จากปัญหาศีรษะล้าน สู่ปรากฏการณ์ตลาด ‘วิกผม’ แข่งเดือดในจีน

คนชาวจีนกำลังประสบปัญหาผลร่วงและศีรษะล้าน ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและรักษารากผมเติบโตมาโดยตลอด แต่ล่าสุดมีรายงานที่น่าสนใจเรื่องตลาด ‘วิกผม’ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันดุเดือดในตลาดจีน มาดูกันว่าตลาดนี้จะเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทยอย่างไร
#WicEconomy #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

ปัญหาผมร่วง-ศีรษะล้าน หรือที่คนทั่วไปมักเรียกในทำนองให้เจ็บปวดใจว่า หัวล้าน, กระหม่อมบาง, ผมน้อย หรือคำต่างๆ ที่สื่อถึงลักษณะที่เป็นข้อด้อยของปริมาณเส้นผมที่นับวันยิ่งหลุดร่วงหายไป มักเป็นปัญหากระทบต่อความมั่นใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ตลาดสินค้าเกี่ยวกับการบำรุงเส้นผม รักษารากผมให้แข็งแรง ผลิตภัณฑ์ปลูกผมและดูแลเส้นผม จึงเป็นตลาดที่ยังคงเติบโตได้ดีทุกยุคสมัย แถมไม่จำกัดเพศและวัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอย่างดูเหมือนจะสายเกินแก้ การเข้ารับการปลูกผมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ดูเหมือนจะเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป ผู้ที่มีปัญหาศีรษะล้านหลายๆ คนจึงมุ่งไปแก้ปัญหาโดยการใช้ ‘วิกผม’ หรือผมปลอมที่ผลิตขึ้นในลักษณะเหมือนจริง อาทิ กรณีที่ผ่านมาจากข้อมูลพบว่า ‘วิกผม’ ได้กลายเป็นคำที่ผู้บริโภคชาวจีนอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สืบค้นในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลลดราคา 11.11 ของปีที่ผ่านมา คำว่า ‘วิกผม’ ถูกจัดให้เป็น 1 ในคำค้นหายอดนิยมในหลายๆ แพลตฟอร์มออนไลน์

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

คนจีนส่วนใหญ่ประสบปัญหาศีรษะล้าน?

จากผลการสำรวจของคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุขแห่งชาติจีน พบว่า ชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 20–40 ปี คือกลุ่มคนที่ประสบกับปัญหาผมร่วง–ศีรษะล้าน ซึ่งชาวจีนวัยประมาณ 30 ปี เป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับผมหรือความกังวลเกี่ยวกับหัวล้านเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้พบว่าชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 21–30 ปี เริ่มซื้อยาสระผมป้องกันผมร่วงเป็นจำนวนมากอีกด้วย

จากข้อมูลระบุอีกว่า ปัจจุบัน มีชาวจีนกว่า 250 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 20 ของประชากรจีนทั้งหมด กำลังประสบกับปัญหาผมร่วงมากขึ้น หรือกล่าวได้ว่าโดยเฉลี่ยในชาวจีน 6 คน มี 1 คน กำลังมีปัญหาผมร่วง และในที่สุดจะกลายเป็นคนหัวล้าน

โดยในช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมานี้ อุตสาหกรรมการบำรุงรักษาและการปลูกผม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวิกผมต่างได้รับโอกาสทางธุรกิจ จนทำให้วิกผมกลายเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นอย่างหนึ่งในสายตาผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก โดยจะเห็นได้จากบนแพลตฟอร์ม Taobao (เถาเป่า) พบว่า ปริมาณการขายวิกผม มีจำนวนมากกว่า 20,000 ชิ้น ต่อเดือน โดยมีตัวอย่างแพลตฟอร์มที่จำหน่ายวิกผมยอดนิยมรายหนึ่ง ที่ทุกๆ 2 วินาที สามารถขายวิกผมได้ 1 อัน จนทำให้ 1 ปี มีรายได้มากถึง 1,500 ล้านหยวน และข้อมูลปัจจุบันยังพบว่า อุตสาหกรรมวิกผมจีนมีมูลค่ายอดขายโดยเฉลี่ย 60,000 ล้านหยวน ต่อปี เลยทีเดียว

ขณะที่แพลตฟอร์ม AliExpress ของบริษัท อาลีบาบา เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มเถาเป่า ก็มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนเมษายน 2563 พบว่า ยอดขายวิกผมในตลาดหลักอย่างยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ขณะที่เดือนพฤษภาคม 2563 มีผู้จำหน่ายวิกผมเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากแอปพลิเคชั่น Tianyancha ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูล และ search engine ของจีนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่าปี 2562 จีนมีบริษัทวิกผมที่จดทะเบียนธุรกิจใหม่มากถึง 8,400 ราย

 

ปรากฏการณ์ตลาด ‘วิกผม’ แข่งเดือดในจีน

อุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วมักประสบกับปัญหา โดยเฉพาะในจีนที่มีแบรนด์วิกผมของจีน และมีบริษัท OEM จำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันสูง ขณะที่บริษัทรายใหญ่บางรายใช้กลยุทธ์ด้านราคา เพื่อสร้างโอกาสในการครองส่วนแบ่งในอันดับต้นๆ ของตลาด จึงทำให้ภาพรวมกำไรในอุตสาหกรรมวิกผมลดลง อีกทั้งในช่วง 3–4 ปี ที่ผ่านมานี้ มีผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตวิกผมรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่ได้กำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจในการให้ความสำคัญกับแบรนด์และการตลาดอย่างจริงจัง จึงทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้การสร้างแบรนด์การยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นไฮเอนด์ การสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่าง กลายเป็นรูปแบบใหม่ของการแข่งขันที่นอกเหนือไปจากกลยุทธ์ด้านราคา

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID–19 อุตสาหกรรมการผลิตวิกผมก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากโรงงานผลิตต้องหยุดชะงักจากการขาดแคลนแรงงานการผลิต รวมทั้งความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

กระนั้นแม้ว่าอุตสาหกรรมวิกผม หรือ Wig Economy จะประสบปัญหาการหยุดชะงักและการขาดแคลนในช่วงเวลาหนึ่งเนื่องจากผลกระทบของโรค COVID–19 แต่ยังพบว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันผมร่วง และวิกผมยังมีโอกาสในการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เพราะนอกจากความนิยมและความต้องการของวิกผมเพื่อใช้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหัวล้านแล้ว วิกผมยังเป็นแฟชั่นสำหรับผู้หญิง โดยผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมซื้อวิกผมหน้าม้ามากที่สุด แสดงให้เห็นได้จากข้อมูล ยอดขายเฉลี่ยบนแพลตฟอร์มเถาเป่าที่แผ่นวิกผมมียอดขายมากถึง 20,000 แผ่น ต่อเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ในประเทศจีนมีนักแสดงและบล็อกเกอร์แฟชั่นจำนวนมาก เลือกใช้วิกผมหรือแผ่นวิกในการจัดแต่งทรงผมของตนเองให้ดูหลากหลายยิ่งขึ้น ก็ยิ่งตอกย้ำว่าตลาดวิกผมในจีนยังเติบโตได้อีกมาก

เห็นได้ว่า จากปัญหาผมร่วง–ศีรษะล้าน สู่การขายดีของผลิตภัณฑ์รักษาเส้นผมไปจนถึงความนิยมใช้วิกผมเพื่อปกปิดศีรษะล้าน หรือแม้แต่การใช้เป็นแฟชั่นของบรรดาสาวๆ ซึ่งนับได้ว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมายเลยทีเดียว ขณะที่การแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยจะหยั่งเท้าในตลาดนี้ได้คงต้องพึ่งการตลาดออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมของจีน อาทิ แพลตฟอร์ม Taobao หรืออื่นๆ ที่คนจีนนิยมใช้ ซึ่งอาจต้องใช้การผลิตที่แตกต่างเพื่อให้สามารถโดดเด่นในตลาด เช่น ใช้วัสดุที่ปราศจากเคมี มีสไตล์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หรือแม้แต่การศึกษาตลาดเพิ่มเติม เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามรสนิยมของผู้ใช้มากยิ่งขึ้น

 

แหล่งที่มา: https://www.cbndata.com/

http://www.chyxx.com/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<

ปั้นแบรนด์สินค้าสัตว์เลี้ยงอย่างไร ถึงโตไกลในต่างแดน

วิถีใหม่สินค้า Luxury หลังโควิด สู่ร้านช้อปปี้งออนไลน์

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333