ท่องเที่ยววัดถ้ำผาจม จ.เชียงราย หนึ่งในดินแดนมหัศจรรย์สะท้อนศรัทธาชาวพุทธ

เมื่อไปถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สถานที่สำคัญในการปฏิบัติธรรม และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวตามวิถีพุทธ นั่นคือ วัดถ้ำผาจม จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่ตั้งอยู่บนเทือกเขานางนอน

พื้นที่ของ “วัดถ้ำผาจม” เป็นหนึ่งในดินแดนมหัศจรรย์ เนื่องจากเคยเป็นที่ธุดงค์กัมมัฎฐานของพ่อแม่ครูอาจารย์สายปฏิปทาขององค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่มีความศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วัดถ้ำผาจม มีถ้ำพญานาค ทอดยาวไปถึงประเทศพม่า มีธรรมชาติที่ร่มรื่น ทำให้วัดถ้ำผาจมได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในพื้นที่สัปปายะของนักปฏิบัติธรรม และผู้ที่ชอบการท่องเที่ยวแบบวิถีพุทธ

ภูมิประเทศของวัดถ้ำผาจมรายล้อมไปด้วยหินที่เรียงลดหลั่นกันไปมา เมื่อปีนขึ้นเขาสูง แต่กลับพบว่า ตัวเราเองยืนอยู่ในที่ต่ำ แวดล้อมด้วยหินผาที่ลดหลั่นกันเรียงไปมาอย่างน่าอัศจรรย์ บนยอดผาสูงของภูเขาถ้ำผาจม หลวงพ่อวิชัย เขมิโย เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาจม ได้เมตตาสร้าง “พระพุทธพิชิตมารประทานพร” ตั้งตระหง่านไปทางประเทศพม่า ฝั่งเมืองท่าขี้เหล็ก

บนยอดเขาสูงสุดซึ่งเป็นที่ตั้งของพระพุทธพิชิตมารประทานพร มองไปจะเห็นธรรมชาติที่สวยงามของยอดเขาถ้ำผาจม และวิวทิวทัศน์ของประเทศพม่าในมุมสูง ที่เรียกว่า เบิร์ด อาย วิว (bird eye view)

ภายในวัดถ้ำผาจม มีสถานที่สำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เช่น พิพิธภัณฑ์พระธาตุ ที่รวบรวมพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธาตุ อัฐิธาตุ เกศาธาตุ ของพระอรหันตสาวก

เมื่อเดินชมภายในวัด จะมีเรื่องราวมสะท้อนความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น หลวงพ่อสายรุ้ง และ หลวงพ่อทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุหลายร้อยปีที่เกิดจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในอดีตกาล

นอกจากนี้ ยังมีถ้ำเย็นพญานาค ที่ทอดยาวไปถึงประเทศพม่า เชื่อว่า หากเดินจากปากถ้ำเย็นพญานาค จะเดินทะลุถึงปลายทางที่เมืองหงสาวดี ปัจจุบัน หลวงพ่อวิชัย ต้องนำกุญแจมาใส่กลอนไว้ เพื่อกันไม่ให้ผู้คนที่ไม่รู้เรื่องแอบเดินเข้าไปและเกิดอันตรายได้

ในบริเวณถ้ำเย็นจึงมีขอบเขตที่จำกัด สำหรับผู้ต้องการเที่ยวชม และ ทำสมาธิวิปัสสนาในถ้ำเย็นพญานาค

วัดถ้ำผาจม จังหวัดเชียงราย ใน พ.ศ. 2516 หรือ ประมาณ 47 ปีที่แล้ว สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์วาสโน) เสด็จมายังถ้ำผาจม  และตรัสถามหลวงพ่อวิชัย เขมิโย ว่า ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดหรือยัง หลวงพ่อวิชัยฯกราบทูลไปว่า ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัด สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้มอบหมายให้ คุณสมหวัง คล่องการเรียน ซึ่งเป็นเลขานุการกรมศาสนาในขณะนั้น ยื่นเรื่องขอสร้างวัด และขึ้นทะเบียนจัดตั้งวัดถ้ำผาจม

สมเด็จพระสังฆราชฯ องค์ที่ 19 ได้ตรัสสั่งให้หลวงพ่อวิชัยฯ อยู่ประจำวัดแห่งนี้ ไม่ให้หนีไปไหน เพื่อพระอาคันตุกะ และ ญาติโยมจะได้อาศัยเป็นที่พักพิง

หลวงพ่อวิชัยฯ ได้เมตตาเล่าว่า ในช่วงแรกของการตั้งวัดถ้ำผาจมนั้น ไม่มีใครอาสาเป็นเจ้าอาวาส เพราะหากขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ถ้ามีเอกลาภเกิดขึ้น จะต้องตกเป็นของกองกลาง หรือของวัดทั้งหมด ห้ามเอาหนีไปที่อื่น จึงไม่มีใครอยากเป็น

หลวงพ่อวิชัยฯ จึงต้องรับตำแหน่งนี้ เพราะหากต้องการเป็นวัดจะต้องมีตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ การพัฒนาวัดในช่วงแรก หลวงพ่อเล่าว่า ทำกันตามมีตามเกิด หลวงพ่อวิชัยฯ ได้ตั้งปณิธานว่า “เมื่อเราอาศัยวัด ต้องให้วัดอาศัยเราด้วย” จึงตั้งใจพัฒนาวัดทั้งทางวัตถุ หมายความถึงถาวรวัตถุ  พร้อมกับการพัฒนาคนให้เข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา หลวงพ่อวิชัยฯ ได้นำญาติโยมคนไทยและญาติโยมที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า ลาว และชนเผ่าต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงมาปฏิบัติธรรม เรื่องศีล สมาธิ และปัญญาที่วัดถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย อย่างไม่ขาดสาย

นอกจากนี้ ทางวัดถ้ำผาจม ได้จัดให้พระภิกษุได้มาอยู่ปริวาสกรรมปฏิบัติกัมมัฎฐานอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี โดยบางปีมีพระภิกษุมาร่วมงานถึง 600 รูป ในระยะเวลา 9-10 วัน