กสอ. พาผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปั้น SMEs สู่ B2C

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของโรคระบาดโควิด-19 สร้างผลกระทบแก่ทุกคนบนโลก ทำให้เกิดการปรับตัว ที่เรียกว่า New Normal การใช้ชีวิตในรูปแบบปกติวิถีใหม่ ไม่เพียงเแค่นั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจทั่วประเทศด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหากปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ไว บาดแผลที่ได้รับจากโรคระบาดโควิด-19 ก็จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน

คุณภาสกร ชัยรัตน์

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) นำโดย คุณภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ “ปั้น SMEs สู่ B2C ฝ่าวิกฤตโควิด-19” หรือ “SMEs Grow Up” พร้อมเปิดเผยสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผู้ประกอบการ 1,494 ราย โดยมี คุณพัณณิดา เคียงศิริ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอซีเค ฟู้ดเทค จำกัด เข้าร่วมแชร์ประสบการณ์ที่ได้รับจากผลกระทบ ณ บริษัท เอซีเค ฟู้ดเทค จำกัด อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

คุณพัณณิดา เคียงศิริ

คุณภาสกร เปิดเผยว่า ทางด้าน ดีพร้อม (DIPROM) เร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายของ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายทีมกูรูดีพร้อม ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ สำรวจผลกระทบและความต้องการของผู้ประกอบการจำนวน 1,494 ราย พบว่าผลกระทบที่ผู้ประกอบการพบเจอส่วนใหญ่คือ กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ส่งผลให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ประสบปัญหาด้านการตลาด ปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ขาดเงินทุนหมุนเวียน ประสบปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ประสบปัญหาเกี่ยวระบบโลจิสติกส์ ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

การจัดเตรียมวัตถุดิบใส่กล่อง

“ภาพรวมการปรับตัวของผู้ประกอบการเป็นไปตามแนวทางที่ได้ส่งเสริมในปี 2563 ซึ่งถือได้มีการดำเนินงานเดินมาถูกทาง โดยเพื่อยกระดับมาตรการ ให้สอดรับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ดีพร้อม ได้นำข้อมูลจากผลสำรวจข้างต้น มาประกอบการวางแผนพัฒนามาตรการเร่งด่วน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ด้วย “สติ” (STI) 3 มาตรการ” คุณภาสกร กล่าวเสริม

สติ (STI) 3 มาตรการ ประกอบด้วย

  1. มาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ โครงการการเตรียมความพร้อมและเพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อเพื่อ SMEs ในยุค New Normal โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีทักษะการบริหารการเงินที่ดี หรือ Financial Literacy ทั้งการวางแผนการบริการจัดการหนี้ การจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต การวางแผนด้านภาษี และโครงการส่งเสริมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ เพิ่มโอกาสการได้รับอนุมัติสินเชื่อและลดความเสี่ยงจากหนี้สูญ
  2.  มาตรการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการในการบริหารจัดการ โลจิสติกส์ และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม ทักษะการบริหารจัดการแรงงาน ฝ่าวิกฤตแรงงานต่างด้าว โดยส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยี AI เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในภาคการผลิต
  3. มาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการตลาด โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการตลาดออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ดี พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาด

คุณพัณณิดา กล่าวว่า “บริษัทได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากบริษัทลงทุนนำเข้าเมล็ดพันธุ์ผักสลัดมาจากต่างประเทศ ปลูกในโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิและควบคุมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตเพื่อให้ได้ผักสลัดที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เรายอมที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของบุคลากรทั้งองค์กร ทั้งๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการของห้างสรรพสินค้า ธุรกิจร้านอาหาร และโรงแรม ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 20-30 ในช่วงปีที่ผ่านมา”

การซีลบรรจุ

คุณพัณณิดา อีกว่า “บริษัทตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ปั้น SMEs สู่ B2C ฝ่าวิกฤตโควิด-19 หรือ SMEs Grow Up โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งได้เรียนรู้ทำการตลาดออนไลน์ เพื่อระบายสินค้า เนื่องจากข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถเก็บได้นาน และการพัฒนาเว็บไซต์ของบริษัท จึงเป็นโอกาสให้สามารถเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 30 โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ จะทำให้มียอดขายประมาณ 300 ล้านบาท ต่อปี เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากยอดขายปกติ”

กระบวนการผลิตของ บริษัท เอซีเค ฟู้ดเทค จำกัด

การล้างผัก
  1. วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงานจะเป็นจากฟาร์มของบริษัท ได้แก่ ฟาร์มอ่อนนุช กรุงเทพฯ และฟาร์มปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จะถูกขนส่งมาโดยรถห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิขณะขนส่ง เพื่อรักษาความสดของวัตถุดิบ นอกจากนี้ จะมาจากฟาร์มเกษตรกรที่ทางบริษัทได้ส่งเสริมให้ปลูก โดยจะต้องผ่านการคัดเลือกและได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช หรือที่เรียกว่า GAP วัตถุดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปจะมีการตรวจสอบในเรื่องของชนิดและจำนวนของวัตถุดิบโดยพนักงานแผนกคลังสินค้า ระหว่างนั้นพนักงานแผนกประกันคุณภาพจะทำการสุ่มวัตถุดิบเพื่อตรวจสอบคุณภาพด้านกายภาพ ได้แก่ ขนาด น้ำหนัก และทางประสาทสัมผัสในเรื่องของความสด เมื่อผลการตรวจผ่าน พนักงานประกันคุณภาพทำการปล่อยผ่านวัตถุดิบนั้นให้กับพนักงานคลังสินค้าทำการชั่งน้ำหนักรับเข้าด้วยระบบบาร์โค้ด พนักงานจะสแกนรหัส QR Code ที่ส่งมาจากฟาร์มเพื่อเพิ่มน้ำหนักในแต่ละตะกร้า และระบุโลเคชั่นห้องเย็นในการจัดเก็บในระบบโปรแกรมคลังสินค้า เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และจ่ายเข้ากระบวนการ
  2.  นอกเหนือจากการส่งตรวจทางกายภาพแล้ว จะมีการส่งตรวจทางเคมีด้านสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงเพื่อเป็นการทวนสอบและยืนยันคุณภาพของวัตถุดิบที่รับเข้าว่ามีความสดและปลอดภัยจากสารพิษ วัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการตรวจรับเรียบร้อยแล้ว พนักงานคลังสินค้าจะนำวัตถุดิบเก็บเข้าห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิเพื่อรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของวัตถุดิบ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป
  3. บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ใช้ เช่น ถุงบรรจุ Salad Mix หรือถุงบรรจุผักสด และกล่องบรรจุสลัดพร้อมรับประทาน รวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ที่ต้องใช้ในสายการผลิตจะต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพก่อนนำไปใช้งาน ในส่วนของภาชนะตะกร้าที่ใช้บรรจุวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจะต้องทำการล้างก่อนนำไปใช้ในสายการผลิต โดยพนักงานจะใช้เครื่องล้างตะกร้าระบบ High Pressure ฉีดล้างให้ทั่วทั้งใบ เพื่อชำระล้างสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับตะกร้า
  4.  พนักงานทุกคนที่ต้องเข้าไปทำงานในสายการผลิตต้องแต่งกายตามกฎระเบียบบริษัทให้ถูกต้องตามหลัก GMP แต่งกายให้ถูกต้องโดยสวมเน็ตและหมวกคลุมผมให้มิดชิด ใส่ผ้าปิดปาก สเปรย์แอลกอฮอล์ และสวมเสื้อกันหนาว เสื้อคลุม รองเท้าบู๊ต โดยมีพนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบความพร้อมอีกครั้งก่อนเข้าสายการผลิต และใช้ลูกกลิ้งแผ่นกาวดัก ฝุ่น ผม หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีโอกาสติดมากับเสื้อผ้า หลังจากนั้น จึงทำการจุ่มเท้าลงในน้ำผสมคลอรีนหน้าทางเข้าสายการผลิต และล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง สวมถุงมือ และฉีดแอลกอฮอล์
  5. ในส่วนของสินค้าที่ผ่านกระบวนการตัดแต่ง แปรรูป ล้าง และบรรจุ จะแบ่งเป็นสินค้ากลุ่มพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน ซึ่งสลัดแต่ละสูตรจะมีส่วนผสมของผักที่ผ่านการตัดแต่ง ให้มีขนาดพร้อมรับประทาน และผักสดอื่นๆ เช่น แครอต กะหล่ำม่วง จะนำเข้าเครื่องสไลซ์ให้ได้ขนาดที่ต้องการ แล้วนำเข้าเครื่องล้างระบบน้ำวนโดยใช้น้ำเย็นควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงเวลาในการล้าง ซึ่งน้ำที่ใช้เป็นน้ำที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ หลังจากล้างเรียบร้อยแล้วจะนำไปปั่นแห้ง แล้วใส่ภาชนะส่งผ่านไปยังห้องเตรียมบรรจุต่อไป
  6.  ห้องบรรจุผลิตภัณฑ์เน้นในด้านการควบคุมความสะอาด มีการฆ่าเชื้อระบบปรับอากาศภายในห้องบรรจุด้วยระบบโอโซน พร้อมทั้งมีการควบคุมอุณหภูมิซึ่งวัตถุดิบที่ผ่านการล้างทั้งหมด ต้องถูกนำมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ตามชนิดและสูตรที่กำหนด โดยส่วนผสมทั้งหมดจะบรรจุลงในถุงแล้วเติมอากาศ ก่อนซีลปิดปากถุงเพื่อรักษาคุณภาพ
  7.  ในระหว่างกระบวนการผลิตพนักงานควบคุมคุณภาพ และทำการตรวจสอบคุณภาพในด้านกายภาพ ขนาด น้ำหนัก บรรจุตามความถี่ที่กำหนดและเฝ้าระวังอันตรายที่จุดควบคุมวิกฤตหรือที่เรียกว่า จุด CCP สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจะถูกนำเข้าเครื่องตรวจจับโลหะ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ผ่านกระบวนการบรรจุปราศจากสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน
  8. หลังจากนั้น พนักงานประกันคุณภาพจะทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อีกครั้ง โดยตรวจสอบความถูกต้องของสินค้าและลักษณะทางกายภาพ ก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะถูกส่งมอบให้แผนกคลังสินค้า นอกจากการตรวจสอบด้านกายภาพแล้วยังมีการตรวจสอบด้านเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์สุดท้าย โดยอ้างอิงมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  9. ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่บรรจุและผ่านการตรวจสอบแล้วจะถูกส่งมอบให้แผนกคลังสินค้าเพื่อทำการป้ายบ่งชี้หน้าตะกร้าใส่ผลิตภัณฑ์ แล้วนำไปเก็บเข้าห้องเย็นเก็บสินค้าสำเร็จรูปที่ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรอส่งมอบให้แผนกจัดส่งต่อไป
  10. ขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดส่งก็ยังคงถูกควบคุมอุณหภูมิขณะขนส่งอีกด้วยเพื่อรักษาความสดตลอดทั้งกระบวนการโดยพนักงานจัดส่งจะทำการตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งาน และสตาร์ตเครื่องยนต์และระบบทำความเย็นให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสม หลังจากนั้น จะทำการตรวจเช็กผลิตภัณฑ์กับเอกสารการส่งสินค้าและนำตะกร้าบรรจุผลิตภัณฑ์ขึ้นรถห้องเย็น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจะได้รับความเย็นที่เหมาะสมจนถึงมือผู้บริโภค

บริษัท เอซีเค ฟู้ดเทค จำกัด มุ่งมั่นและพัฒนาได้ตรารับรองมาตรฐานคุณภาพในการจัดการผักและผลไม้ Thai GAP จากสภาหอการค้าไทย ระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด ผลไม้สด จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP ทางด้านสุขลักษณะที่ดีในกระบวนการผลิตอาหารของโรงงาน GMP โรงคัดบรรจุ กรมวิชาการเกษตร และระบบ HACCP การรับรองระบบการวิเคราะห์อันตราย และจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า SuperFresh มีความสดสะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ภายในโรงงาน
เน้นความสะอาด

สอบถามข้อมูลการส่งเสริมผู้ประกอบการ กสอ. ดีพร้อม ได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ (02) 202-4414-18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th สำหรับผู้สนใจสอบถามข้อมูลผลิตภัณฑ์ Super Fresh ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ackfoodtech.com โทรศัพท์ (02) 333-1125