชิกปลูกสับปะรดพันธุ์ MD2 เป็นสับปะรดพันธุ์ใหม่ที่ตลาดมีความต้องการ เนื่องจากรสชาติหวานหอมอร่อย และราคาสูงกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย โดยสหกรณ์ต้องวางแผนการผลิตให้กับสมาชิก พร้อมทั้งดูแลตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว และสนับสนุนให้สมาชิกผลิตสับปะรดที่ได้มาตรฐาน GAP มุ่งเน้นการขายผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการบริโภค และสหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตส่งป้อนห้างแมคโคร

นอกจากนี้ ในการแปรรูปสับปะรดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ได้แนะนำให้ทางสหกรณ์เข้าไปปรึกษาและขอคำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ลงนามความร่วมมือกับทาง วว.เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับสหกรณ์การเกษตร ซึ่งทาง วว.มีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมสำหรับให้คำแนะนำแก่สหกรณ์ในด้านการแปรรูปสับปะรด เป็นน้ำสับปะรดและสับปะรดกวน รวมถึงพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าให้กับสหกรณ์ และสามารถนำผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูปที่ผ่านการพัฒนาแล้วออกจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป