สศก. เปิดอบรมโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ปีที่ 2 ติวเข้ม ศกอ. ด้วยหลักสูตร 9 ฐานความรู้ สร้างโค้ชทางการเกษตรสู่เกษตรกรและผู้สนใจ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) เป็นอาสาสมัครที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สศก. ซึ่งที่ผ่านมา สศก. ได้ผลักดัน สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของ ศกอ. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการให้บริการข้อมูลข่าวสาร ขยายผลองค์ความรู้ เปรียบเสมือนโค้ชทางการเกษตรไปยังเกษตรกรรายอื่นๆ และผู้สนใจ ตลอดจนร่วมดำเนินการจัดเก็บข้อมูลด้านการผลิต การตลาด และสถานการณ์ด้านการเกษตรในพื้นที่ โดยร่วมขับเคลื่อนผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ ที่จัดตั้งโดยภาครัฐ หรือกลุ่มองค์กรประชาชน ดังนั้น ศกอ. จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจการเกษตรต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งแนวคิด ทฤษฎีในด้านการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ ตลอดจนเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะการใช้สารสนเทศการเกษตรเพื่อการตัดสินใจ ตอบสนองความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับปี 2564 สศก. ได้จัดโครงการฝึกอบรมโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร : กิจกรรมอบรมและสาธิตการเกษตรไทยด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตที่สำคัญ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้าบริการ (เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า โรงแรม การค้าส่ง การค้าปลีก และการขนส่ง) ทำให้การจ้างงานที่มีแนวโน้มเลิกประกอบกิจการ เลิกจ้างแรงงาน หรือลดจำนวนแรงงาน รวมถึงแรงงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ จนเกิดปรากฏการณ์แรงงานคืนถิ่นกลับสู่บ้านเกิดและมีผู้ว่างงาน ซึ่ง สศก. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การทำการเกษตรเพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมสำหรับเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร

โดยการจัดอบรมในปีนี้ สศก. ยังคงเน้นจัดฝึกอบรมให้แก่ ศกอ. และผู้สนใจ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของ สศก. เพื่อให้มีองค์ความรู้ในด้านต่างๆ สามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บและรายงานข้อมูล การเข้าถึง Application “กระดานเศรษฐี เกษตรกร มีโอกาส” Application Farm D และ Application ราคาฟาร์ม ที่ช่วยคำนวณต้นทุนการผลิต ทราบแหล่งตลาดและราคา เพื่อการตัดสินใจในการลงทุนทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ จะมีการจัดอบรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ทั่วประเทศ จำนวน 36 รุ่น รุ่นละ 30 คน รวมประมาณ 1,080 คน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ถึงกันยายน 2564

นายพลเชษฐ์ ตราโช

ด้าน นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในการอบรมและสาธิตการเกษตรไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎ์ธานี ได้เปิดอบรมแห่งแรกแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ศพก. อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ สศก. จะทยอยจัดการอบรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ทั่วประเทศ โดยจะมุ่งเน้นหลักสูตรที่ได้จากการถอดบทเรียนของศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วย 9 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ 1. ฐานปรับพื้นฐานความรู้ด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 2. ที่อยู่อาศัยและการจัดภูมิทัศน์รอบบ้านด้านการเกษตรให้น่าอยู่ 3. ฐานการปลูกพืชสวนครัว/พืชไร่ 4. ฐานประมงและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 5. ฐานปศุสัตว์ (สัตว์ปีก สัตว์ใหญ่ แปลงหญ้า) 6. ฐานการปลูกไม้ผล 7. ฐานการปลูกป่า และไม้เศรษฐกิจ 8. ฐานทำนา และ 9. ฐานสรุปบทเรียน (ถอดองค์ความรู้) นอกจากนี้ ยังให้ผู้เข้าอบรมได้มีการจัดทำแผนธุรกิจและใช้ประโยชน์จาก Big Data ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ต่างๆ จะช่วยพัฒนาศักยภาพของ ศกอ. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นหลักในการตัดสินใจลงทุนทำการเกษตร ถ่ายทอด และเผยแพร่เป็นความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายแรงงานคืนถิ่น ผู้ว่างงาน และผู้สนใจอื่นๆ ที่ต้องการประกอบอาชีพด้านการเกษตร สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตร ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer ร่วมกันต่อไป