สวทช. ร่วมกับ TMA เปิดประเด็นนวัตกรรมอาหารเพื่อมนุษยชาติ ในงาน Food Innopolis 2019 ตอกย้ำยุทธศาสตร์ประเทศไทยสู่ครัวโลก

เพราะอาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นสิ่งที่ส่งผลถึงความอยู่ได้และอยู่ดีของมนุษย์ อาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกหน่วยในสังคม ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 821 ล้านคน จากทั้งหมด 7,700 ล้านคน กำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 9,000 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 11,900 ล้านคนในปี ค.ศ. 2100 จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการผลิตอาหารให้สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการจำกัดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

เพื่อเตรียมการสู่อนาคตและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้จัดงานประชุมนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2019 ขึ้นเป็นครั้ง 2 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2562 เพื่อตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมอาหารและกระบวนการเกษตรอุตสาหกรรม และกระบวนการการผลิตอาหารที่ยั่งยืน โดยปีนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 ท่าน จากประเทศไทยและจากทั่วโลก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและถ่ายทอดประสบการณ์ ภายใต้แนวคิด “FROM TRADITION TO INNOVATION – The Art & Science of Food”

ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับดูแลและบริหารงานเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอาหารในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 8.4 และมีสัดส่วนแรงงานสูงถึง 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรในประเทศไทย 69 ล้านคน นวัตกรรมที่เข้ามาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกวงการ ในการนี้อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรจำเป็นจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนยุคใหม่ที่ต้องการอาหารสะอาด สะดวก และรวดเร็ว จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนที่มีคุณภาพ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมาหารือและร่วมกันเพื่อมองหาทางออกที่ดีที่สุด ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่จะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรองรับโลกในอนาคต”

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ผู้ร่วมจัดงานกล่าวว่า “TMA ในฐานะที่ผลักดันเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของประเทศมาตลอดระยะเวลา 12 ปี ตระหนักดีว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Strategic Sector) สำคัญของประเทศไทย เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานอยู่บนเกษตรอุตสาหกรรมและยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่มีความเป็นมายาวนานและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จึงได้เข้ามาร่วมริเริ่มจัดการสัมมนาระดับนานาชาติ ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและต่างประเทศด้านนวัตกรรมอาหาร ทั้งด้านเทคนิคและการบริหารจัดการเข้ามานำเสนอมุมมองและกระบวนการ ในงานนี้ มีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ จากอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำการประสานนโยบายเข้ากับการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม”

ด้าน มร.แบรดลี่ย์ คริท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Future 50 Research, Institute for the Future (IFTF), U.S.A. ได้คาดการณ์ภาพอนาคตของอาหารว่า สิ่งที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารในอนาคตมี 2 ประการใหญ่ๆ ประการแรก การนำอาหารเข้าสู่ระบบดิจิตอล จะก่อให้เกิดสงครามทรัพย์สินทางปัญญา มีผลต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงลักษณะของนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไป ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อแรงงานภาคเกษตรและการเพาะปลูกพืชแบบดั้งเดิม รวมถึงสร้างความเสี่ยงมหาศาลพร้อมแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับอีกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความอดอยาก สงคราม และสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาต่างๆ ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกรรมวิธีการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการจำหน่ายอาหาร รวมทั้งจำเป็นต้องมีกระบวนการแนวใหม่ในการสร้างนวัตกรรม ในส่วนของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืน ภายใต้แนวคิดขององค์การสหประชาชาติ (UN SDG’s) 1 ใน 17 เป้าหมายเป็นเรื่องของการขจัดความหิวโหย ซึ่งพันธมิตรหลากหลายภาคส่วนจากนานาประเทศก็ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางปฏิรูปด้านความมั่นคงทางอาหารของประชาคมโลก ในการนี้ มร.มาร์ค บัคลี่ย์ ที่ปรึกษาโครงการ เป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ และนักอนาคตวิทยาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ องค์การสหประชาชาติ สมาชิก Expert Network for the World Economic Forum และผู้ก่อตั้ง ALOHAS Resilience Foundation, Germany ชี้ว่าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดมหึมาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงประชากรโลก จำเป็นจะต้องปฏิวัติระบบการผลิตใหม่ทั้งกระบวนการ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด

“เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจะพลิกสถานการณ์ได้ไม่ใช่เรื่องการจะเลือกผลิตอะไรหรือเลือกบริโภคอะไร หากแต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะผลิตอาหารอย่างไร ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดบนโลกใบนี้ การร่วมมือกันปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในลักษณะพลิกกระบวนการโดยทุกประเทศทั่วโลก จะเป็นสิ่งที่หยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงและฟื้นสภาพภูมิอากาศให้เข้าสู่ภาวะที่เคยเป็น และจะช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ทนจากความอดอยาก ปัญหาด้านสุขภาพ วิกฤติสภาพอากาศ และประเด็นความท้าทายอื่นๆ ที่โลกต้องเผชิญ” มร.มาร์ค บัคลี่ย์ กล่าวในที่สุด