รู้ก่อนไม่ต้องพึ่งยา เมนูสำหรับคุณแม่ที่มีเบาหวานขณะตั้งครรภ์

แพทย์หญิงชญานิศ  ชินานุวัติวงศ์  อาจารย์แพทย์สาขาวิชาสูตินรีเวชกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมที่พบบ่อยที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 22.98  เนื่องจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ต่อต้านการทำงานของอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

โดยภาวะนี้เพิ่มความเสี่ยงของคุณแม่ในการเกิดความดันโลหิตสูง  ครรภ์เป็นพิษ  การผ่าตัดคลอด  และการเป็นเบาหวานหลังการตั้งครรภ์  นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์คือ ทำให้ทารกตัวใหญ่  เพิ่มความเสี่ยงภาวะคลอดไหล่ยาก  ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด  ภาวะหายใจลำบาก ภาวะตายคลอด เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ควรให้ความสำคัญ และควรได้รับการดูแลรักษาเพื่อลดโอกาสเกิดผลกระทบต่างๆ ดังกล่าว

การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์หลักๆ แบ่งออกเป็น การควบคุมอาหาร (Diet modification) และการรักษาโดยการใช้ยา  โดยส่วนใหญ่หมอจะให้คุณแม่ทุกคนเริ่มจากการควบคุมอาหารก่อน  หากควบคุมอาหารให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ไม่ได้จึงรักษาด้วยยา  ซึ่งหมอเชื่อว่าคุณแม่หลายๆ ท่านคงไม่ต้องการฉีดยาอินซูลินทุกวัน  ดังนั้นจึงมีวิธีการควบคุมอาหารที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ดังนี้

  1. การคำนวณพลังงานจากอาหารที่ควรได้รับต่อวันขึ้นกับดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์ ดังตาราง
ดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์  (kg/m2) พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน  (kcal/kg/day)
ต่ำกว่าเกณฑ์    (BMI < 18.5) 40
เกณฑ์ปกติ      (BMI 18.5 – 24.9) 30
มากกว่าเกณฑ์  (BMI 25.0 – 29.9) 22 – 25
ภาวะอ้วน       (BMI ≥ 30.0) 12 – 14

 

  1. รับประทานอาหารที่ให้พลังงานโดยแบ่งสัดส่วนเป็น คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน : ไขมัน = 33-40% : 20% : 40%
  2. แนะนำอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex carbohydrate) มากกวาเชิงเดี่ยว (Simple carbohydrate) เนื่องจากย่อยสลายช้า ทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังรับประทานอาหารได้น้อยกว่า และช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ แครอท ข้าวโพด รำข้าวโอ๊ต ถั่วลันเตา มันเทศ ผลไม้หวานน้อย เช่น ส้ม เชอร์รี่ แอปเปิ้ล เป็นต้น
  3. มื้ออาหารในแต่ละวันควรแบ่งเป็นมื้อหลัก 3 มื้อ (small to moderate-sized meals) สลับกับมื้ออาหารว่าง 2-3 มื้อ

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายจึงมีการแบ่งอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานออกเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 อาหารที่ห้ามกิน ได้แก่ น้ำตาล และขนมหวาน เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง อาหารเชื่อม คุกกี้ ช็อกโกแลต ไอศกรีม ฯลฯ ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด น้อยหน่า อ้อย ผลไม้แช่อิ่ม หรือผลไม้เชื่อมน้ำตาลทั้งหลาย เครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำแดง โกโก้ โอ้เลี้ยง น้ำผลไม้ ซึ่งมีน้ำตาลประมาณ 8-15% เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น น้ำมะเขือเทศ และน้ำผักสามารถดื่มได้

ประเภทที่ 2 อาหารที่กินได้ไม่จำกัดจำนวน ได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด เช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ฯลฯ นำมาทำอาหารชนิดต่างๆ เช่น ต้มจืด ยำ สลัด ผัดผัก อาหารเหล่านี้มีพลังงานต่ำ และมีกากใยอาหารที่เรียกว่า ไฟเบอร์ ซึ่งทำให้ดูดซึมน้ำตาลช้าลง

ประเภทที่ 3 อาหารที่กินได้แต่ต้องเลือกชนิดหรือจำนวน คุณแม่ควรเลือกกินอาหารให้ครบทุกกลุ่ม เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นจึงควรมาทำความรู้จักอาหารแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีการแบ่งอาหารออกเป็นหมวดหมู่ ในแต่ละหมวดมีอาหารหลากหลายที่ให้พลังงานและสารอาหารใกล้เคียงกัน เพื่อใช้คำนวณและจัดสัดส่วนอาหารให้เหมาะสม ปริมาณอาหารในแต่ละหมวดใช้หน่วยเป็น “ส่วน” หรือ “Exchange”

 

หมวดนม ปริมาณ-น้ำหนัก/ส่วน โปรตีน

(กรัม)

ไขมัน

(กรัม)

คาร์โบไฮเดรต (กรัม) พลังงาน

(กิโลแคลอรี่)

นมสดรสจืด 240 มล. 8 8 12 150
นมพร่องมันเนย 240 มล. 8 5 12 120
นมขาดมันเนย 240 มล. 8 0 – 3 12 90

 

หมวดผัก ประเภท ก. เป็นผักที่ให้พลังงานต่ำมาก ถ้ารับประทานไม่ถึงมื้อละ 1-2 ส่วน ไม่ต้องนำมาคิดเป็นพลังงาน มักจะใช้เป็นสมุนไพรแต่งกลิ่น หรือ รสอาหาร เช่น  กระเพรา ขิง ข่า ตะไตร้ หัวหอม กระเทียม  พริก  ผักชี ประเภท ข. เป็นผักที่รับประทานได้ในปริมาณที่ให้พลังงาน เช่น คะน้า แครอท ผักบุ้ง ฝักทอง กระหล่ำปลี เห็ดมะเขือเทศ  มะระ  ถั่วลันเตา  มะเขือ

หมวดผลไม้ รับประทานต่อมื้อ เช่น แตงโม 10 ชิ้น หรือ, องุ่น 10 ผล , ชมพู่ 3 ผล , มะละกอสุก 4 ชิ้น , สัปปะรด 8 ชิ้น

หมวดข้าว/แป้ง ปริมาณที่เหมาะสมคือ ข้าว 1 ทัพพี หรือ, ขนมปังจืด 1 แผ่น , บะหมี่ 1 ก้อน , ขนมจีน 1 จับ , ข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ , มักกะโรนี 1 ทัพพี , เส้นสปาเกตตี้ 1 ทัพพี เป็นต้น

หมวดเนื้อสัตว์ ปริมาณที่เหมาะสมคือ ปลาทู 1 ตัว หรือ , เนื้อปลา 2 ช้อนโต๊ะ , ปลาหมึก 2 ช้อนโต๊ะ , กุ้งสุก 4 ตัว , เนื้ออกไก่ 2 ช้อนโต๊ะ , เนื้อหมูไม่มีมัน 2 ช้อนโต๊ะ , ซี่โคงหมู 4 ชิ้น , ไข่ไก่ 1 ฟอง เป็นต้น

หมวดไขมัน  ประเภทที่ 1 กลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA: Monounsaturated fat) เช่น น้ำมันมะกอก  น้ำมันรำข้าว  น้ำมันถั่วลิสง  ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์  ประเภทที่ 2 กลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA: Polyunsaturated fat)  เช่น  น้ำมันข้าวโพด  น้ำมันดอกคำฝอย  น้ำมันดอกทานตะวัน   เม็ดฟักทอง  เม็ดทานตะวัน  ประเภทที่ 3 กลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว (SAT: saturated fatty acid)  เช่น  เนยสด  เนยขาว  เบคอน

18-22 สิงหาคมนี้ ติดตาม Healthcare 2021 “วัคซีนประเทศ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี
อ่านสกู้ปเต็มๆที่นี่:
https://www.matichon.co.th/advertorial/news_2880411
#Healthcare2021 #วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน