กสก.เดินหน้าสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น เปิดอบรมเข้มข้น 8 หลักสูตร

กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างช่างเกษตรประจำท้องถิ่น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เน้นหนักให้ช่างเกษตรท้องถิ่น 400 ราย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการทำงานของเครื่องยนต์ที่ถูกต้อง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตในภาคการเกษตรของประเทศไทย เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรจากแบบดั้งเดิมมาเป็นการทำการเกษตรแบบยุคใหม่ โดยนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาทดแทนแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา สามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และเพิ่มรายได้สุทธิให้กับเกษตรกรมากขึ้น โดยมีแนวโน้มว่า จะมีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้กันมากขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเห็นถึงความสำคัญ ในการที่จะพัฒนาบุคลากรในระดับท้องถิ่น โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาความรู้ ทักษะ และเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร ที่เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังของเครื่องจักรกลการเกษตรในท้องถิ่น เพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างเพียงพอ เพื่อให้บุคลากรในระดับท้องถิ่นมีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะทางเทคนิคอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการช่างเกษตรท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสร้าง “ช่างเกษตรท้องถิ่น” ให้มีทักษะในการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 1 มีทักษะในการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรได้อย่างถูกต้อง มี ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 2 จะคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 1 เพื่อพัฒนาทักษะช่างในการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรเพิ่มเติม ให้สามารถบริการตรวจเช็ก ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเบื้องต้นให้แก่เกษตรกรข้างเคียงในท้องถิ่นได้ และช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 3 จะคัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะช่างและเทคนิคการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร ให้สามารถบริการตรวจเช็กซ่อมแซมใหญ่ เครื่องยนต์เกษตร (Overhaul) ให้แก่เกษตรกรข้างเคียงในท้องถิ่นได้

สำหรับใน ปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรในระดับท้องถิ่นด้วยหลักสูตร ช่างเกษตรท้องถิ่นหลักสูตรเน้นหนัก ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 400 ราย โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการทำงานของเครื่องยนต์ที่ถูกต้อง ได้รับฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้มีความสามารถ มีทักษะ ความเป็นช่างในสายงานช่างยนต์ ตลอดจนได้รับการพัฒนาในด้านเทคนิคการซ่อมแซม การวิเคราะห์ปัญหา และการแก้ไขปัญหา เมื่อเครื่องยนต์นั้นมีอาการผิดปกติ โดยทีมวิทยากรผู้มีความรู้จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดร้อยเอ็ด และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดลพบุรี เป็นผู้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ ฝึกความสามารถ ฝึกทักษะ เทคนิคต่างๆ และในระหว่าง โดยการฝึกอบรมนั้น ผู้จัดการฝึกอบรมจะเชิญวิทยากรจากบริษัทผู้ผลิตมาให้ความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเครื่องยนต์เกษตรสมัยใหม่ รวมถึงมาให้ความรู้ในด้านเทคนิคการตรวจเช็ก เทคนิคซ่อมแซม ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของแต่ละบริษัท นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นอย่างมาก ในส่วนเนื้อหาของหลักสูตร ที่ใช้การฝึกอบรมจะประกอบไปด้วย

  1. หลักการทำงานของเครื่องยนต์ เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้และความเข้าใจ ไปพร้อมๆ กัน
  2. การถอด-ประกอบเครื่องยนต์ ฝึกปฏิบัติการถอด-ประกอบ เครื่องยนต์ ตามลำดับขั้นตอนที่ได้เรียนในภาคทฤษฎี โดยมีวิทยากรคอยให้คำแนะนำในเรื่องของขั้นตอนการถอด-ประกอบ การใช้เครื่องมือที่ถูกต้องและปลอดภัย
  3. การตรวจสอบ ซ่อมแซม ชิ้นส่วนของระบบกำลังอัด
  4. การตรวจสอบ ซ่อมแซม ชิ้นส่วนของระบบน้ำมันเชื้อเพลิง
  5. การตรวจสอบ ซ่อมแซม ชิ้นส่วนของระบบหล่อลื่น
  6. การตรวจสอบ ซ่อมแซม ชิ้นส่วนของระบบระบายความร้อน
  7. เทคโนโลยีเครื่องยนต์เกษตรสมัยใหม่ เทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร จากบริษัทผู้ผลิต
  8. การวิเคราะห์ ตรวจสอบ และการแก้ไขปัญหาอาการผิดปกติของเครื่องยนต์

“ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตรสามารถสร้างช่างเกษตรท้องถิ่นกว่าหมื่นราย มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร เพื่อนำความรู้ไปปฏิบัติซ่อมแซม บำรุงเครื่องยนต์เกษตรของตนเองและของเกษตรกรในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นอีกด้วย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว