‘ชุดความคิด’ คนรุ่นเก่า–รุ่นใหม่ ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจกัน

ช่องว่างระหว่างวัยในที่ทำงาน ปัญหาโลกแตกที่ไม่มีสูตรสำเร็จใดมาแก้ปัญหาได้จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางบรรเทาเอาเสียเลย เพียงแต่ละคนต้องทำความเข้าใจ ใส่ใจ และปฏิบัติต่อกันด้วยคุณธรรม และสิ่งนี้ไม่มีในตำรา คุณต้องศึกษาเอาเอง
#Working #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

ความเข้าใจระหว่างวัยหรือระหว่างเจนเนอเรชั่นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานซึ่งประกอบด้วยคนต่างวัย หลากหลายของชุดความคิด เนื่องจากเกิดและโตในสภาพแวดล้อมต่างกัน การอบรมสั่งสอนต่างกัน พื้นฐานวัฒนธรรมและความเชื่อที่ต่าง การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง การตัดสินใจ และให้คุณค่ากับบางอย่าง หรือทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน ก็ไม่แปลกหรอกที่ช่องว่างของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่จะขยายกว้างมากขึ้นทุกขณะ

แต่หากต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน อยู่ในองค์กรเดียวกัน เรื่องระยะห่างระหว่างวัยของคนทำงานรุ่นเก่าและคนทำงานรุ่นใหม่จะหาจุดกึ่งกลางและความสมดุลได้อย่างไร? เพื่อให้ทุกคนได้ปรับตัวและอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง หรือแม้แต่การขัดหูขัดตาจากพฤติกรรมของคนต่างวัย

ก่อนจะเข้าใจตัวตน ให้สนใจที่ชุดความคิดของคนแต่ละเจนก่อน

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

Baby Boomer หรือ “Gen-B” คือคนในช่วง พ.ศ. 2489-2507 เกิดและเติบโตในยุคเทคโนโลยีแบบ Analog (ปัจจุบัน อาจใช้เทคโนโลยีคล่องแคล่วขึ้นแล้ว) อาจจะเกษียณอายุงานแล้ว หรือยังเป็นผู้บริหาร/ที่ปรึกษาระดับสูง ในองค์กรเอกชน อย่างที่บอกว่าเขาโตมาในยุคเก่า มีชุดความคิดและความเชื่อในยุคเก่า (ส่วนใหญ่) ลักษณะพื้นฐานมีความอดทนสูง สู้งาน ชอบทำงานและประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ถูกอบรบสั่งสอนให้ซื่อสัตย์ อดออม เรียบง่าย และระมัดระวัง เคารพในกฎเกณฑ์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในกรอบหรือหลักการที่เชื่อว่าถูกต้อง และจะไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ

คนรุ่นใหม่ๆ จึงมักมองว่า คนกลุ่มนี้ ‘หัวโบราณ’ อนุรักษ์นิยม ไม่ทันโลก ไม่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น เชื่องช้า และติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ แต่ความหนักแน่นและรอบคอบ คือลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้ ที่สำคัญเขาผ่านโลกมานาน มองคน มองสถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้งไม่ฉาบฉวย แต่ก็ทำให้บางครั้งคนรุ่นใหม่พิจารณาว่า คน Gen-B ไม่เหมาะกับสภาพงานยุคปัจจุบัน ยึดติดกับความอาวุโส และชอบใช้อภิสิทธิ์

หากมองให้ลึกซึ้งและพยายามทำความเข้าใจทั้งลักษณะภายนอกและภายใน เช่น คนรุ่นนี้มักมีปัญหาสุขภาพ ทำอะไรอาจไม่ได้คล่องแคล่วเหมือนวัยหนุ่มสาว อาจใช้อภิสิทธิ์บ้าง เช่น การได้สิทธิ์ใช้ลิฟท์ก่อน การไม่ขึ้นบันได (เพราะข้อเข่าไม่ดี หรือมีปัญหาสุขภาพ) ในกรณีที่ชั้นทำงานตามกฎห้ามใช้ลิฟท์เพียงเดินขึ้นแค่ 1 หรือ 2 ชั้น หรือการได้สิทธิ์พิเศษอื่นๆ ในกรณีที่เป็นอาวุโส จนทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ถึงขนาดกล่าวถึงในด้านลบ เรื่องเหล่านี้คนรุ่นใหม่ควรจะใส่ใจและทำความเข้าใจให้มากขึ้น อย่ามองภาพความเท่าเทียมจนหลงลืม “คุณธรรมพื้นฐาน” ของการอยู่ร่วมกัน อีกอย่าง คน Gen-B คือบุคลากรที่มีคุณค่า ได้ทำประโยชน์เพื่อองค์กรมานาน ควรเคารพและให้เกียรติเสมอ

Generation X หรือ “Gen-X” เกิดในช่วง พ.ศ. 2508-2522 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีแบบ Analog ไปสู่ Digital ช่วงต้นๆ แต่ยังไม่ถือว่าทันสมัยมากนัก ทำให้คน Gen-X จึงยืดหยุ่น ไม่ติดกรอบ และเปิดใจรับความคิดหรือสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า Gen-B แต่ยังจัดในกลุ่ม “หัวรั้น” เพราะด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิที่เพียบพร้อม จึงมีความคิดเป็นของตัวเองสูง ทำให้คนกลุ่มนี้คือลักษณะของ “เจนผู้นำ” ที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ รักความก้าวหน้า และเปิดรับฟังความคิดเห็นถ้ามีเหตุผลเพียงพอ คนกลุ่มนี้แสวงหาความมั่นคงและความสุขของครอบครัว

แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังมองว่า คน Gen-X เข้าถึงยาก และค่อนข้างเผด็จการ ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ ยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ทำให้เกิดการต่อต้านอยู่ลึกๆ หรือแม้แต่การตั้งข้อสงสัยถึงความสามารถที่แท้จริง ซึ่งหากอยู่ในองค์กร คน Gen-X ย่อมเป็นหัวหน้างานระดับสูง มีลูกน้องที่มีความแตกต่างของวัยมากมาย

ดังนั้น การปฏิบัติตัวของคนรุ่นนี้จึงอาจจะมีหลายบุคลิก ซึ่งเป็นลักษณะของความพยายามในการปรับตัวให้เข้าถึงลูกน้อง (แต่คงไม่ถึงขนาดล้อเล่นด้วย) แต่ก็อาจทำให้บางครั้งลูกน้องบางรายมองว่าได้รับการเลือกปฏิบัติ จนเกิดการน้อยใจหรือต่อต้าน แต่หากมุ่งมั่นในการทำงาน ทำให้เต็มความสามารถ ผลงานจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จเอง และเชื่อว่าหัวหน้างานจะมองเห็นได้เอง

ส่วนหัวหน้างานก็ควรใส่ใจความเป็นอยู่และเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในองค์กรด้วย เพราะบางครั้งโฟกัสที่เรื่องหลักๆ มองข้ามเรื่องเล็กน้อย เช่น ปัญหาลูกน้องขัดแย้งกัน ซึ่งคน Gen-X มักมองว่าเดี๋ยวก็ผ่านไปคงไม่มีอะไรมาก แต่จะรู้ว่าคิดผิดเมื่อลูกน้องมาขอลาออกอันเนื่องจากปัญหาภายในและความไม่ใส่ใจด้วยวัยที่แตกต่างกัน  เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก

Generation Y หรือ “Gen-Y” เกิดพ.ศ. 2523 -2540 เกิดและเติบโตในยุคโลกาภิวัฒน์หรือช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ทำให้มีแนวคิดและพฤติกรรมแตกต่างไปจาก Gen ก่อนหน้า คนกลุ่มนี้มีความ “ซับซ้อน” มากที่สุด ชอบด้านนวัตกรรม พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ มีความเป็นวัตถุนิยมสูง ต้องการการยอดรับ และตอบสนองที่รวดเร็ว ต้องการลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้ ทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ชอบทางลัด สะดวก รวดเร็ว ต้องการความอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าลอง กล้าตัดสินใจ ต้องการให้ประเมินผลการทำงานจากผลงานที่ได้ มากกว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ใช้ ซึ่งแตกต่างกับพนักงานรุ่นก่อนที่คิดว่า การทำงานหนักในที่ทำงานจะทำให้มีความก้าวหน้าได้เลื่อนตำแหน่ง

จุดที่คน Gen-B และ Gen-X มองคน Gen-Y คือมีความจงรักภักดีต่อองค์กรต่ำ เชื่อแต่ตัวเอง แสวงหาความสุขให้ตัวเอง ไม่สนโลก ความอดทนน้อย ไม่ชอบการรอคอย และบางครั้งก็ยังมองว่าขาดความรับผิดชอบ และชอบแหกกฎ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการ ‘ขวางหู ขวางตา’ ระว่างคนทำตามระเบียบ กับคน Gen-Y ที่ชอบแหกกฎ การปรับตัวให้เหมาะสมตามระเบียบของแต่ละองค์กรจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

คน Gen-Y ต้องไม่สร้างเงื่อนไขมากเกินไป หรือใช้ข้ออ้างว่าต้องการลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้ตนได้รับการปฏิบัติเหนือกว่าเพื่อนร่วมงาน เพราะจริงอยู่ว่าทุกวันนี้ทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ดีแน่หากเราไม่เข้าออฟฟิศเลย แม้จะส่งงานทุกวันก็เถอะ ทั้งอาจสร้างควาลำบากใจให้หัวหน้างานอีกด้วย ดังนั้น ควรปรับวิธีคิด หรือต่อรองอย่างยืดหยุ่น อย่ามองแต่ผลประโยชน์หรือความต้องการส่วนตัว และที่สำคัญความเชื่อมั่นในฝีมือและผลงานเป็นเรื่องดี แต่ก็อย่าให้ถึงกับเป็นความอหังการจนเกินงาม รู้จักถ่อมตัวและยอมรับคนอื่นบ้าง

ส่วน คน Gen-B และ Gen-X ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ลงรอยกับ คน Gen-Y มากที่สุดในด้านวิธีคิด เพราะคนเจนนี้มองความสำเร็จไม่สนวิธีการ มองผลลัพธ์ไม่สนขั้นตอน แต่ คน Gen-B และ Gen-X อยากรู้ขั้นตอน เห็นชัดว่าช่องว่างระหว่างวัยส่งผลต่อวิธีคิดของการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน แต่อย่างที่กล่าวในข้างต้น บางครั้ง คน Gen-B และ Gen-X อาจต้องรับฟังความเห็นของผู้อื่นและเชื่อมั่นอย่างจริงจังบ้าง จึงจะเปิดโอกาสให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเขาต้องการโอกาสในการแสดงฝีมือ แต่ขณะเดียวกันก็อย่าละเลยมากเกินไป หากเกิดปัญหาหรือผิดพลาดต้องระงับหรือหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที บนพื้นฐานของการยืดหยุ่นและประนีประนอม แต่อย่าให้ดูอ่อนแอเกินไป เพราะ คน Gen-Y มีพฤติกรรมชอบต่อต้านเช่นกัน

Generation Z หรือ “Gen-Z” เกิดหลังปี พ.ศ. 2540 เติบโตมากับสังคมดิจิตอล และ social media เพียบพร้อม เทคโนโลยีทันสมัยและแพร่หลาย รวมถึงองค์ความรู้เพียงกระดิกนิ้ว ทำให้มีตัวเลือกมากมาย และเป็นคนกลุ่มที่เรียกว่ายัง “สับสน” และชอบตั้งคำถาม รักตัวเอง ต้องการความห่วงใย เชื่อง่าย เปลี่ยนเร็ว ปัจเจกบุคคล ยึดติดกับเทคโนโลยีและความรวดเร็ว ใจร้อน ไม่เคยชินกับการรอคอย มองความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ และยังเป็นคนที่อ่อนต่อโลกในแง่ของการทำงาน แต่ก็เป็นกลุ่มที่หลายๆ องค์กรพยายามส่งเสริมให้เป็นกำลังสำคัญในอนาคต และคาดหวังกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด

ที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ จึงมักมีการปรับตัวเพื่อรองรับ Gen-Z อาทิ การให้พื้นที่และโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในองค์กร สร้างระบบงานที่ยืดหยุ่น ใช้ระบบความสำเร็จที่พิจารณาจากผลงาน ไม่ใช่ลำดับความอาวุโส และมีการสื่อสารในองค์กรโดยใช้ช่องทาง Social Network มากขึ้น

ปกติ คน Gen-Z มักเชื่อมั่น คน Gen-Y เพราะด้วยวัยที่ยังพอจะคุยกันรู้เรื่อง (บ้าง) มากกว่า คน Gen-B และ Gen-X ที่ถูกมองว่าอยู่คนละโลก และอย่างที่บอกว่า คน Gen-Z มีความขัดแย้งในทุกอย่างสูง มีคำถามที่ต้องการคำตอบมากมาย เพราะส่วนหนึ่งคือการต้องการความเอาใจใส่ ปกป้อง ให้ความสำคัญ เพราะยังเป็นต้นอ่อนของวัยทำงานที่คนทุก Gen ต้องคอยประคับประคองไม่ให้เผชิญปัญหาและความกดดันที่มากเกินไป เพราะเขาจะจากองค์กรไปอย่างรวดเร็ว จนคนกลุ่มนี้ถูกมองว่า เป็น “มนุษย์หลายงาน” ดังนั้น หากเห็นแววว่าปั้นได้ก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเขาเป็นอย่างไร ให้ทำงาน ให้แสดงออก และให้เกิดความสุขในการทำงาน เพราะคน Gen นี้ คืออนาคตของทุกองค์กร

สรุปท้ายสุด เรื่องช่องว่างระหว่างวัยในสถานที่ทำงาน คือการใช้หลักความเข้าใจ ใส่ใจ และหลักคุณธรรมพื้นฐานที่คนต่อคนพึงปฏิบัติแก่กัน อย่ามองข้ามศักยภาพ อย่าขัดแย้งโดยไม่จำเป็น และบางครั้งต้องใช้มากกว่าเหตุผลในการอยู่ร่วมกัน

สอนลูกเล่นกีฬาสร้างทัศนะที่ดีในการเข้าสังคม

6 ตัวช่วยเริ่มต้นวัยเกษียณอย่างมีความสุข

 

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333